‘บิ๊กป้อม’ สั่งหน่วยเกี่ยวข้องเอ็มโอยู จีน-สปป.ลาว บริหารจัดการแม่น้ำโขง แก้ภัยแล้ง

เมื่อวันที่ 21 เมษายน ที่ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ครั้งที่ 1/2564 ว่า ปัจจุบันแม่น้ำโขงมีสภาวะผันผวนจากหลายปัจจัย ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมฝั่งโขง ทั้งนี้ จากการคาดการณ์โดยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) พบว่า ปริมาณน้ำช่วงเดือน เม.ย. – พ.ค. 64 เป็นช่วงรอยต่อระหว่างฤดูแล้งกับฤดูฝน อาจเกิดการผันผวนของปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงอีกครั้ง เนื่องจากปริมาณฝนในปีนี้จะมีมากและมาเร็วในช่วงต้นฤดูฝน ที่ประชุมจึงได้มีมติเห็นชอบให้ สทนช. และกระทรวงการต่างประเทศ ดำเนินการประสานกับสาธารณรัฐประชาชนจีนเพื่อหาข้อสรุปร่วมกันในการบริหารจัดการน้ำจากแม่น้ำล้านช้างสู่แม่น้ำโขง พร้อมเร่งรัดให้มีการจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการระหว่างไทยและ สปป.ลาว ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

“ที่ประชุมวันนี้ ยังได้ติดตามแนวทางการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศแม่น้ำโขงต่อวิถีชีวิตของประชาชนในลุ่มแม่น้ำโขง 7 จังหวัด จากการหารือระหว่างสมาคมเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน (คสข.) กับผู้แทนส่วนราชการ เพื่อพิจารณากำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาตามข้อเรียกร้อง 7 ข้อ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยในวันนี้ก็ได้มอบหมายให้ สทนช. ดำเนินการศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นในลำน้ำโขงอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ร่วมกับภาคประชาชนและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำแผนป้องกันและบรรเทาผลกระทบ เสนอต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ให้ความเห็นชอบ และมีมติให้สำนักงบประมาณพิจารณาสนับสนุนงบประมาณในการทำกิจกรรมดังกล่าวต่อไปด้วย” รองนายกฯ กล่าว

ด้านดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยเพิ่มเติมว่า การประชุมในวันนี้ยังได้มีการพิจารณาสถานะกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าภายใต้ระเบียบปฏิบัติ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง เรื่อง การแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลง (PNPCA) โครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสานะคาม สปป.ลาว รวมถึงการดำเนินการในขั้นตอนต่อไป นอกจากนี้ ในส่วนของแผนพัฒนาเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขง ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบให้มีการศึกษาร่วมกัน (Joint Study) เพื่อกำหนดพื้นที่รับประโยชน์ให้ชัดเจน โดยโครงการที่เสนอจะต้องไม่ซ้อนทับกับพื้นที่รับประโยชน์ของโครงการในประเทศ และมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศช่วยเร่งผลักดันการศึกษาร่วมที่จะเกิดขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image