ชลน่าน ยกโควิดรอบ 3 สะท้อนชัด รัฐส่อทำระบบ สธ.ล้มเหลว อัดผู้นำบริหารตามอารมณ์

“หมดชลน่าน” ชี้ตัวเลขผู้เสียชีวิต-ติดเชื้อ สอดคล้องกับวัคซีนโควิด-19 ที่ล่าช้า เผยผู้บริหารที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจ-บริหารตามอารมณ์ ทำลายระบบ สธ.ไทย

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 และผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อเป็นประวัติการณ์ว่า ถ้าเปรียบเทียบกับการระบาดแรก ระลอกสอง ตอนนี้ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก เดือนเดียวตัวเลขเพิ่มเกือบเป็น 3-4 เท่าตัว หมายความว่าระลอกแรกผู้ป่วยสะสมมีแค่ประมาณ 3,000 คน ตาย 50-60 คน ต่อมาในระลอกที่ 2 เพิ่มขึ้นมาเป็นหลักหมื่น แต่ในตอนนี้เพิ่มถึง 60,000 คน ดังนั้น ถือว่า เพิ่มขึ้น 3-4 เท่าตัวจากระลอกแรกและระลอกสอง และอัตราแพร่เชื้อต่อวัน ถือว่าอยู่ในหลักพัน ถือว่าสูง แต่ต้องเปรียบเทียบในเชิงของสถิติ โดยทั้งโลกจะวัดจากอัตราการกระจายเชื้อ ซึ่งการแพร่เชื้อของไทยเราช่วงนี้ถือว่าสูงสุด ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.27 วัดจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ความหมายจากตัวเลขนี้คือ คนหนึ่งคนมีเชื้ออยู่ในตัว และสามารถแพร่เชื้อให้คนอื่นได้ 2-3 คน และถ้า 1 เดือนไม่ทำอะไรเลยการแพร่เชื้อจะขึ้นเป็นหลักแสน หากเปรียบเทียบกับสถานการณ์ขณะนี้ถือว่า อัตราการแพร่เชื้อ อันตรายเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ วันหนึ่งเป็นเลขถึงสองหลักถือว่าเป็นประวัติการณ์

เมื่อถามว่า อัตราการแพร่ระบาดและอัตราผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องหรือเกี่ยวกับความล่าช้าในเรื่องของวัคซีนป้องกันโควิด-19 หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เรื่องนี้มีผลทางตรง อัตราติดเชื้อ การป่วย การเสียชีวิต มีผลสัมพันธ์โดยตรงกับการได้รับวัคซีน เพราะคุณสมบัติของวัคซีน คือสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ เช่น ถ้ามีภูมิคุ้มกันอยู่แล้ว เมื่อเจอเชื้อและภูมิต้านทานดีก็สามารถที่จะกำจัดเชื้อที่เข้ามาได้ ต่อมาถ้าติดเชื้อ ก็ไม่ป่วยหรือมีอาการที่น้อยมาก สุดท้ายถ้ามีอาการป่วยก็มีอัตราการเสียชีวิตที่ต่ำ จนไปถึงอาจไม่มีอัตราการเสียชีวิตเลยก็ได้ เพราะฉะนั้น การที่วัคซีนล่าช้า มีผลโดยตรงต่อตัวเลขดังกล่าว สามารถสรุปได้ว่า แม้จะมีภูมิคุ้มกันแต่ในสภาพแวดล้อมนั้นๆ ก็ยังสามารถติดเชื้อได้ แต่หากได้รับวัคซีนจะลดอัตราการป่วย และอัตราเสียชีวิตได้ ซึ่งสามารถเปรียบเทียบเห็นได้จากประเทศที่ได้รับการฉีดวัคซีน เช่น อิสราเอลที่แทบจะไม่มีอัตราป่วยและอัตราผู้เสียชีวิต

เมื่อถามถึง การบริหารโควิดที่ล้มเหลว เป็นเพราะรัฐบาลใช้ทหาร และมุมมองด้านความมั่นคง เข้ามายุ่งมากเกินไปหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ในสถานการณ์โรคติดต่อฉุกเฉินขณะนี้ ใช้คนที่มีหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับความมั่นคงด้านอื่นที่ไม่ใช่ความมั่นคงด้านสุขภาพ เข้ามาเป็นหน่วยงานหลักหรือแกนหลักในการบริหารจัดการ ผลลัพธ์ที่ออกมาก็เห็นได้จาก 1 ปีที่ผ่านมา แม้ในระยะแรกจะบอกว่าควบคุมโรคได้ แต่การควบคุมโรคนั้น จะต้องแลกด้วยการขี่ช้างจับตั๊กแตน คุณจับตั๊กแตนได้ 1 ตัว แต่คุณใช้ช้าง 10 เชือก หญ้าแพรกดอกมะเขือและผลผลิตต่างๆ ถูกช้างเหยียบตายหมด เปรียบได้กับการที่เราเสียหายด้านเศรษฐกิจไปกว่า 6 แสนล้าน เพราะเอาคนที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมิติทางสุขภาพมาเป็นผู้บริหารหลัก และภาพที่ออกมามันเป็นที่เห็น สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับผู้บริหาร ซึ่งประกอบกับผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ เช่น ตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไม่มีความรู้ ไม่มีความเข้าใจ ไม่มีจิตสำนึก

“เรื่องการตามงานและเรื่องอื่นๆ การบริหารสถานการณ์สภาวะวิกฤตฉุกเฉิน ภาพจึงออกมาล้มเหลวโดยตลอด ซึ่งหน่วยสั่งการที่รวบอำนาจ ยากมากที่คนอื่นจะให้ข้อมูลต่างๆ แม้ทีมแพทย์จะเข้าไปอยู่ในทีม แต่ทีมเหล่านั้น ก็ไม่สามารถที่จะให้หรือป้อนข้อมูลให้คำโต้แย้งต่างๆ การบริหารงาน จึงออกมาในลักษณะ บริหารงานตามอารมณ์ ไม่ได้ใช้ข้อมูลไม่ได้ใช้หลักการในการบริหาร ภาพจึงออกมาเป็นเช่นนี้” นพ.ชลน่านกล่าว

Advertisement

เมื่อถามย้ำว่า ถือว่าสาธารณสุขไทยล้มเหลวด้วย หรือล้มเหลวแต่ตัวผู้บริหาร นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ผู้มีอำนาจบริหาร มีส่วนสำคัญที่กำลังจะทำให้ระบบสาธารณสุขไทยล้มเหลว ซึ่งเป็นผลโดยตรง เพราะระบบสาธารณสุขไทยได้รับการประกาศว่ามีความมั่นคงด้านสุขภาพ เป็นอันดับที่หกของโลก เรื่องแก้ไขภาวะฉุกเฉินต่างๆ ส่วนในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา ไทยก็ขึ้นเป็นอันดับหนึ่ง และเขาวัดจากขีดความสามารถและระบบที่จะรองรับเรื่องสถานการณ์โรคติดต่อร้ายแรงโรคอุบัติใหม่ เป็นต้น แต่เมื่อเจอโควิด-19 ระลอกที่ 3 มันฟ้องตัวด้วยตัวมันเองว่า ระบบสาธารณสุขของไทยถูกบริหารจัดการด้วยผู้ที่มีอำนาจ การสนับสนุน และนโยบายที่ทำลายตัวระบบของเราเอง มาตราวัดที่สำคัญที่สุดของระบบสาธารณสุขไทย ไม่เคยมีประวัติว่า ปล่อยให้ผู้ติดเชื้อเสียชีวิตที่บ้าน ระบบสาธารณสุขไทยมีความสามารถที่จะดูแลคนไข้ในโรงพยาบาลให้มีอัตราเสียชีวิตน้อยที่สุด แต่เมื่อเจอระลอก 3 สิ่งเหล่านั้นกำลังมาบ่อนเซาะทำลายและมาตราวัดเหล่านั้น กำลังจะบอกว่า ถ้าไม่แก้ไขปัญหา ไม่สนับสนุน และมีการบริหารจัดการที่ดี ศักยภาพที่มีอยู่ในขณะนี้จะทำให้ระบบสาธารณสุขไทยล้มเหลวได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image