‘นิพิฏฐ์’ ชี้กรณี ‘ธรรมนัส’ ไม่ได้ถูกร้องเรื่องจริยธรรม คาดอาจผิดพลาดตอนยื่นคำร้อง

“นิพิฏฐ์” ชี้กรณี ‘ธรรมนัส’ ไม่ได้ถูกร้องเรื่องจริยธรรม คาดอาจผิดพลาดตอนยื่นคำร้อง

เมื่อวันที่ 6 พ.ค. นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีต ส.ส.พัทลุงหลายสมัย อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เขียนข้อความแสดงความเห็น กรณีคำวินิจฉัยศาล รธน. ตัดสิน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ไม่ขัดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งต่อมาได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ทั้งในวงการเมืองและแวดวงวิชาการนิติศาสตร์

นายนิพิฏฐ์ระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญ-เรื่องคุณสมบัติของคนที่จะเป็น ส.ส.หรือรัฐมนตรี มิใช่เป็นเรื่องอธิปไตยของรัฐ แต่เป็นเรื่องการวินิจฉัยคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นเรื่องของศาลไทยล้วนๆ ที่จะวางบรรทัดฐาน มิใช่ประเด็นว่า ศาลไทยต้องยอมรับคำพิพากษาของศาลต่างประเทศหรือไม่ ถ้าจะถกเถียงกัน ก็ให้ถกเถียงกันในมุมนี้ และอย่าลืมว่าความผิดบางเรื่อง เป็นความผิดทั้ง กม.ไทยและ กม.ต่างประเทศ เช่น พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 5 บัญญัติว่า”ผู้ใดกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดแม้กระทำนอกราชอาณาจักรผู้นั้นจะต้องรับโทษในราชอาณาจักร..” และกรณีนี้ศาลไทยก็ต้องผูกพันตามคำพิพากษาของศาลต่างประเทศตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 10 , อีกทั้ง คำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่276/2525 กับ คำวินิจฉัยที่ 562/2554 ก็คนละประเด็นกัน กล่าวคือ

-ปี 2525 วินิจฉัยเรื่องคุณสมบัติผู้ที่จะสมัครส.ส. -ปี 2554 วินิจฉัยว่า คำพิพากษาศาลต่างประเทศ ผูกพันกับศาลไทยอย่างไร

-หากถือว่าคำวินิจฉัยของกฤษฎีกา ปี 2554 กลับคำวินิจฉัยปี 2525 ก็ต้องเป็นเรื่องที่มีข้อเท็จจริงเดียวกัน และต้องมีคำวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ของกฤษฎีกา(เหมือนศาลฎีกา) แต่เรื่องนี้ไม่ใช่

Advertisement

-เรื่องนี้ ความจริงมันเรื่องจริยธรรม ตามรัฐธรรมนูญ 160(5) แต่ไม่มีประเด็นเรื่องนี้ในศาลรัฐธรรมนูญ น่าจะมีความผิดพลาดตอนยื่นหรืออะไร ผมก็ไม่มีรายละเอียด

-แน่นอน เรื่องนี้จบแล้ว เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วก็จบ แม้ประเด็นที่วินิจฉัยจะไม่ตรงตามที่ผมเขียนไว้ก็ตาม จบก็คือจบ แต่เรื่องแบบนี้ ควรนำมาพูดกันในแง่วิชาการ อย่างน้อยที่กำลังจะร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ ก็น่าจะนำไปทบทวนดูว่าควรจะเขียนไว้อย่างไรในรัฐธรรมนูญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image