‘หมอเรวัต’ แนะเรือนจำเร่งแยกผู้ป่วยกักกันโรค นำผู้ป่วยเข้าระบบ-ปูพรมวัคซีน

“หมอเรวัต” แนะเรือนจำต้องแยกผู้ป่วยกักกันโรค นำผู้ป่วยเข้าระบบ-ปูพรมวัคซีน ชี้แค่คลัสเตอร์คลองเตยยังเอาไม่อยู่ มาเจอคลัสเตอร์เรือนจำอีก

เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม นพ.เรวัต วิศรุตเวช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย (สร.) ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และทัณฑสถานหญิงกลาง ว่า การจากติดเชื้อโควิด-19 ของ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง ที่มีการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ในวันที่ 5 พฤษภาคม และผลออกมาเป็นลบ คือไม่พบเชื้อ ซึ่งหากติดเชื้อในวันที่ 2 พฤษภาคม หลังจากผ่านมา 3 วันผล PCR จะยังไม่ขึ้นโดยผลจะขึ้นประมาณวันที่ 5-6 หลังจากได้รับเชื้อ ซึ่งผลออกมาเป็นลบในวันที่ห้าก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ได้ติดเชื้อ ทั้งนี้อาจจะมีการรับเชื้อในวันที่ 1-2 พฤษภาคมก็ได้ หากรับเชื้อมาในวันดังกล่าวผลอาจจะขึ้นในวันที่ 6 พฤษภาคม โดยในวันที่ 6 น.ส.ปนัสยาได้ ขอตรวจที่โรงพยาบาลพระรามเก้าด้วยความที่รู้ว่าเป็นคลัสเตอร์ใหญ่แล้วเรือนจำ ฉะนั้นโรงพยาบาลพระรามเก้าควรจะตรวจให้ แม้ว่า น.ส.ปนัสยาจะไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงสูงตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข และต่อมาเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม น.ส.ปนัสยาได้ไปตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยวิธีการ swap drive thru และทราบผลในวันที่ 11 พฤษภาคม นี่จึงเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ไม่อยากให้รักษาช้า โดยควรที่จะได้รับการรักษาเร็ว เพราะอาจจะ ให้ผู้ป่วยในระดับสีเหลืองเปลี่ยนเป็นผู้ป่วยในระดับสีแดงได้หากช้าไป แต่ น.ส.ปนัสยาเพิ่งได้เข้าไปรับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯเมื่อช่วงบ่ายของวันนี้

นพ.เรวัตกล่าวต่อว่า ซึ่งจากการบอกเล่าของ น.ส.ปนัสยา พบว่าในทัณฑสถานหญิงกลางน่าจะมีการติดเชื้อจำนวนมาก และสิ่งที่กังวลคืออาจจะเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ ซึ่งหากเป็นคลัสเตอร์ใหญ่สิ่งที่กรมราชทัณฑ์ควรจะทำคือต้องตรวจเหมือนกับการตรวจเชิงรุกทุกที่ที่มีคลัสเตอร์ เหมือน จ.สมุทรสาคร คลองเตย และกรมราชทัณฑ์ควรแถลงทุกขั้นตอนที่ทำ ซึ่งสิ่งที่จะเจอคือกลุ่มผู้ติดเชื้อในระดับสีเขียวและต้องมีการจับแยกเพื่อป้องกันไม่ให้ไปติดผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อ จากการสำรวจ ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิดในประเทศไทยพบว่าตัวเลขเปลี่ยนโดยเฉพาะสายพันธุ์อังกฤษที่ยอดพูดติดเชื้อต่างไปจากการแพร่ระบาดในระลอกที่ 1 และ 2 ซึ่งพบว่า ผู้ป่วยในระดับที่เป็นสีเขียวน้อยลง เหลือประมาณร้อยละ 70 และเป็นผู้ป่วยในระดับสีเหลืองบวกผู้ป่วยในระดับสีแดง 30% ถามว่าผู้ป่วยที่มีอาการหนักมีมากขึ้นในการระบาดรอบ 3

“และในผู้ป่วยติดเชื้อจำนวน 1,000 คนอาจจะมีผู้ป่วยถึง 300 คนที่ต้องแอดมิตในโรงพยาบาลและต้องการการรักษาเร่งด่วน ในขณะนี้โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ เตียงค่อนข้างเต็ม ถามว่าจะนำผู้ป่วยไปไว้ที่ไหน เตรียมหาเตียงให้เขา หรือในจำนวนผู้ป่วย 1,000 คนอาจจะต้องการไอซียูถึง 50 เตียง ซึ่งทุกสถาบันเตียงก็เต็มที่จะรับผู้ป่วยสีเหลือง รวมถึงไอซียูก็เต็มด้วย ฉะนั้นจะเป็นการจัดการที่ช้าอีกแล้ว” นพ.เรวัตกล่าว

นพ.เรวัตกล่าวต่อว่า จากการคุยกับหมอพบว่ามีผู้ป่วยที่เป็นสีเหลืองจะอยู่ รพ.สนามก็ไม่ได้ หรือจะอยู่ Hospitel ก็ไม่ได้ ต้องไปอยู่ที่โรงพยาบาลหลัก ซึ่งกังวลว่าผู้ป่วยสีเหลืองจะเปลี่ยนเป็นสีแดง และไม่มีไอซียูจะนำไปนอนที่วอร์ดธรรมดา มาตรฐานและการรักษาก็ไม่ดีเท่าห้องไอซียู ซึ่งหมอก็ไม่อยากทำเช่นนั้น เพราะหากต้องใช้เครื่องช่วยหายใจก็ต้องมีคนดูแล และเป็นผู้ที่มีความรู้ที่จะดูแลไม่เช่นนั้นสิ่งที่ตามมาอัตราการตายก็จะสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะอัตราเตียงผู้ป่วยหนักกับไอซียูต่อบุคลากรทางการแพทย์ห่างมาตรฐานไปเรื่อยๆ ยิ่งเพิ่มเตียงยิ่งห่างมาตรฐาน ทั้งนี้เราไม่สามารถรักษาได้โดยมาตรฐานเดิมแล้ว เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยมากจนล้นเกินความสามารถของบุคลากรทางการแพทย์ที่มีเท่าเดิมที่จะดูแลได้ดี

Advertisement

นอกจากนี้ นพ.เรวัตยังได้เสนอวิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยว่า เรือนจำต้องแยกผู้ป่วยเพื่อกักกันโรคและนำผู้ป่วยเข้าสู่ระบบ ซึ่งหากไม่มีอาการก็ไปที่ รพ.สนาม หรือ Hospitel เท่าที่จะช่วยได้ พวกที่มีอาการแล้วก็ต้องรีบให้ยารักษาอาการโดยเร็ว และมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขในขณะนี้ยังเป็นมาตรการที่บอกว่าผู้ป่วยระดับสีเหลืองยังต้องเข้า รพ.หลัก เพราะอาจจะดูแลได้ไม่ดี เมื่อดูแลไม่ดีก็อาจจะเปลี่ยนเป็นผู้ป่วยในระดับสีแดง เมื่อเปลี่ยนเป็นผู้ป่วยในระดับสีแดงก็จะทำให้อัตราการเสียชีวิตมีจำนวนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอัตราการเสียชีวิตในห้องไอซียูเพิ่มเป็น 40% อีกด้านคือในพื้นที่ไหนที่มีการระบาดหนัก ควรมีการนำเอาวัคซีนลงไป แม้จะไม่ทันที่จะช่วยติดเชื้อ แต่ก็หวังว่าจะมีการปูพรมวัคซีนด้วย เพื่อที่คนที่ยังไม่ติดเชื้อจะได้มีภูมิคุ้มกันซึ่งอาจต้องใช้เวลาบ้าง ซึ่งหากเป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ภูมิคุ้มกันก็จะขึ้นภายในหนึ่งสัปดาห์ อยากเป็นซิโนแวค ก็ต้องรอหลังเข็มสองอีกประมาณ 2 สัปดาห์ถึง 1 เดือน ภูมิคุ้มกันถึงจะขึ้น

“ฉะนั้นหากต้องการเซฟคนจริงๆ จำเป็นจะต้องใช้มาตรการที่เข้มข้นเหล่านี้ และที่สำคัญกรมราชทัณฑ์และเรือนจำต้องแถลง เรื่องนี้อย่างโปร่งใส ชัดเจน เพราะคลัสเตอร์ใหญ่เช่นนี้จะไปกระทบต่อระบบการรักษา ซึ่งหากเรือนจำหนึ่งพบผู้ติดเชื้อโควิดถึง 1,000 คน ระบบการรักษาของไทยไม่ว่าจะเป็น รพ.รัฐบวกกับ รพ.เอกชนก็ไม่พอ และรองรับได้ค่อนข้างยาก ทั้งนี้ในเรือนจำมีโอกาสติดสูงกว่าที่อื่นเพราะมีลักษณะการอยู่ที่แออัด ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับคลัสเตอร์ในสิงคโปร์ หรือคลัสเตอร์คลองเตย เป็นปัจจัยทางวิทยาศาสตร์ที่เรียกว่าการระบาดวิทยา ที่ไม่น่าหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งรุ้งเองควรได้รับการรักษาโดยเร็ว และควรตรวจหาเชื้อให้รุ้งได้ในวันที่ 6 พฤษภาคม ซึ่งประเด็นของรุ้งมีผลต่อนักโทษคนอื่นที่กำลังอยู่ในคลัสเตอร์เรือนจำด้วย หากทำถูกต้องตามหลักระบาดวิทยาเราจะสามารถเซฟคนได้ แต่ยังหากพยายามที่จะปิดบังก็จะเซฟคนอื่นไม่ได้และจะสูญเสียหนัก ผมเชื่อว่าหลายคนที่มีโอกาสที่จะออกมาใช้ชีวิตข้างนอก ไม่ควรที่จะมาถูกเคราะห์กรรมด้วยโรคระบาดในสถานการณ์ที่เขาไม่มีทางเลือก เขาถูกบังคับให้อยู่ในที่จำกัดเช่นนั้น เขาโชคร้ายมาก กลายเป็นว่าขณะนี้เรากำลังเจอปัญหาการระบาดหนักใน กทม. และเจอปัญหาใหญ่คือผู้ป่วยในเรือนจำอีกแล้วจึงกลายเป็นปัญหาที่ทับซ้อน ซึ่งความจริงสามารถป้องกันได้เฉพาะคลองเตยก็ยังจะเอาไม่ค่อยอยู่มาเจอเรือนจำอีก มันเป็นดับเบิลของความยากลำบากหนักเข้าไปอีก” นพ.เรวัตกล่าว

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image