“ราษฎร” ระลึกวีรชน ‘พฤษภา 35’ ชวน ยุติวัฒนธรรม ‘ลอยนวลพ้นผิดให้จบที่รุ่นเรา’

 

“ราษฎร” ระลึกวีรชน ‘พฤษภา 35’ ชวน ยุติวัฒนธรรม ‘ลอยนวลพ้นผิดให้จบที่รุ่นเรา’

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม กลุ่มราษฎร ได้เผยแพร่ข้อเขียน เนื่องในวาระครบรอบ 29 ปี เหตุการณ์เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2535 เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์การเมืองของไทย โดยระบุว่า

17 พฤษภาคม 2535
29 ปีพฤษภาประชาธรรม อาชญากรรมโดยรัฐที่ถูกลืม

เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 เกิดขึ้นเมื่อราว 3 ทศวรรษก่อน แต่กลับถูกพูดถึงในสื่อต่างๆ น้อยเมื่อเทียบกับ 14 ตุลาฯ สำหรับคนรุ่นใหม่อาจจะยังสับสนงุนงงเกี่ยวกับเหตุการณ์ครั้งนี้ ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมคืออะไร แล้วชนวนที่ทำให้เกิดความรุนแรงมาจากไหน

Advertisement

มีหลายเรื่องราวยังไม่ได้รับการชำระสะสาง ผู้สั่งการยังคงลอยนวล ญาติผู้สูญเสียยังไม่ได้รับความยุติธรรม เราจึงอยากชวนทุกคนกลับไปทบทวนเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรมอีกครั้ง มาลองดูกันว่าการต่อสู้ของคนรุ่นพ่อแม่คล้ายคลึงหรือแตกต่างจากปัจจุบัน เพราะเหตุใดวงจรอุบาทว์การเมืองไทยไม่เคยสิ้นสุดลงเสียที
#พฤษภาประชาชน #ราษฎร #TheRatsadon

 

รัฐประหาร 2534 สู่เสียสัตย์เพื่อชาติ

Advertisement

รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัน เจ้าของนโยบาย “เปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า” เป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยก้าวสู่ยุคทองของเศรษฐกิจ มีการลงทุนจากญี่ปุ่นและประเทศอุตสาหกรรมใหม่ในเอเชีย เกิดนักธุรกิจรุ่นใหม่จำนวนมาก จนพูดกันติดปากว่าไทยจะเป็น “เสือตัวที่ 5” ของเอเซีย

แต่การเป็นรัฐบาลผสม ทำให้จำเป็นต้องปรับคณะรัฐมนตรีบ่อยครั้ง เพื่อรักษาเสถียรภาพและรักษาความนิยม และเกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับกองทัพหลายครั้ง มีการโต้ตอบออกสื่ออย่างรุนแรงโดยกองทัพโจมตีเรื่องคอร์รัปชัน ส่วนฝ่ายรัฐบาลก็สวนว่า กองทัพไม่ควรมายุ่งการเมือง ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจกัน จนกระทั่งวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2534 คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) นำโดยพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ และพลเอกสุจินดา คราประยูร ก็ออกมารัฐประหารโดยอ้างเหตุผลคุ้นๆ คล้ายๆ กับรัฐประหารทุกครั้ง ดังนี้

1. รัฐบาลคอร์รัปชัน
2. ข้าราชการการเมืองรังแกข้าราชการประจำ
3. เผด็จการรัฐสภา
4. ความพยายามทำลายและแทรกแซงสถาบันทหาร
5. ความพยายามทำลายสถาบันฯ

รสช. เลือก นายอานันท์ ปันยาชุน มาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติขึ้น เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 15 ซึ่งแน่นอนว่าขาดความเป็นประชาธิปไตย นำไปสู่ความตึงเครียดทางการเมือง จนพลเอกสุจินดา คราประยูร ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ตนเองจะ “ไม่รับตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ ”

การเลือกตั้งในวันที่ 22 มีนาคม 2535 พรรคสามัคคีธรรมได้เสียงมากที่สุด แต่นายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคกลับชวดตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะมีประวัติพัวพันนักค้ายาเสพติด พลเอกสุจินดา คราประยูร จึงออกปากว่าตนเองยอม “เสียสัตย์เพื่อชาติ” จะยอมเป็นนายกรัฐมนตรีเอง

ความไม่พอใจกระจายตัวออกไปเป็นวงกว้างในสังคม และทวีคูณขึ้น เมื่อสุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 7 เมษายน 2535

2 ข้อเรียกร้อง

พรรคฝ่ายค้าน 4 พรรค ได้แก่พรรคประชาธิปัตย์ พรรคความหวังใหม่ พรรคพลังธรรม พรรคเอกภาพ และกลุ่มองค์กรทั่วประเทศ รวมพลังคัดค้านการสืบทอดอำนาจของ รสช. โดยมี 2 ข้อเรียกร้อง คือ

1) นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง
พลเอกสุจินดา คราประยูร เป็นหนึ่งใน รสช. ซึ่งกระทำการรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญ การเข้ารับตำแหน่งนายกฯ จึงเป็นการสืบทอดอำนาจเผด็จการของ รสช. อย่างชัดเจน

2) คัดค้านรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 15 ซึ่งร่างภายใต้อำนาจของ รสช. ขัดต่อหลักการพื้นฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตย เพราะเปิดช่องทางการสืบทอดอำนาจอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอก จำนวนวุฒิสมาชิกและอำนาจของวุฒิสภา ฯลฯ

ดูแล้วช่างคุ้นเคย คล้ายคลึงกับการสืบทอดอำนาจของ คสช. หลังรัฐประหาร 2557 ราวกับเป็นภาพสะท้อนของกันและกันต่างเพียงช่วงเวลาที่เกิดขึ้นและบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปเท่านั้น

จัดตั้งสมาพันธ์ประชาธิปไตย

หลังจากที่สุจินดารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็ค่อยๆ เกิดกลุ่มก้อนฝ่ายต่อต้านขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีการประชุมเพื่อคัดค้านนายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชน และสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ( สนนท.) รวมทั้งยังมีการคัดค้านของนักวิชาการทั้งในและนอกประเทศ

8 เมษายน 2535 เรืออากาศตรี ฉลาด วรฉัตร อดอาหารประท้วงบริเวณหน้ารัฐสภา พร้อมป้ายสีดำข้อความว่า “ข้าขอพลีชีพเพื่อประชาธิปไตยนายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง”

20 เมษายน 2535 พรรคการเมืองฝ่ายค้านร่วมมือกันจัดชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้า มีผู้เข้าร่วมประมาณ 1 แสนคน นอกจากนี้พรรคฝ่ายค้านยังออกไปอภิปรายตามจังหวัดต่าง ๆ พูดคุยกับองค์กรเอกชน เพื่อจัดการชุมนุมใหญ่คัดค้านนายกฯ ในวันที่ 4 พฤษภาคม ณ ท้องสนามหลวง

11 พฤษภาคม 2535 กลุ่มองค์กรที่ออกมาเคลื่อนไหวร่วมกันจัดตั้งเป็น “สมาพันธ์ประชาธิปไตย” ประกอบด้วยกรรมการ 7 คน คือ พล.ต. จำลอง ศรีเมือง ปริญญา เทวนฤมิตรกุล น.พ. เหวง โตจิราการ น.พ.สันต์ หัตถีรัตน์ สมศักดิ์ โกศัยสุข ประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ และ ร.ต. ฉลาด วรฉัตร

ชนวนที่ทำให้เกิดชุมนุมใหญ่

หลังจากมีชุมนุมใหญ่ต่อเนื่อง พรรคการเมือง นักวิชาการจึงพยายามหาทางออกด้วยการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 9 พรรคการเมืองประชุมกันแล้วแจ้งว่า “เห็นชอบแก้รัฐธรรมนูญ” แต่หลังจากการชุมนุมของประชาชนยุติลง พรรครัฐบาลก็ออกลาย ถ่วงเวลาการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไป โดยอ้างว่าต้องไปปรึกษากับ ส.ส. ในพรรคก่อน ไม่สามารถยื่นหนังสือขอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ทัน ความกลับกลอก ถ่วงเวลาของผู้มีอำนาจ เป็นชนวนสำคัญที่ทำให้ประชาชนไม่พอใจ และส่งผลให้มีผู้ตัดสินใจเข้าร่วมชุมนุมใหญ่ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2535 จำนวนหลายแสนคน

การสำรวจของสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย สุ่มสำรวจตัวอย่างผู้มาร่วมชุมนุมเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2535 ณ ท้องสนามหลวงพบว่าร้อยละ 45.7 ทำงานเอกชน ข้าราชการร้อยละ 14.8 เป็นเจ้าของกิจการ 13.7 นิสิตนักศึกษาร้อยละ 8.4 แสดงให้เห็นว่าเป็นการเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีผู้เข้าร่วมหลากหลายอย่างมาก

บทเพลงของประชาชน

ปี 2535 เป็นช่วงเวลาเบ่งบานของเพลงแนวป๊อปร็อค และเพื่อชีวิตอย่างมาก สวนกระแสเพลงแนวป๊อปแดนซ์ที่เป็นกระแสในปีก่อนหน้า คาดว่าน่าจะเป็นผลมาจากสถานการณ์ทางการเมืองที่หนักหน่วง

เพลงที่โดดเด่นที่สุดในช่วงเวลานั้นคือ “ทะเลใจ” แต่งและร้องโดยแอ๊ด คาราบาว (ยืนยง โอภากุล) อยู่ในอัลบั้มชื่อว่า พฤษภา ที่วางแผงหลังเหตุการณ์จบลงไม่นาน แอ๊ดเล่าถึงที่มาของเพลงนี้ไว้ในนิตยสาร MTV TRAX ฉบับเดือนกันยายน 2548 ว่า มาจากเรื่องราวของตนเองกับ พล.อ.อิสระพงศ์ หนุนภักดี หนึ่งในสมาชิก รสช. ทั้งคู่เคยเป็นเพื่อนที่รักใคร่ชอบพอกัน แต่สุดท้ายก็ต้องกลายมาเป็นศัตรูกันในเหตุการณ์ดังกล่าว เพราะความคิดจิตใจของคนเราแตกต่างกัน คนหนึ่งอยากเป็นใหญ่ แต่อีกคนทิ้งความเป็นใหญ่

มาถึงวันนี้ ไม่รู้ว่าช่วงชีวิตที่ผันผ่านคืนวันอันเปลี่ยวเหงาหลังยุติบทบาท จะทำให้แอ๊ดคิดถึงใครมากกว่ากัน ระหว่างเพื่อนเก่าผู้เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดเพลงนี้ หรือคิดถึงตัวเองในอดีตที่เลือกทิ้งความเป็นใหญ่มาอยู่ข้างประชาชน


ม็อบมือถือ

พ.ศ. 2535 โทรศัพท์มือถือมีขนาดเล็กพอที่จะถือไปไหนมาไหนได้ แต่ก็ยังไม่ได้เป็นอุปกรณ์สื่อสารที่ใช้กันอย่างกว้างขวางนัก ผู้ใช้โทรศัพท์มือถืออยู่ในกลุ่มนักธุรกิจรายได้ดี พนักงานบริษัทระดับสูง หรือข้าราชการก็จะอยู่ในระดับหัวหน้าฝ่ายขึ้นไป โดยเป็นโทรศัพท์ประจำตำแหน่งที่เมื่อโยกย้ายหรือลาออกจะต้องคืนให้แก่หน่วยราชการนั้นๆ

โทรศัพท์มือถือในภาพการชุมนุมพฤษภาคม 2535 จึงสะท้อนให้เห็นภาพรวมของกลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งเป็นชนชั้นกลาง ซึ่งจะมารวมตัวกันนับแสนคนในช่วงเย็น แล้วค่อยๆ ลดจำนวนลงในตอนเช้า จากนั้นจึงกลับมาใหม่หลังเลิกงาน ต่างคนต่างขับรถยนต์มากันเอง และใช้โทรศัพท์มือถือในระหว่างชุมนุม ทำให้เรียกการชุมนุมในช่วงเดือนพฤษภาคม 2535 ว่าเป็น “ม็อบรถเก๋ง” และ “ม็อบมือถือ”

นอกจากจะมีประโยชน์ในการติดต่องานระหว่างร่วมชุมนุมแล้ว โทรศัพท์มือถือยังมีบทบาทในการเคลื่อนม็อบที่มีคนจำนวนมหาศาลได้อย่างรวดเร็ว ส่งข่าว เรียกหากำลังเสริม ไม่ต้องตะโกนผ่านไมโครโฟน หรือให้คนวิ่งแจ้งข่าวเหมือนการชุมนุมในอดีต

วันชุมนุมใหญ่

17 พฤษภาคม 2535
ตลอดช่วงเช้าถึงเที่ยง ทีมงานของสมาพันธ์ประชาธิปไตยมาเตรียมการชุมนุม จัดพื้นที่บริเวณสนามหลวง ตั้งห้องสุขาชั่วคราว เนื่องจากรถห้องน้ำทั้งหมดของกรุงเทพมหานคร ถูกรัฐบาลนำไปใช้งานที่คอนเสิร์ตต้านภัยแล้งที่จัดชนม็อบหวังลดจำนวนผู้ชุมนุม แต่ก็ไม่เป็นผล

12.00 น. ประชาชนกว่า 5,000 คนทยอยมาที่สนามหลวงมีการขายเทปวีดีโอปราศรัยของวันที่ 6-11 พฤษภาคม ที่ผ่านมา รวมทั้งเสื้อยืด สติ๊กเกอร์ เข็มกลัด ของที่ระลึกในการต่อต้านสุจินดา

15.00 น. ประชาชนประมาณ 30,000 คนมารวมตัวกันที่สนามหลวงหน้าเวทีที่ขึงผ้าสีขาวมีข้อความว่า ” สมาพันธ์ประชาธิปไตย สุจินดาออกไปประชาธิปไตยคืนมา” และค่อยๆ เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ถึง 300,000 คนในช่วงค่ำ

19.00 น. ทหารช่างจาก ช.พัน 1 รอ. พร้อมด้วยรถยีเอ็มซีสองคัน บรรทุกรั้วลวดหนามมาจอดเตรียมพร้อมอยู่หน้ากระทรวงคมนาคม

21.00 น. คณะกรรมการสมาพันธ์ประชาธิปไตย นำประชาชนกล่าวปฏิญาณอย่างพร้อมเพรียงกันว่า “จะต่อสู้กับเผด็จการ และให้มีประชาธิปไตยที่นายกฯ มาจากการเลือกตั้ง โดยยึดมั่นในหลักการอหิงสาสันติวิธี” จากนั้นพล.ต. จำลองนำขบวนเดินไปตามถนนราชดำเนินกลาง มุ่งหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อกดดันสุจินดาให้ลาออก

21.20-22.00 น. เมื่อผู้ชุมนุมกลุ่มแรกมาถึงสะพานผ่านฟ้าฯ ขอร้องตำรวจให้เปิดทางแต่ไม่สำเร็จ จึงพยายามฝ่าแนวกั้น ตำรวจฉีดน้ำครำสกปรกมีกลิ่นเหม็นใส่กลุ่มผู้ชุมนุม จึงมีการตอบโต้ด้วยการขว้างปาขวดน้ำ ก้อนหิน ขวดน้ำมันจุดไฟ ระเบิดขวดเข้าใส่เจ้าหน้าที่ ผู้ชุมนุมบางส่วนบุกยึดรถดับเพลิงได้ แล้วฉีดน้ำกลับใส่เจ้าหน้าที่ เหตุการณ์ช่วงนี้มีผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิตหลายราย

23.00 น. สน. นางเลิ้งถูกเผา แต่ประชาชนนับแสนตั้งแต่สะพานผ่านฟ้าฯ ถึงสี่แยกคอกวัว ยังคงนั่งชุมนุมอย่างสงบ

00.30 น. โทรทัศน์ออกประการศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ลงนามโดย พล.อ. สุจินดา คราประยูร และ รมว. มหาดไทย

01.30 น. โทรทัศน์ออกประกาศกระทรวงมหาดไทย ห้ามชุมนุมมั่วสุมเกิน 10 คนขึ้นไป

04.00 น. กำลังทหาร 2,000 นายและตำรวจ 1,500 นาย เคลื่อนกำลังสู่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ ยิงปืนกราดใส่ผู้ชุมนุมบนถนน นานราว 15 นาที ประชาชนที่ตรึงกำลังอยู่บริเวณผ่านฟ้าฯ ภูเขาทอง ป้อมมหากาฬ แตกกระเจิง มีผู้ได้รับบาดเจ็บเพราะถูกยิง และหลายคนเสียชีวิต สิ้นเสียงปืน ผู้ชุมนุมกลับมาอีกครั้งที่สะพานผ่านฟ้าฯ จนเกือบรุ่งสาง เสียงปืนชุดที่ 2 ดังขึ้นอีก พร้อมรถดับเพลิงฉีดน้ำใส่ฝูงชน เสียงปืนสงบลง ผู้ชุมนุมพร้อมใจกันร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี ไม่ทันจบเพลง เสียงปืนก็ดังสนั่นขึ้นอีกครั้ง ทหารเข้ายึดสะพานผ่านฟ้าฯ ไว้ได้

สลายการชุมนุม

ตั้งแต่กลางดึกวันที่ 17 ยาวต่อเนื่องถึงเช้าวันที่ 18 เต็มไปด้วยเหตุจราจลมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก แต่ผู้ชุมนุมยังคงปักหลักบนถนนราชดำเนินกลาง

7.00 น. จำลอง ศรีเมืองโทรศัพท์ติดต่อกับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรี เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงและขอความช่วยเหลือ

10.00 น. มีการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล นายกรัฐมนตรีชี้แจงสถานการณ์และเหตุผลที่ประกาศภาวะฉุกเฉิน แต่ไม่ได้พูดถึงการใช้กำลังอาวุธเข้าทำร้ายประชาชน

13.00 น. ทหารตั้งกำลังปิดกั้นบริเวณสะพานพระปิ่นเกล้า ท่าพระจันทร์ สี่แยกคอกวัว และวางลวดหนามขวางถนนราชดำเนินตรงบริเวณหน้ากรมประชาสัมพันธ์ ประชาชนที่ต้องการเข้าร่วมชุมนุมถูกสกัดไว้ไม่ให้เข้า ทำให้พื้นที่ที่ถูกล้อม มีผู้ชุมนุมอยู่เพียง 2 หมื่นคน

14.00 น. นายกรัฐมนตรีออกแถลงการณ์ทางโทรทัศน์กล่าวหา พล.ต. จำลอง ศรีเมือง ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรงจนทำร้ายเจ้าหน้าที่และทำลายสถานที่ราชการ ต้องใช้กำลังทหารตำรวจเข้าปราบปรามขั้นเด็ดขาดเพื่อยุติความเสียหาย

15.00 น. กองกำลังรักษาพระนครสั่งการให้สลายการชุมนุม ทหารเข้าล้อมกลุ่มผู้ชุมนุมจากทุกทิศ โดยมีรถหุ้มเกราะเคลื่อนตามมาข้างหลัง ผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งวิ่งหนีหลบออกไปได้ คนที่เหลือหมอบราบลงกับพื้น มีรายงานว่าทหารยิงปืนขึ้นฟ้าและกราดใส่ผู้ชุมนุม บางส่วนใช้กระบองเข้าทุบตีผู้ชุมนุมที่นอนหมอบกับพื้น ตำรวจจับกุมจำลอง ศรีเมืองใส่กุญแจมือแล้วนำตัวออกจากที่ชุมนุม รถทหาร 10 คันและรถบัส 3 คัน นำตัวผู้ชุมนุมนับพันคนไปคุมตัวไว้ที่โรงเรียนพลตำรวจบางเขน

15.45 น. ข่าวในโทรทัศน์ประกาศว่า กองกำลังรักษาพระนคร สลายกลุ่มก่อการจลาจลได้โดยไม่เสียเลือดเนื้อ ทั้งที่ในความเป็นจริง เหตุการณ์ปราบปรามยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ประชาชนยึดโรงแรมรัตนโกสินทร์เป็นฐาน

19 พฤษภาคม 2535

ผู้ชุมนุมไปรวมตัวกันที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงราว 40,000-50,000 คน มีการตั้งเวทีปราศรัย ผลัดกันขึ้นอภิปรายตลอดเวลา นอกจากนั้นยังมีกลุ่มมอเตอร์ไซค์ตระเวนไปตามจุดต่างๆ ในกรุงเทพฯ ทำลายสัญญาณไฟจราจร ป้อมตำรวจ สถานีตำรวจ

20 พฤษภาคม 2535

21:30 น. โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจและสถานีวิทยุกระจายเสียงทุกแห่งถ่ายทอดเหตุการณ์ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ขอให้สุจินดาและจำลองหันหน้าเข้าหากัน ช่วยกันแก้ปัญหา

หลังจากนั้นสุจินดาและจำลอง ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกันทางโทรทัศน์ ว่าจะปล่อยตัวจำลองและออกกฎหมายนิรโทษกรรม และจะแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเร็ว

24 พฤษภาคม 2535 สุจินดา คราประยูร ประกาศลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี

ความสูญเสียในเหตุการณ์ระหว่างวันที่ 17-21 พฤษภาคม 2535 มีผู้เสียชีวิต จำนวน 44 ราย สูญหาย 48 ราย พิการ 11 ราย บาดเจ็บสาหัส 47 ราย และบาดเจ็บรวม 1,728 รา

บทบาทของสื่อ

ในช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 สื่อโทรทัศน์และวิทยุเป็นเครื่องมือของรัฐบาลอย่างเต็มตัว พยายามทำให้ประชาชนรู้สึกกลัวจากการให้ข้อมูลว่า หากเข้าชุมนุมอาจได้รับอันตราย นอกจากนี้ยังแพร่ภาพตัวแทนชาวพุทธเข้าเยี่ยมและให้กำลังใจสุจินดา คราประยูร เพื่อหาความชอบธรรมให้การเข้ารับตำแหน่ง

ระหว่างเกิดเหตุจราจล รัฐบาลใช้การประกาศผ่านโทรทัศน์ แถลงกล่าวร้ายป้ายสีผู้ชุมนุม และปฏิเสธการใช้ความรุนแรงโดยกองทัพ เช่นคืนวันที่ 17 พฤษภาคม 2535 โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจออกข่าวว่า จำลองได้พาประชาชนมุ่งสู่พระตำหนักจิตรลดาฯ ทำร้ายเจ้าหน้าที่จนบาดเจ็บ หรือในบ่ายวันที่ 18 พฤษภาคม 2535 สุจินดาออกแถลงการณ์ทางโทรทัศน์กล่าวหาว่าจำลองเป็นภัยต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ต้องปราบปรามขั้นเด็ดขาด

สื่อสิ่งพิมพ์คอยนำเสนอข่าวอย่างใกล้ชิด โดยใช้โรงแรมรัตนโกสินทร์เป็นที่พัก เพื่อติดตามสถานการณ์ โดยก่อนจะเกิดเหตุจราจลกองทัพได้เชิญตัวแทนหนังสือพิมพ์รายวันทุกฉบับเข้าพบ และขอร้องให้เสนอข่าว “ตามจริง” เพื่อประโยชน์ของชาติ

พฤษภาประชาธรรม

ปี 2540 คณะกรรมการจัดงานรำลึกเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ได้มีมติและรณรงค์ให้เรียกชื่อเหตุการณ์นี้ว่า “พฤษภาประชาธรรม” เพื่อขับเน้นถึงความหมายในทางสร้างสรรค์ และบ่งบอกชัยชนะของขบวนการประชาชนมากกว่าความรู้สึกเคียดแค้นชิงชังและเจ็บปวด สื่อสารถึงความกล้าหาญทางจริยธรรม ที่ประชาชนยึดหลักสันติวิธี ใช้เพียงสองมือเปล่าเข้าต่อสู้กับทหารที่ปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรงด้วยอาวุธสงคราม แต่ท้ายที่สุดธรรมของประชาชนก็ร่วมกันผลักดันจนได้รับชัยชนะ นำมาสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ซึ่งนับว่าเป็นประชาธิปไตยที่สุดฉบับหนึ่งของไทย

อ้างอิง https://siamrath.co.th/n/35719

หรั่ง-จักรพันธ์ อัมราช อายุ 22 ปี

“วันนั้นแกเป็นคนถือธง อยู่บนหลังคารถเมล์ เพื่อน ๆ บอกว่า ถูกยิงหล่นลงมาเหมือนใบไม้ร่วง”

“เขาเป็นเด็กดี ตอนไปเรียนหนังสือเพื่อน ๆ ก็รักเขามาก เขาเป็นคนใจกว้างขวาง ไอ้เด็กคนนี้ ถึงแม้ตัวเองจะไม่ค่อยมีเงิน แต่พอเพื่อนขอเขาก็ให้” – สัมฤทธิ์ อัมราช เล่าถึงลูกบุญธรรมที่เธอเลี้ยงดูมา หรั่งเป็นหนุ่มลูกครึ่ง พูดจาสุภาพ เขาทำงานเป็นครูสอนว่ายน้ำที่ศูนย์พัฒนาเยาวชน หรั่งไปร่วมเรียกร้องประชาธิปไตย ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2535 และเสียชีวิตจากการถูกยิงที่ศีรษะ

“วันนั้นแกเป็นคนถือธง อยู่บนหลังคารถเมล์ เพื่อน ๆ บอกว่าถูกยิงหล่นลงมาเหมือนใบไม้ร่วง เพื่อนที่ร่วมชุมนุมก็ช่วยกันเอาแคร่มาหามศพ จากราชดำเนินมาถึงสาธรใต้ แถวโรงพยาบาลเซนต์หลุย ทิ้งศพไว้ที่นั่น แล้วตำรวจก็มาเอาศพไปอีกที” – กรองกาญจน์ สืบสายหาญ ญาติของหรั่งกล่าวถึงเหตุการณ์ในวันสลายการชุมนุม

นี่คือ 1 เรื่องเล่าจากครอบครัวผู้สูญเสียจากเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม (พฤษภาคม 2535) ผ่านมาแล้ว 29 ปี แต่ความยุติธรรมไม่เคยมาถึงครอบครัวของผู้เสียชีวิตและสูญหาย เนื่องจากก่อนที่พลเอกสุจินดา คราประยูรจะลาออก ได้มีการออกพระราชกำหนดนิรโทษกรรมทำให้เจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมด้วยอาวุธสงคราม รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องกับความตาย ความเจ็บปวดของประชาชนไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น

ราษฎรขอเป็นส่วนหนึ่งที่จะร่วมระลึกถึงวีรชนผู้จากไปผ่านเรื่องเล่าจากคนใกล้ชิด เพื่อให้พวกเขายังคงเป็นที่จดจำ และเตือนให้ผู้ที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในวันนี้ร่วมกันยุติวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดให้มันจบที่รุ่นเรา

*หากครอบครัวของวีรชนต้องการจะแบ่งปันความทรงจำถึงบุคคลอันเป็นที่รัก สามารถแจ้งส่งข้อมูลมาได้ที่ inbox เพจราษฎร หรือคอมเมนต์ใต้โพสต์นี้
#พฤษภาประชาชน #ราษฎร #TheRatsadon

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image