ครม. รับทราบ การจัดทำประมวลจริยธรรม ‘จนท.ของรัฐ’ ให้ใช้บังคับครอบคลุมถึง ‘คณะกรรมการ’

ครม. รับทราบ การจัดทำประมวลจริยธรรม ‘จนท.ของรัฐ’ ให้ใช้บังคับครอบคลุมถึง ‘คณะกรรมการ’

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะรัฐมนตรี.(ครม.) รับทราบการจัดทำประมวลจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐให้ใช้บังคับครอบคลุม ถึงคณะกรรมการตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ โดยให้คณะกรรมการมาตรฐานทางจริยธรรม (ก.ม.จ.) กำหนดหลักเกณฑ์ แนวทาง หรือวิธีการในการนำประมวลจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐไปใช้บังคับกับคณะกรรมการ รวมถึงกลไกในการกำกับดูแลให้ชัดเจน เหมาะสม โดยให้คำนึงถึงความสอดคล้องและเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และมติครม. ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ให้ ก.ม.จ. รับความเห็นและข้อสังเกตของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดองไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

สาระสำคัญ
พระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562 และระเบียบคณะกรรมการมาตรฐานทางจริยธรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดทำประมวลจริยธรรม ข้อกำหนดจริยธรรม และกระบวนการรักษาจริยธรรมของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่รัฐ พ.ศ. 2563 บัญญัติให้องค์กรกลางบริหารงานบุคคลของหน่วยงานของรัฐมีหน้าที่จัดทำประมวลจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในความรับผิดชอบ

โดยให้จัดทำประมวลจริยธรรมให้แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่คณะกรรมการมาตรฐานทางจริยธรรม (ก.ม.จ.) กำหนด ซึ่งในการจัดทำประมวลจริยธรรมของหน่วยงานต่าง ๆ ได้เกิดประเด็นปัญหาในการกำหนดกลุ่มเป้าหมายการบังคับใช้ว่า ต้องใช้บังคับกับคณะกรรมการด้วยหรือไม่ เนื่องจากนิยามของคำว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ตามพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรมฯ และระเบียบคณะกรรมการมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ไม่ได้บัญญัติให้ครอบคลุมถึงคณะกรรมการด้วย

สำนักงาน ก.พ. จึงได้ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการกำหนดนิยามของคำว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” จากกฎหมายต่าง ๆ รวมทั้งศึกษาการจัดทำประมวลจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐ และบริษัทชั้นนำในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งประมวลจริยธรรมของหน่วยงานต่าง ๆ มีทั้งที่ครอบคลุมและไม่ครอบคลุมถึงคณะกรรมการ ซึ่ง ก.ม.จ. ในการประชุม ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2564 ได้พิจารณาประเด็นดังกล่าวแล้วและมีมติเห็นชอบในหลักการให้การจัดทำประมวลจริยธรรมขององค์กรที่มีหน้าที่จัดทำประมวลจริยธรรมใช้บังคับครอบคลุมถึงคณะกรรมการ โดยมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการ (สำนักงาน ก.พ.) เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบให้นำประมวลจริยธรรมที่ได้กำหนดขึ้นมาใช้บังคับกับคณะกรรมการด้วยโดยอนุโลม ทั้งนี้ ก.ม.จ. ในการประชุม ครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2564 ได้พิจารณาร่างประมวลจริยธรรมของหน่วยงานต่าง ๆ และมีมติเห็นชอบในหลักการต่อร่างประมวลจริยธรรมของหน่วยงาน รวมทั้งให้ปรับแก้ไขร่างประมวลจริยธรรม โดยพิจารณานำมาใช้บังคับให้ครอบคลุมคณะกรรมการด้วยแล้ว

Advertisement

ทั้งนี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีมีข้อสังเกตว่า โดยที่พระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562 มาตรา 13 (2) และ (6) บัญญัติให้ ก.ม.จ. มีหน้าที่และอำนาจกำหนดกลไกและการบังคับใช้ประมวลจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อให้องค์กรกลางบริหารงานบุคคลและองค์กรที่มีหน้าที่จัดทำประมวลจริยธรรมนำไปใช้ในกระบวนการบริหารงานบุคคลอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งตีความและวินิจฉัยปัญหาที่เกิดจากการใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้

นอกจากนี้ มาตรา 14 บัญญัติให้กรณีที่การจัดทำประมวลจริยธรรมหรือข้อกำหนดจริยธรรมของหน่วยงานไม่สอดคล้องกับมาตรฐานทางจริยธรรมหรือไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ ก.ม.จ. กำหนด ให้ ก.ม.จ. แจ้งให้องค์กรกลางบริหารงานบุคคลหรือองค์กรที่มีหน้าที่จัดทำประมวลจริยธรรมของหน่วยงานของรัฐดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง ซึ่งที่ผ่านมา ก.ม.จ. ในการประชุม ครั้งที่ 2/2564 และครั้งที่ 3/2564 ได้พิจารณาเห็นชอบร่างประมวลจริยธรรมของหน่วยงานที่เสนอมาแล้ว

โดยให้ปรับปรุงให้ครอบคลุมคณะกรรมการ เพื่อใช้เป็นแนวทางสำหรับหน่วยงานต่าง ๆ ในการจัดทำประมวลจริยธรรมให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นไปในทิศทางเดียวกันต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานที่มีคณะกรรมการอยู่ด้วย ดังนั้น การพิจารณากำหนดให้การจัดทำประมวลจริยธรรมของหน่วยงานครอบคลุมถึงคณะกรรมการตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ จึงเป็นเรื่องที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของ ก.ม.จ. ที่สามารถดำเนินการได้ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายดังกล่าวอยู่แล้ว ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาที่เห็นควรให้คณะรัฐมนตรีรับทราบการดำเนินการของ ก.ม.จ. ได้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image