‘บิ๊กตู่’กำชับเกษตร จว. แจ้งข้อมูลน้ำให้เกษตรกร ย้ำยึดการตลาดนำ ผลผลิตต้องไม่เกินความต้องการ

‘บิ๊กตู่’ กำชับเกษตร จว. ปรับพีอาร์ข้อมูลน้ำให้เกษตรกรอย่างทั่วถึง-นำผลงานวิจัยปรับใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ-ยึดหลักการการตลาดนำการเพาะปลูก ผลผลิตต้องไม่เกินความต้องการ แนะปลูกพืชให้สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศ

เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป ถือว่าเข้าสู่ฤดูการเพาะปลูกข้าว และพืชพันธุ์ต่างๆ ของเกษตรกร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กำชับให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดูแลเกษตรกรผู้ปลูกข้าวทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะปัญหาด้านน้ำ

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า โดยเฉพาะข้าวนาปีต้องอาศัยน้ำฝน แต่ปีนี้เกษตรกรต้องเผชิญกับฝนขาดช่วงในต้นฤดูกาล ทำให้บางพื้นที่ขาดแคลนน้ำในช่วงต้น โดยฝนเริ่มตกลงมาอย่างต่อเนื่องในช่วงปลายเดือน พฤษภาคม แต่หลายพื้นที่ยังขาดแคลนน้ำอยู่ จึงให้กรมชลประทานเร่งให้การช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันความเสียหายของนาข้าวที่ได้มีการเพาะปลูกไปแล้ว

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์กำชับให้สำนักงานเกษตรแต่ละจังหวัด ติดตามการพยากรณ์อากาศโดยกรมอุตุนิยมวิทยา และการรายงานสถานการณ์น้ำของสํานักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และกรมชลประทานอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินสถานการณ์น้ำ หากพื้นที่ใดยังไม่เหมาะต่อการเพาะปลูก ให้มีการประชาสัมพันธ์แก่เกษตรกรได้รับทราบอย่างทั่วถึง พร้อมมีการแจ้งถึงแนวทางการดูแลการเพาะปลูกอย่างเหมาะสม โดยช่วงเวลาของการเพาะปลูก ซึ่งต้องคำนึงฤดูน้ำหลากที่จะมาถึงด้วย

“พล.อ.ประยุทธ์เห็นว่าที่ผ่านมา แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการประชาสัมพันธ์สื่อสารกับเกษตรกร แต่ยังไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร ทำให้บางครั้งแม้มีการแจ้งเตือนไปแล้ว แต่ก็ไม่มีการปฎิบัติตามข้อแนะนำ ส่งผลให้การเพาะปลูกได้รับความเสียหาย จึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานราชการ ในการปรับปรุงระบบประชาสัมพันธ์ ให้เข้าถึงเกษตรกรได้อย่างรวดเร็วและมากที่สุด โดยนอกจากช่องทางการสื่อสารหลักที่มีอยู่แล้ว ควรพิจารณานำรูปแบบการสื่อสารระบบออนไลน์มาปรับใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพราะถือเป็นรูปแบบการสื่อสารใหม่ ที่เข้าถึงประชาชนได้ง่ายและทั่วถึง” น.ส.ไตรศุลีกล่าว

Advertisement

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีย้ำให้แต่ละพื้นที่ปรับปฏิทินการเพาะปลูกพืชให้สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศอย่างเหมาะสม ให้กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำตามมาตรการที่วางไว้ พร้อมการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศให้เพียงพอตลอดทั้งปีด้วย ควบคู่ไปกับการวางแผนป้องกันและบรรเทาอุทกภัย การวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัย พร้อมมีระบบการแจ้งเตือนประชาชนที่มีประสิทธิภาพ ป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับพื้นที่การเกษตรให้ได้มากที่สุด

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า นายกรัฐมนตรียังได้เน้นย้ำนโยบายการพัฒนาข้าวรวมถึงพืชเศรษฐกิจต่างๆ ให้มีการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมมาปรับใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ พร้อมให้ยึดหลักการการตลาดนำการเพาะปลูก ผลผลิตต้องไม่เกินความต้องการ โดยมีฐานข้อมูลวิเคราะห์ประเมินอุปสงค์อุปทานของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศควบคู่กันไป ซึ่งตัวเลขความต้องการสินค้าเกษตรจะเป็นข้อมูลสำคัญในการวางแผนการปลูก

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ปัจจุบันหน่วยงานรัฐได้พัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อเพิ่มองค์ความรู้ พัฒนาต่อยอดอาชีพ เช่น การใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการเพาะปลูกและการจำหน่าย เปลี่ยนจากเกษตรกรแบบดั้งเดิมให้เป็นสมาร์ท ฟาร์มเมอร์ อยากให้มีการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรเข้ามาใช้ข้อมูลเหล่านี้ให้เพิ่มขึ้นด้วย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image