‘โฆษกประชาชาติ’ จี้ ‘บิ๊กตู่’ เร่งกระจายอำนาจให้ อปท.เพื่อสร้าง ‘ภูมิคุ้มกันหมู่’ และกระตุ้นเศรษฐกิจ

‘โฆษกประชาชาติ’ จี้ ‘บิ๊กตู่’ เร่งกระจายอำนาจให้ อปท.เพื่อสร้าง ‘ภูมิคุ้มกันหมู่’ และกระตุ้นเศรษฐกิจ

เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน นายสุพจน์ อาวาส โฆษกพรรคประชาชาติ ระบุว่า เมื่อมีการอุบัติของโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง หรือโรคระบาดในราชอาณาจักร การดำเนินการใดๆ ก็ตาม ต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 และมาตรา 11 กำหนดให้เป็นความรับผิดชอบของ ‘คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ’ ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานและมีอธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นกรรมการและเลขานุการ แต่เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 ได้มีประกาศและโอนอำนาจชั่วคราว

ตามกฎหมายของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 เป็นของ ศบค. ซึ่งมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และนายกรัฐมนตรีซึ่งมีอำนาจสูงสุด ทั้งอำนาจในการบริหารและอำนาจตามข้อกฎหมาย ต้องรีบจัดประชุม ศบค. เพื่อการนี้ เฉกเช่นที่เคยเป็นมา คือ ได้มีการสั่งการผ่าน ‘กระทรวงมหาดไทย’ ให้ อปท.ดำเนินการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับ covid-19 เช่น การจัดเตรียมสถานที่ การจัดทำหน้ากากอนามัย ฯลฯ

“สิ่งที่นายกรัฐมนตรีและ ศบค. ควรทำ คือ (1) ประกาศให้ อปท.จัดซื้อวัคซีนได้และมั่นใจว่า อปท.ที่มีความพร้อม ก็สามารถจัดทำได้ทันที เพราะกฎหมายจัดตั้งได้ให้อำนาจไว้อยู่แล้ว (2) จัดทำขั้นตอนกระบวนการ หรือวิธีการจัดซื้อจัดจ้างและชนิดวัคซีนที่สามารถจัดหาได้ แจ้งเวียนให้ อปท.ทราบและถือเป็นแนวทางปฏิบัติ (3) แจ้งให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ให้ความร่วมมือและสนับสนุน อปท.ในการกระจายวัคซีนให้เข้าถึงประชาชน ควบคู่ไปกับ (4) สำทับให้ อปท.ที่มีความพร้อมด้านงบประมาณ หรือมี ‘เงินสะสม’ เพียงพอ หรือเหลือเกินเกณฑ์ตามที่รัฐบาลเคยประกาศไว้ ดำเนินการจัดซื้อ หรือจัดหาวัคซีนได้ทันที แต่การจัดซื้อจัดหาก็ต้องเป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการงบประมาณ ระเบียบการเบิกจ่าย รวมถึงหนังสือสั่งการของกระทรวงมหาดไทยที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งการจัดซื้อจัดจ้างก็ต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 และแก้ไขเพิ่มเติม รวมถึงหนังสือเวียนที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายเกี่ยวกับการสาธารณสุข เช่น วัคซีน หรือยา หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จะซื้อ หรือผู้มีสิทธินำเข้า ต้องผ่านการรับรองจาก อย.เป็นต้น”

Advertisement

“ส่วน อปท.ที่ไม่มีความพร้อมในการจัดหาวัคซีน ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลต้องเติมเต็มและจัดหางบประมาณสมทบเพื่ออุดช่องว่างในการจัดซื้อ หรือจัดหาวัคซีนในส่วนที่ขาดให้กับ ปชช.ในพื้นที่เป็นการเฉพาะ”

“อปท.มีศักยภาพและมั่นใจว่า ผู้บริหาร อปท. ทำได้ดีและการดำเนินการในเรื่องนี้เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เกิดขึ้นในระดับประเทศ เพื่อรักษาชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ที่จะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมทั้งประเทศ”

“รัฐบาลต้องเร่งรีบดำเนินการโดยเร็วและทำได้ทันที เพราะนายกรัฐมนตรีมีทุกอย่างอยู่ในมือหมดแล้ว เพียงแต่ยังขาดการตัดสินใจและการสั่งการที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดเช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆ ตามที่ทราบทั่วกัน

“อย่าปล่อยให้การบริหารหรือการจัดการ และการจัดหาวัคซีน ‘เละเทะ’ เหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เช่น รัฐบาลเปิด Application หมอพร้อม จังหวัดพร้อม โรงพยาบาลก็พร้อม แต่พอเปิด walk in แบบปูพรม ประชาชนต่างคนก็ต่างไปลงทะเบียน แต่ไม่มีวัคซีนฉีดให้”

“บัดนี้ ประชาชนพร้อม นายกรัฐมนตรีจึงควรรีบสั่งการและแก้ไขปัญหานี้โดยเร็วที่สุดและ ศบค.ต้องไม่ปล่อยให้หน่วยงานอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงมีหนังสือ หรือมีคำวินิจฉัย และ/หรือ ให้ความเห็นจนทำให้สังคมเกิดความสับสนในลักษณะเดียวกันกับผู้ตรวจการแผ่นดิน เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2564 ไม่เกี่ยวข้อง” นายสุพจน์กล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image