“ป.ป.ช.” เร่ง สางคดีเก่า 22 ก.ค.นี้ ปิดจ็อบ 8-9 พันคดี

“ป.ป.ช.” เร่ง สางคดีเก่า 22 ก.ค.นี้ ปิดจ็อบ 8-9 พันคดี เปรียบ สถานการณ์ป้องโควิด-19 กับการป้องกันทุจริต

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ สำนักงาน ป.ป.ช. จัดกิจกรรมผู้บริหารสำนักงาน ป.ป.ช. พบสื่อมวลชนผ่านระบบซูม ในการติดตามความคืบหน้า 15 คดีสำคัญ โดยมีนายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.พร้อมด้วยนายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ด้านงานปราบปราม, นายอุทิศ บัวศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ด้านงานป้องกันการทุจริต, นายพิเชษฐ์ พุ่มพันธ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ด้านงานตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน และผู้บริหารระดับสูงในสำนักงาน ป.ป.ช.เข้าร่วมกิจกรรมด้วย

โดยนายวรวิทย์ แถลงภาพรวมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตว่า มาตรการป้องกันของ ป.ป.ช. ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการเชิงรุก หากคณะกรรมการ ป.ป.ช.สงสัยว่าโครงการใดจะมีพฤติการณ์ส่อไปในทางมิชอบจนเกิดปัญหาการทุจริต คณะกรรมการ ป.ป.ช.จะสามารถสั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบว่าโครงการดังกล่าวมีช่องว่างช่องโหว่ หรือมีความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายขึ้นหรือไม่ และคณะกรรมการ ป.ป.ช. สามารถให้ข้อเสนอแนะแจ้งไปยังหน่วยงานนั้นๆ ดำเนินการแก้ไขได้ โดยมาตรการป้องกันการทุจริตเป็นงานประจำที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ภายหลังประกาศใช้ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 (พ.ร.บ. ป.ป.ช.) สำนักงาน ป.ป.ช.มีการออกอนุบัญญัติต่างๆ รวม 78 ฉบับ เพื่อปรับปรุงโครงสร้างการบริหาร และพัฒนางานด้านการป้องกัน งานด้านการปราบปราม และงานด้านการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน โดยด้านการป้องกันถูกปรับปรุงมากที่สุด เช่น จัดตั้งสำนักเฝ้าระวังและประเมินการทุจริต เพื่อตรวจสอบว่าโครงการใดมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีพฤติการณ์ส่อทุจริตบ้าง เป็นต้น ส่วนงานด้านการปราบปราม มีการสร้างสำนักเฉพาะทางขึ้น เช่น สำนักทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ส่วนรวม เรียกว่ามีหมอเฉพาะทางมากขึ้น ส่วนงานด้านการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน เช่น คดีตรวจสอบการร่ำรวยผิดปกติ เดิมเป็นหน้าที่ของงานด้านการปราบปราม ซึ่งอาจไม่ถนัดและอาจมองไม่เห็นภาพกว้าง จึงมีการปรับใหม่ให้สำนักตรวจสอบทรัพย์สินดูแล เพราะเป็นสายตรง แต่นำกระบวนการด้านการไต่สวนของด้านปราบปรามมาเพิ่มเติม เพื่อให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นต้น

Advertisement

นายวรวิทย์กล่าวว่า สำหรับภาพรวมคดีทั้งหมดในปีงบประมาณ 2564 (ระหว่าง ต.ค.2563-พ.ค.2564) มีเรื่องร้องเรียนกล่าวหาทั้งสิ้น 4,920 เรื่อง ลดลงจากปีงบประมาณ 2563 รวม 1,403 เรื่อง ทั้งนี้ มีคดีอย่างน้อย 8-9 พันคดีที่เป็นคดีเก่า เกิดขึ้นก่อนวันที่ 21 กรกฎาคม 2561 ตาม พ.ร.บ. ป.ป.ช.จะต้องดำเนินการให้เสร็จภายในวันที่ 22 กรกฎาคม 2564 โดยคาดว่าจะทำแล้วเสร็จตามเป้าประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ แต่เนื่องจากขณะนี้มีสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด อาจมีบางคดีที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่อาจเข้ามาให้การได้ อาจมีล่าช้าอะไรไปบ้าง แต่จะพยายามให้อย่างน้อยไม่เกินปีงบประมาณ 2564 หรือภายในเดือน กันยายนนี้ เบื้องต้นเท่าที่ดูมีประมาณ 10 คดี ยืนยันว่าทำงานอย่างเข้มข้นทุกฝ่าย

ด้านนายนิวัติไชย กล่าวว่า ป.ป.ช.ไม่อยากเอาผิดกับใคร เนื่องจากแนวทางที่ดีที่สุดคือการป้องกันการทุจริต โดยเฉพาะในกฎหมาย ป.ป.ช.ฉบับใหม่ ระบุชัดเจนว่า กรณีมีเหตุอันควรสงสัยสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ โดยประชาชนถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยในการตรวจสอบและป้องกัน ไม่ให้การกระทำความผิดเกิดขึ้น แต่ถ้ามีความผิดเกิดขึ้น หรือสำเร็จแล้ว เป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช.ในการปราบปรามอย่างจริงจัง อยากเรียนว่าต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชน ขณะที่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องต้องกล้าลุกขึ้นมาชี้ช่องเบาะแสให้กับ ป.ป.ช. เพราะสุดท้ายงานด้านการปราบปรามต้องพึ่งพยานหลักฐาน เช่น คดีทุจริตก่อสร้างสนามฟุตซอล ที่มีการร้องเรียน เป็นปัญหาที่ชี้ให้เห็นว่าผู้ใต้บังคับบัญชาถูกสั่งการให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ พอมีเหตุต้องรับผิดทางอาญา เขามาร้องขอความเป็นธรรม ถ้าไม่เห็นด้วย กฎหมายบอกเลยว่าให้แจ้ง ป.ป.ช. ถ้าแจ้งแล้วว่าถือว่าบุคคลนั้นไม่ต้องถูกดำเนินการทางอาญาหรือทางวินัย หรือ ป.ป.ช.จะดำเนินการตรวจสอบและคุ้มครองด้วย

นายพิเชษฐกล่าวว่า ภารกิจแรกของสำนักตรวจสอบทรัพย์สินคือ การไต่สวนเรื่องร่ำรวยผิดปกติ โดยคดีที่เกิดขึ้นก่อน พ.ร.บ.ป.ป.ช.ฉบับใหม่ มีอย่างน้อย 37 คดีจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ ส่วนการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินเป็นภารกิจหลัก มีกรอบดำเนินการให้แล้วเสร็จใน 90 วัน การตรวจสอบมีคดีค้างเก่า พยายามสะสางให้แล้วเสร็จ เพื่อทำงานใหม่ให้เป็นลำดับต่อมา นี่คือภาพรวม ส่วนเรื่องใหม่ที่จะมีการเลือกตั้งท้องถิ่น สำนักตรวจสอบทรัพย์สินดำเนินการทำฐานข้อมูล เตรียมแผนรองรับ ตรงไหนขาดเหลืออะไร จะเติมให้ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

นายอุทิศกล่าวว่า งานด้านป้องกันเปรียบเสมือนสถานการณ์โควิด-19 ที่ตอนนี้ทุกคนต้องใส่แมสก์ ต้องมีมาตรการ ต้องรักษาต้องให้ความรู้ โดยประชาชนทุกคนต้องมีส่วนร่วมทั้งหมดในการป้องกันการทุจริต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image