‘อาเล็ก’ รุด บางเขน ด้นสด ปวศ. ‘คณะราษฎร’ ลั่นจะฟื้นตำนาน ‘วัดพระศรีฯ’ ชี้ สำคัญมาก สงฆ์รูปแรก ‘พระยาพหล’

 

‘อาเล็ก’ รุด บางเขน ด้นสด ปวศ. ‘คณะราษฎร’ ลั่นจะฟื้นตำนาน ‘วัดพระศรีฯ’ ชี้ สำคัญมาก สงฆ์รูปแรก ‘พระยาพหล’

เมื่อเวลา 14.50 น. วันที่ 15 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอาเล็ก โชคร่มพฤกษ์ ศิลปินเพลงเพื่อราษฎร เดินทางจากบ้านพัก จ.สมุทรปราการ ด้วยรถไฟฟ้า มุ่งหน้าไปยัง วัดพระศรีมหาธาตุ วรมหาวิหาร เขตบางเขน กรุงเทพฯ

สำหรับ วัดพระศรีมหาธาตุฯ เดิมชื่อว่า วัดประชาธิปไตย ปัจจุบันมีความหมายในแง่ อนุสรณ์ของระบอบประชาธิปไตยและคณะราษฎร ภายในพระธาตุเจดีย์ หน้าพระอุโบสถ ได้บรรจุอัฐิของคณะราษฎร หรือบุคคลอื่นที่ทำคุณงามความดีแก่ชาติบ้านเมือง ไว้

นายอาเล็ก กล่าวขณะเดินทางว่า ตนจะไปรำลึกถึงที่มาที่ไปของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ซึ่งมีความล้ำลึกมาก คนไทยส่วนมาไม่รู้จักวัดพระศรีมหาธาตุ  ระหว่างนี้ก็ฟังประวัติศาสตร์วัดพระศรีมหาธาตุไปเรื่อยๆ เพราะมีหลายตำราให้เราเรียนรู้

Advertisement

เวลา 16.05 น. นายอาเล็ก เดินทางถึงสถานีรถไฟฟ้า วัดพระศรีมหาธาตุ ผ่านวงเวียนบางเขน พร้อมกล่าวว่า ดีใจที่ได้มาเห็นโลเคชั่นที่แปลกๆ ไม่รู้จะอธิบายอย่างไร เป็นสถานีที่ใหญ่ อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญนั้น โดนรื้อหายไปแล้ว ตนเดินทางมาที่วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร เนื่องจากเดือนนี้เป็นเดือนแห่งการรำลึกประวัติศาสตร์ 2475 แต่ละจุดต้องอธิบาย แต่ตนยอมรับว่าไม่มีความรู้

“ประวัติศาสตร์เรื่องนี้ ถ้าเด็กๆ ไม่ค้นคว้าก็ไม่มีทางได้รู้ว่า วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหารแห่งนี้มีความจำเป็นอย่างไร มากมายแค่ไหน วัดนี้คือประวัติศาสตร์ที่คนอยากให้เราลืม ผมนึกได้ก็รีบมา มีอะไรจะมาเล่าให้ฟังด่านแรกที่จะเจอ คือเจ้าหน้าที่ที่ห้ามถ่าย แต่เป็นวัดของประชาชน จะห้ามถ่ายได้อย่างไร” นายอาเล็กกล่าว

เวลา 16.18 น. นายอาเล็กเดินเท้าถึงหน้าวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พร้อมกล่าวว่า แต่ก่อนชื่อว่าวัดประชาธิปไตย สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2483 เมื่อวันที่ 18 กันยายนโดยคณะรัฐมนตรีของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นคนสร้าง แต่คนที่ริเริ่ม คือ พระยาพหลพลพยุหเสนา ปี 2483 เปิดใช้ 2484 พระรูปแรกที่บวชคือ พระยาพหลพลพยุหเสนา

“ผมศึกษาความเป็นมาเป็นไปวัดนี้ สำคัญจริงๆ กับการปกครอง แต่ทางการไทยต้องการให้เราลืมประวัติศาสตร์นี้ ผมมารู้ตอนหลังซึ่งมีความเป็นมาเป็นไป มีความพยายามทำให้ถูกเชื่อมกับประวัติศาสตร์อย่างแน่นหนา มีการเชิญพระพุทธสิหิงค์ จากในเมือง มาที่นี่ แต่เมื่อคณะราษฎรพ่ายแพ้ก็มีการอัญเชิญกลับ”

ต่อมา เวลา 16.28 น. นายอาเล็กเปิดเพลง “วันชาติ 24 มิถุนายน” ซึ่งประพันธ์โดย มนตรี ตราโมท เมื่อปี พ.ศ. 2483 ระหว่างจัดเตรียมสถานที่ มีเนื้อหาความว่า

“ยี่สิบสี่มิถุนายนมหาศรีสวัสดิ์
ปฐมฤกษ์ของรัฐธรรมนูญของไทย
เริ่มระบอบแบบอารยะประชาธิปไตย
ทั่วราษฎรไทย ได้สิทธิเสรี
สำราญ สำเริง รื่นเริง เต็มที่
เพราะชาติเรามี เอกราชสมบูรณ์
ไทยจะคงเป็นไทย ด้วยร่วมใจเทิดไทย ชโย
ชาติประเทศเหมือนชีวา ราษฎร์ประชาเหมือนร่างกาย
ถ้าแม้ว่าชีวิตมลาย ร่างกายก็เป็นปฏิกูล
พวกเราต้องร่วมรัก พิทักษ์ไทยไพบูลย์
อีกรัฐธรรมนูญ คู่ประเทศของไทย
เสียกายเสียชนม์ ยอมทนเสียให้
เสียชาติประเทศไทย อย่ายอมให้เสียเลย
ไทยจะคงเป็นไทย ด้วยร่วมใจเทิดไทย ชโย”

เวลา 16.38 น. เครื่องเสียงของนายอาเล็กมีปัญหา จึงทำการเช็กอาการ ทั้งนี้ ยูทูบเบอร์ “ขุนแผนแสนสะท้าน” มาร่วมพูดคุยด้วย

เวลา 16.54 น. นายอาเล็กกล่าวว่า เขาต้องการให้เราลืมประวัติศาสตร์ “ผมก็เพิ่งรู้ว่า วัดแห่งนี้มีความสำคัญมากๆ มากที่สุด เกี่ยวข้องกับการปกครองอย่างมาก”

จากนั้น บรรเลงบทเพลงที่มีเนื้อหากล่าวถึง การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ปลุกคนสู้เพื่อความเป็นธรรม ต่อด้วย เพลง “ปณิธานแห่งเสรีชน” ของ จิ้น กรรมาชน เนื้อหากล่าวถึงการสร้างชาติ ภายใต้รัฐธรรมนูญ และคนทุกคนย่อมมีศักดิ์ศรี

เวลา 17.11 น. นายอาเล็กกล่าวว่า มีเหตุเกิดจากบฎบวรเดช เมื่อ 2476 พลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เมื่อทำการสู้รบตรงนี้ เดือนตุลาคม 2476 โดยพระองค์เจ้าบวรเดช แพ้ บินไปไซง่อน ฝ่ายเราตาย 17 คน มีการสร้างอนุสาวรีย์ขึ้นกลางทุ่งนาบริเวณนี้ ก่อนจะเกิดวัดนี้ เกิดอนุสาวรีย์ปราบกบฎขึ้นมาก่อน เมื่อ 2479 หลังเปลี่ยนแปลงสยาม พระยาพหลบอกว่าเราน่าจะสร้างสถาบันชาติ กับศาสนาให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ด้วยการสร้างวัด โดยปรึกษากับจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นที่มาของการอนุมัติ เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2483 ผ่าน พ.ร.บ. สร้างวัดใช้เวลา 3 ปี เมื่อสร้างเสร็จแล้ว หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ไปอินเดีย นำพระบรมสารีริกธาตุและต้นโพธิ์มา 5 กิ่ง เชื่อมโยงกับการเมืองอย่างไร กล่าวคือ ต้องการให้เป็นอนุสรณ์ เมื่อก่อนชื่อวัดประชาธิปไตย แต่เมื่อมีพระบรมสารีริกธาตุ จึงเป็นวัดพระศรีมหาธาตุ มหาธาตุแปลว่า ธาตุอันยิ่งใหญ่ เพราะอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานเป็นพระประธาน แต่เมื่อคณะราษฎรโดนเหยียบจมดิน ก็เอาพระพุทธสิหิงค์ กลับไปที่เดิม ด้านหลังของผม คือพระบรมมหาเจดีย์ ที่มีกระดูกของปรีดี พระยาพหล และผู้ก่อการคณะราษฎรทั้งหมด กระดูกอยู่ในนี้

จากนั้น นายอาเล็กบรรเลงเพลงที่แต่งสด (improvise) ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ความว่า

“นับแต่ 2475 อุดมการณ์คณะราษฎร์ไม่มีวันตาย วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน กิโลเมตรที่ 18 อนุสรณ์สถานพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ถูกรื้อหายไปจากจอเรดาร์ อนุสาวรีย์ของคนกล้า อยู่ไหนหวา พึงกอบกู้ได้ไหม

วัดพระศรีมหาธาตุมีความสำคัญหลายอย่าง ไม่มีวันตาย แต่ก่อนนั้นชื่อวัดประชาธิปไตย เมื่อนำพระธาตุมาประดิษฐาน จึงเปลี่ยนชื่อใหม่ ให้เป็นวัดพระศรีมหาธาตุ ยังจำไว้เป็นอนุสรณ์สถาน และพุทธศาสนา สงฆ์องค์แรก ชื่อพระยาพหล วัดพระศรีมีความคัญมากล้น ให้บุตรหลานคณะราษฎรทุกคนได้ศึกษา

มาเปิดโปง วัดพระศรีมีความสำคัญ คณะราษฎรยุคเรา เปิดโปงความชั่วช้า บอกเลย เราจะฟื้นฟู ตำนานของวัดพระศรี”

เวลา 17.29 เจ้าหน้าวัดพระศรีมหาธาตุ เข้ามาชี้แจงว่า ไม่สามารถเล่นดนตรีในวัดได้ เนื่องจากเป็นวัดหลวง แต่สามารถเล่นหน้าวัดได้

นายอาเล็กกล่าวว่า เรามาเพื่อให้ลูกหลานรู้ว่า ประวัติศาสตร์เป็นอย่างไร แต่พนักงานอาจจะไม่รู้ ไม่เข้าใจว่า วัดนี้ใครสร้าง สร้างเพื่ออะไร และว่า ปัจุบันมีการบิดเบือนประวัติศาสตร์ ว่าคณะราษฎรชิงสุกก่อนห่าม โดยตนเล่าจากปูมรู้ของตน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image