กฤษฎีกา ไม่ฟัน ที่ดิน 40 ไร่รอบเขา ‘วัดธรรมิการาม’ เป็นธรณีสงฆ์หรือไม่ ชี้ข้อเท็จจริงไม่พอ

“กฤษฎีกา” วินิจฉัย พื้นที่อยู่ในความครอบครองของวัดธรรมมิการามวรวิหารวัด-มีสิทธิกระทำการในที่ธรณีสงฆ์ ปม ที่ดินยอดเขาช่องกระจก ประจวบฯ

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน นายนพดล เภรีฤกษ์ โฆษกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวชี้แจงกรณีมีข่าวว่าสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาเห็นว่าพื้นที่บนยอดเขาช่องกระจก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่มีศาสนสถานถือเป็นธรณีสงฆ์ อยู่ในการครอบครองของวัดธรรมิการาม แต่กรรมการกฤษฎีกายังไม่ได้ชี้ชัดว่าบริเวณรอบภูเขา หรือหน้าศาลากลางจังหวัด มีหน่วยงานใดเป็นผู้รับผิดชอบ ว่า เรื่องที่ปรากฏตามข่าวนั้นเป็นกรณีที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ได้ขอหารือ เรื่อง สิทธิครอบครองพื้นที่บริเวณเขาช่องกระจก โดยมีประเด็นดังต่อไปนี้

1.วัดธรรมิการามได้สิทธิครอบครองพื้นที่บริเวณเขาช่องกระจกตามนัยมาตรา 1367 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และพื้นที่บริเวณเขาช่องกระจกเป็นเขตธรณีสงฆ์ของวัดธรรมมิการามวรวิหารหรือไม่ 2.การที่พื้นที่บริเวณเขาช่องกระจกเป็นเขตธรณีสงฆ์ของวัดธรรมมิการามวรวิหาร วัดย่อมมีสิทธิที่จะทำการหรือยินยอมให้บุคคลหรือนิติบุคคลทำการปรับปรุงพื้นที่ ก่อสร้างถาวรวัตถุใด ๆ จัดกิจกรรม หรือกระทำการใด ๆ ที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย ความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีของประชาชน บริเวณเขาช่องกระจกหรือไม่

นายนพดล กล่าวว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ประเด็นที่หนึ่ง พื้นที่บริเวณยอดเขาช่องกระจกอยู่ในความครอบครองของวัดธรรมมิการามวรวิหาร ที่ดินบริเวณบนยอดเขาช่องกระจกจึงเป็นที่ธรณีสงฆ์ตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช 2484 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในเวลานั้น และมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ประเด็นที่สอง เห็นว่า เมื่อได้วินิจฉัยในประเด็นที่หนึ่งว่าพื้นที่บริเวณยอดเขาช่องกระจกเป็นที่ธรณีสงฆ์ วัดย่อมมีสิทธิที่จะกระทำการในที่ธรณีสงฆ์ดังกล่าวได้ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505

“ในกรณีที่มีประเด็นว่ายังไม่ได้มีการวินิจฉัยโดยชัดเจนบริเวณรอบภูเขาช่องกระจก สำหรับที่ดินเขานอกจากพื้นที่บริเวณยอดเขาที่ได้สร้างศาสนสถานและถาวรวัตถุตามที่วินิจฉัยไปข้างต้น ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 40 ไร่ ปรากฏข้อเท็จจริงตามคำชี้แจงของผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นพื้นที่ลาดชันมาก มีต้นไม้ขึ้นไม่หนาแน่น เป็นเขาตามธรรมชาติและมีฝูงลิงอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) เห็นว่าข้อเท็จจริงยังไม่เพียงพอที่จะวินิจฉัยว่าเป็นที่ธรณีสงฆ์หรือไม่ เพียงใด” นายนพดล กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image