รัฐสภา พร้อมเปิดพื้นที่รับม็อบราษฎร แกนนำประสานมาแล้ว ขอยื่นหนังสือ เชื่อไม่กดดันลงมติ

“เลขาฯ ประธานสภา” เผย รัฐสภา พร้อมเปิดพื้นที่ รับ 5 กลุ่ม “ราษฎรยืนยันดันเพดาน” เชื่อ ไม่กดดันการลงมติ 13 ร่างแก้ไข รธน. ชี้ร่าง รี-โซลูชัน เสนอเข้าสภา ต้องพิจารณาว่าเข้าหลักเกณฑ์หรือไม่

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึงมาตรการความปลอดภัยภายในรัฐสภาสำหรับวันลงมติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ วาระรับหลักการ วันพรุ่งนี้ (24 มิถุนายน) ว่า หลังจากที่มีกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองกว่า 5 กลุ่ม ออกมาประกาศนัดจัดกิจกรรม “ราษฎรยืนยันดันเพดาน” โดยจะเคลื่อนไหวมายังหน้ารัฐสภานั้น ได้รับทราบข้อมูลว่า นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน ได้ประสานมายังรัฐสภาล่วงหน้าแล้ว ซึ่งจุดยืนต้องการยื่นหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เพื่อเรียกร้องให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นฉบับภาคประชาชนแท้จริง โดยคาดว่าจะยื่นหนังสือในช่วงเวลา 13.00 น. ก่อนที่จะมีการหารือเป็นการภายในระหว่างตัวแทนผู้เรียกร้อง ตัวแทนวิปฝ่ายค้าน และตัวแทนวิปรัฐบาล พร้อมกับรับปากว่าจะไม่กดดันการลงมติญัตติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แต่จะชุมนุมอย่างสงบ สันติ โดยหลังจากแสดงเจตจำนงต่อรัฐสภาแล้วก็จะเคลื่อนขบวนกิจกรรมไปยังสกายวอล์ก แยกปทุมวัน ขณะที่การลงมติจากเดิมคาดการณ์ไว้เวลาประมาณ 16.00 น. ก็น่าจะล่าช้าออกไปเล็กน้อยเนื่องจากมีการอภิปรายของสมาชิกจำนวนมาก ส่วนมาตรการความปลอดภัยนอกรั้วรัฐสภา ขอให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายความมั่นคง อย่างไรก็ตามคาดว่าทุกอย่างน่าจะเป็นไปอย่างเรียบร้อย ไม่มีผลกระทบต่อการพิจาณาของรัฐสภาและการเดินทางโดยรอบแต่อย่างใด

นายสมบูรณ์กล่าวต่อว่า ส่วนความกังวลกรณีการนัดรวมตัวจัดกิจกรรมท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ได้รับข้อมูลจากนายจตุภัทร์ว่าจะมีจำนวน 1,000 คนนั้น เชื่อว่าทางกลุ่มย่อมเข้าใจสถานการณ์ดีซึ่งต้องคำนึงภายใต้กฎหมายที่มีอยู่อย่างข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดกำรบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 24) เช่น ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 50 คน การสวมใส่หน้ากาก เว้นระยะห่าง ส่วนกรณีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยกลุ่ม รี-โซลูชัน ที่เป็นการรวมตัวกันของ 4 องค์กร คือ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) กลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า, คณะก้าวหน้า และพรรคก้าวไกล โดยก่อนหน้านี้ได้ประกาศรวบรวมรายชื่อกันอยู่ ซึ่งหากมีการยื่นเข้ามายังรัฐสภาก็ต้องทำตามขั้นตอนคือการพิจารณาว่าเข้าหลักเกณฑ์การยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนการเข้าชื่อของภาคประชาชนอย่างน้อย 50,000 รายชื่อ และสาระสำคัญต้องไม่กระทบต่อรูปแบบการปกครองประเทศ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ รวมถึงต้องเสนอแก้เป็นรายมาตรา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image