บิ๊กตู่ เรียกภาคเอกชนคุย หารือช่วยSMEs “โว”หลายฝ่ายขานรับ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์”

“บิ๊กตู่”ถก 3 สถาบันเอกชน หารือช่วย SMEs ฝ่าวิกฤตโควิด-19 “โว”ภาคเอกชนขานรับ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ขอใช้เป็น โมเดลเปิดกิจกรรมเศรษฐกิจในพื้นที่เป้าหมาย ด้านสมาพันธ์เอสเอ็มอี เสนอ 4 ข้อช่วยแก้หนี้เอ็นพีแอล“ปธ.สภาอุตฯ”แย้ม แนวทางสดใส เล็งปลดล็อก หลักเกณฑ์กู้เงิน- แก้หนี้เสีย คาด เห็นผลในช่วงเปิดประเทศใน120 วัน

เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 23 มิ.ย. ที่ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมมาตรการเศรษฐกิจและแนวทางช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี โดยมีตัวแทนภาครัฐ อาทิ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯและรมว.พลังงาน นาบสุชาติ ชมกลิ่น รมว. แรงงาน นายอนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นายวีระ พงษ์มาลัย ผอ.สำนักส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานคณะอนุกรรมการวิเคราะห์และเสนอแนะมาตรการบริหารเศรษฐกิจศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

ขณะที่ภาคเอกชนประกอบด้วย นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รวมถึงนายผยง ศรีวณิชประธานสมาคมธนาคารไทยและนายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เข้าร่วม

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ทั้งการเพิ่มรายได้และลดต้นทุน เช่น ด้วยการเร่งรัดการใช้จ่ายภาครัฐและกระตุ้นการการบริโภคภายในประเทศผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการเราชนะ คนละครึ่ง ม33 เรารักกัน รวมทั้งเพิ่มวงเงินให้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การจัดให้มีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ผ่าน พรก. Soft Loan โครงการค้ำประกันเงินกู้และสินเชื่อสำหรับกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว รวมทั้งการออกมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ และปรับโครงสร้างหนี้ การลด/เร่งคืนภาษี ให้กับผู้ประกอบการส่งออก และขยายระยะเวลาการยื่นภาษีบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล นอกจากนี้ ยังมีมาตรการสนับสนุนอื่น ๆ อาทิ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการให้บริการ Digital Factoring และกระบวนการสนับสนุน โดยธนาคารแห่งประเทศไทย การออกกฎกระทรวงการคลังกำหนดให้หน่วยงานของรัฐจัดซื้อจัดจ้างจาก SMEs และการออกประกาศคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า กำหนดแนวปฏิบัติทางการค้าที่เป็นธรรม เกี่ยวกับระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้ำ (Credit Term) กรณี SMEs เป็นผู้ขายสินค้าหรือบริการ

Advertisement

“นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ภาคเอกชนถือเป็นพันธมิตรสำคัญของรัฐบาล ในการเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุน SMEs ตามแนวทางและมาตรการของรัฐ โดยเฉพาะการจูงใจให้ SMEs มาจดทะเบียนกับภาครัฐ เพื่อให้เข้าถึงมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ เช่น เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ช่วยเสริมสภาพคล่องและเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบธุรกิจ อาทิ การสนับสนุนให้ได้รับสินเชื่อ/สินเชื่อ Factoring ดอกเบี้ยต่ำ ร่นระยะเวลาการชำระสินเชื่อการค้าแก่ SMEs ที่เป็นผู้ขายให้เร็วขึ้น จับคู่ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพเข้ามาช่วยเหลือและให้ความรู้กับ SMEs ในการพัฒนาทักษะที่สำคัญในการประกอบธุรกิจ”นายอนุชากล่าว

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ได้ขอให้สภาหอการค้าไทยแห่งประเทศไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยหารือร่วมกับสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยเพื่อเพิ่มบทบาทในการสนับสนุน SME ที่สอดรับกับความต้องการของ SME โดยแท้จริงอีกด้วย รวมทั้งสั่งการให้เร่งประชาสัมพันธ์และขยายผลมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชนและการเพิ่มศักยภาพ และสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการ SMEs โดยจะให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามแนวทางที่ได้มีการหารือทันที่ เพราะ SMEs จำนวนมากกำลังประสบปัญหาในทุกวันนี้ ซึ่งหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้ตอบรับแนวทางนโยบายการเปิดประเทศ 120 วัน พร้อมสนับสนุนการฉีดวัคซีนตามแผนเปิดประเทศ และจะใช้ “ภูเก็ตโมเดล” เป็นต้นแบบ ในการจัดทำมาตรการให้สามารถเปิดพื้นที่เศรษฐกิจการค้า การท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดที่มีศักยภาพพร้อมเตรียมธุรกิจที่อยู่ในซัพพลายเชนของการท่องเที่ยว รองรับการเปิดประเทศด้านการท่องเที่ยว อาทิ อาหารและเครื่องดื่ม สินค้าของขวัญของที่ระลึก สินค้าในซัพพลายเชนของโรงแรม ขณะเดียวกัน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้ให้ความมั่นใจว่าจะดูแลและป้องกันสุขภาวะในสถานประกอบการ เพื่อป้องกัน ควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสถานประกอบการและแรงงานด้วย

“โดยหอการค้าไทยได้นำเสนอมาตรการระยะสั้นและวางรากฐานช่วย SMEs ไทย อาทิ การปล่อยสินเชื่อให้ SMEs ผ่านผู้ประกอบการค้าปลีก ปลดล็อคลูกหนี้ที่ติดเครดิตบูโร/NPL เข้าถึงแหล่งเงินทุน ให้รัฐผ่อนคลายกฎระเบียบให้สถาบันทางการเงินมีอิสระในการใช้ดุลยพินิจมากขึ้น ขณะที่ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยนำเสนอมาตรการเร่งด่วนเข้าถึงแหล่งทุนและลดการว่างงาน อาทิ ทั้งการพกต้น-พักดอก-เติมทุน มาตรการสร้างงานสร้างเศรษฐกิจชาติ (Thailand e-Job Platform) เฟรนไซส์ไทย สร้างอาชีพ สร้างเศรษฐกิจไทย กองทุนฟื้นฟู NPLs เพื่อการพัฒนา mSMEs ไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้เสนอ 8 แนวทาง 3 ด้านสำคัญ คือ ด้านการเงิน อาทิ มาตรการสินเชื่อ Supply Chain Factoring โครงการจำนำสต็อกสินค้า ขยายผลมาตรการจาก พรก. Soft Loan เป็นต้น ด้านการตลาด สนับสนุนสินค้า SME ที่ขึ้นทะเบียน Thai SME-GP ของสสว. และด้านการลดค่าใช้จ่าย อาทิ มาตรการ คนละครึ่ง-ภาคSME โครงการ Co-payment ค่าแรงงาน เป็นต้น

ภายหลังการประชุม นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช” ประธานสมาพันธ์ SME ไทย เปิดเผยว่า ขอบคุณรัฐบาลที่เปิดให้ภาคเอกชนและหลายองค์กรเข้าหารือเพื่อรับฟังความคิดเห็นถึงมาตรการในการบรรเทาผลกระทบกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศ ซึ่งขณะที่ทุกฝ่ายพยายามขานรับมาตรการทุกมาตรการอีกทั้งได้รับฟังข้อเสนอแนะของภาคเอกชนที่ได้นำเสนอซึ่งนายกรัฐมนตรีรับทราบถึงประเด็นต่างๆทั้งเรื่องการพักต้นผักดอกแนวทางการตั้งกองทุนในการช่วยเหลือผู้ประกอบการเพื่อพยุงกิจการที่เข้าไม่ถึงสถาบันการเงินรวมทั้งเรื่องของกองทุนเอ็มพีแอลซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบประกอบการเอสเอ็มอีที่ประสบภาวะวิกฤตจากโควิด-19 จะได้กลับฟื้นไม่ตกอยู่ในกับดักทางการเงินหรือเกิดหนี้นอกระบบในระยะยาว

สิ่งที่รัฐกำลังปรับปรุงแก้ไขคือกองทุนประกันสังคม 30,000 ล้านบาทที่นายสุชาติรับไปดำเนินการขนาดนี้อยู่ในระหว่างเสนอการปรับแก้กฎระเบียบต่างๆให้กองทุนดังกล่าวสามารถให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงกองทุนนี้ได้ เป็นการช่วยเสริมสภาพคล่องในเรื่องของปัญหาการจ้างงานนอกจากนี้ยังได้เสนอเรื่องของซอฟต์โลนซึ่งเสนอปรับสี่ประเด็นด้วยกันประกอบด้วย

1.การปรับใช้นิยามของคำว่าเอสเอ็มอีซึ่งขอให้ใช้ตามนิยามของสสว.เพื่อให้เป็นมาตรฐานในการคุยกับสถาบันการเงินรวมถึงการสี่ศาลกับภาครัฐ 2.การแบ่งวงเงิน 25,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนเงินที่เยอะมากจึงอยากให้มีการแบ่งวงเงินช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย รายเล็ก รายกลาง และรายใหญ่ เพื่อจะได้เกิดความชัดเจนในการใช้วงเงิน 3.การตั้งเป้าจำนวนผู้ประกอบการที่จะเข้าถึงแต่ละวงเงิน ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งที่เข้าไม่ถึงวงเงินและแหล่งทุน ไม่รู้จำนวนเงินซึ่งสถาบันและแบงค์ต่างๆจะได้รู้ถึงจำนวนเงินจะไปจัดสรรให้ผู้ประกอบการเท่าไหร่ ธนาคารจะได้มีบรรทัดฐานคนแรกในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ และ4. เสนอหลักเกณฑ์การผ่อนปรนการช่วยเหลือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟโลนให้กับผู้ประกอบการนิติบุคคลที่เสียภาษี พงด. 50 และผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดาที่ต้องเสียภาษี ตาม พงด 90 โดยจะต้องนำผู้ประกอบการเหล่านี้เข้าไปช่วยเหลือในลำดับแรกๆ ส่วนมาตรการพักต้นทั้งดอก จะต้องไปช่วยผู้ประกอบการที่เข้าไม่สามารถถึงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อที่อย่างน้อยจะไม่ได้ก่อหนี้ใหม่ ส่วนหนี้เดิมก็จะได้รับการพักต้นพักดอกโดยไม่โดยไม่คิดดอกเบี้ยเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 6-12 เดือน ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการเหล่านี้มีระยะเวลาฟื้นตัวและเมื่อเศรษฐกิจกลับมาดีใหม่อย่างที่นายกฯได้ประกาศว่า 120 วัน จะนำพาประเทศ ก้าวข้ามโควิด- 19 ซึ่งภาคเอกชนและสมาพันธ์พร้อมสนับสนุนภาครัฐที่จะก้าวพ้นวิกฤตนี้ไปให้ได้

“นายกฯให้ความสำคัญกับทุกแนวทางที่ภาคเศรษฐกิจเสนอขึ้นไป การพูดคุยกันในวันนี้เราควรจะนำเรื่องของกองทุนเข้ามาปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการเพื่อให้เข้าถึงแหล่งทุนและทำมาหากินต่อได้ตามปกติ และได้นำเรียนนายกฯนำร่างพ.ร.บ.กองทุน ออกมาที่น่าจะสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี มากกว่าไปสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมและสิ่งที่สำคัญเรื่องของกองทุนฟื้นฟูเอ็นพีแอลซึ่งนายกฯได้รับพิจารณาช่วยเหลือผู้ประกอบการที่เป็นหนี้เอ็นพีแอล ในระบบปัจจุบันเรามีผู้ประกอบการที่เป็นหนี้เอ็นพีแอล 2 แสน 4 หมื่นล้าน มีผู้ประกอบการที่เป็นไฟเหลืองเดือบจะป็นเอ็นพีแอล 4 แสน 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งก่อนหน้าที่จะเกิดวิกฤตโควิดเรามีเรามีผู้ประกอบการไฟเหลืองมีเพียง 1.7 แสนล้านบาทเท่านั้น”

ขณะที่นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมร่วมกับนายกรัฐมนตรี ว่า นายกฯรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอของทั้ง3สถาบัน โดยนายกฯระบุว่า ได้ปรับแก้ไขตามที่มีข้อเสนอไปแล้ว โดยปัญหาหลักคือเรื่องของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี)รวมทั้งเรื่องการจะแก้ไขหลักเกณฑ์หนี้เสีย และหลักเกณฑ์ในด้านอื่นจะสามารถแก้ไขได้หรือไม่ เพราะหากเป็นกลไกเดิมถึงอย่างไรก็ขออนุมัติไม่ผ่าน จึงต้องแก้กลไกของธนาคารและลดขั้นตอนต่างๆลง เพราะสถานการณ์ตอนนี้ไม่ปกติ นอกจากนั้นหารือว่าจะมีวิธีการให้บริษัทใหญ่ไปช่วยบริษัทขนาดเล็กได้อย่างไร รวมถึงให้สามารถนำใบแจ้งหนี้ไปแสดงเพื่อให้ธนาคารปล่อยกู้ในราคาถูกได้วงเงินเยอะ ต่างจากเดิมที่ดอกเบี้ยแพงแต่ได้เงินน้อย จึงต้องประสานทางธนาคารแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารให้ไปดูในเรื่องนี้ และยังมีอีกหน่วยงานที่ช่วยได้คือธนาคารของรัฐ เนื่องจากธนาคารปกติเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การปล่อยกู้คือจะดูจากโอกาสที่จะทำกำไร เช่น ดูจากของที่เขาวางหลักทรัพย์ จะเพิ่มจำนวนหลักทรัพย์ที่เขามีได้หรือไม่ ซึ่งแนวโน้ม

ผู้สื่อข่าวถามว่าวางกรอบเวลาเรื่องการช่วยเหลือจะกี่เดือนหรือกี่วัน นายสุพันธุ์ กล่าวว่า ยังไม่มี แต่คิดว่าอยู่ในกรอบที่นายกฯวางไว้ 120 วันที่จะเปิดประเทศอยู่แล้ว รีบช่วยในช่วงเวลานี้ พอถึงเวลาเปิดประเทศจะได้มีเงินไหลเข้ามาทำธุรกิจต่อไปได้

เมื่อถามว่าหารือในครั้งนี้มีความหวังที่จะดำเนินการได้กี่เปอร์เซ็นต์ นายสุพันธุ์ กล่าวว่า การที่นายกฯเรียกประชุมเอง ก็เป็นหนทางที่สดใส แต่ยังไม่กำหนดไทม์ไลน์ที่ชัดเจนออกมาเราต้องติดตามต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image