กมธ.งบ 65 เผย หารือสำนักงานสถิติฯ ช่วยเหลือ ปชช. หลังได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโรคของรัฐ ต้องอยู่บ้านมากขึ้น

กมธ.งบ 65 เผย หารือสำนักงานสถิติฯ ช่วยเหลือ ปชช. หลังได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโรคของรัฐ ต้องอยู่บ้านมากขึ้น

เมื่อเวลา 13.45 น. วันที่ 24 มิถุนายน ที่รัฐสภา น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ และนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 แถลงผลการประชุม กมธ. โดย น.ส.ธีรรัตน์ กล่าวว่า ขณะนี้ กมธ.ได้ใช้เวลาไปแล้ว 11 วัน รวม 86 ชั่วโมง โดยมีหน่วยงานที่ผ่านการพิจารณา 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 3 กองทุน คิดเป็น 11.1% ซึ่งถือว่ามีความล่าช้ากว่ากำหนดการ

โดยเมื่อวานนี้ กมธ.ได้พิจารณางบประมาณหน่วยงานในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่ค้างไว้อีก 4 หน่วยงาน จากทั้งหมด 6 หน่วยงาน และพิจารณางบประมาณในภาพรวมของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสร็จแล้ว ทั้งนี้ ในการพิจารณางบประมาณของสำนักงานสถิติแห่งชาติ กมธ.หารือเกี่ยวกับการช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์โควิด-19 โดยมี กมธ.บางคนได้เสนอแนะว่า หน่วยงานควรสำรวจพฤติกรรมประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ภายใต้การควบคุมโรคของรัฐ ซึ่งทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ต้องทำงานหรือพักอาศัยอยู่ที่บ้านพักมากขึ้น ส่งผลต่อพฤติกรรมทางบวกและทางลบหรือไม่อย่างไร ซึ่งทางสำนักงานสถิติแห่งชาติได้ชี้แจงว่าหน่วยงานจะรับข้อเสนอของ กมธ.ไปดำเนินการสำรวจพฤติกรรมของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อเป็นข้อมูลในการช่วยเหลือประชาชนต่อไป โดยวันนี้จะเป็นการพิจารณางบประมาณหน่วยงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 15 หน่วยงาน

ด้านนายจิรายุกล่าวว่า แม้ว่าหลายกระทรวงจะปรับลดงบประมาณลงแต่เนื้อในการดำเนินการยังเป็นรูปแบบเดิม ไม่ได้ปรับลดตามสถานการณ์โควิด-19 แต่อย่างใด จึงมีข้อสังเกตสำคัญเกี่ยวกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เช่น ค่าธรรมเนียมหรือเงินนอกงบประมาณซึ่งเป็นรายรับสำคัญของกระทรวงมีการทุจริตหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานสำคัญที่ทำงานซับซ้อน เช่น หน่วยงานส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ ซึ่งเป็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ แต่มีหน่วยงานหนึ่งไปขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย คือ องค์การจัดการน้ำเสีย เป็นการทำงานบูรณาการหรือไม่หรือต่างคนต่างทำ และเป็นการใช้งบประมาณซ้ำซ้อนหรือไม่

อีกประเด็นหนึ่งคือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ มีปัญหาในการปฏิรูปกฎหมายหลายฉบับ เช่น ในพื้นที่ทุรกันดารหรือพื้นที่ชายขอบที่ประชาชนถือบัตรประชาชนไทย มีโรงเรียน มีอนามัย มีโรงพยาบาล มีเสาอินเทอร์เน็ต แต่ไม่สามารถเปิดให้บริการได้ เนื่องจากเป็นพื้นที่ของอุทยาน กรมป่าไม้ และเป็นพื้นที่ในเขตลุ่มน้ำ 1 ลุ่มน้ำ 2 หรือแม้กระทั่งเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งที่ประชุ กมธ.ได้ให้ปลัดกระทรวงฯ ชี้แจงข้อมูลเอกสารว่าการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานราชการด้วยกัน เช่น กระทรวงสาธารณสุขมีโรงพยาบาลแตไม่มีไฟ จะรักษายาและวัคซีนอย่างไร โรงเรียนมีครูจากกระทรวงศึกษาธิการไปสอนแต่ไม่มีไฟจะดำเนินการอย่างในข้อกฎหมาย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image