บิ๊กตู่ เคาะ 7 มาตรการช่วยลูกจ้าง-ผู้ประกอบการ หลังประกาศล็อกดาวน์

บิ๊กตู่ เคาะ 7 มาตรการช่วยลูกจ้าง-ผู้ประกอบการ หลังประกาศล็อกดาวน์

จากกรณีศบค.ประกาศมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงกลางดึกของวันที่ 27 มิถุนายน ที่ผ่านมา โดยเฉพาะมาตรการห้ามนั่งรับประทานอาหารในร้านโดยอนุญาตให้ซื้อกลับได้เพียงอย่างเดียว เริ่มวันที่ 28 มิถุนายน โดยมีผลบังคับเป็นเวลา 1 เดือนนั้น

คลิกอ่าน ราชกิจจาฯ ประกาศกลางดึก ‘ล็อกดาวน์’ กทม.-ปริมณฑล 4 จว.ใต้ มีผล 28 มิ.ย.

ล่าสุด พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha ระบุว่า

เรียน พี่น้องประชาชนทุกท่าน

Advertisement

เมื่อวานนี้ (28 มิ.ย. 64) ได้มีการประชุมเพื่อหารือมาตรการเพื่อลดผลกระทบจากประกาศฉบับที่ 25 ของ ศบค. ที่เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนใน 6 จังหวัด โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งที่ประชุมได้นำเสนอมาตรการหลายประการในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน และในวันนี้ (29 มิ.ย. 64) คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบกับมาตรการต่างๆ สำหรับลูกจ้างและผู้ประกอบการในกิจการก่อสร้าง กิจการที่พักแรมและบริการด้านอาหาร กิจกรรมศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ และกิจกรรมบริการด้านอื่นๆ เช่น ร้านนวดและสปา ตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด ซึ่งมีรายละเอียดโดยสรุปดังนี้

1.กลุ่มแรงงานที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 สัญชาติไทย ที่ต้องว่างงานจากการปิดกิจการ จะได้รับเงินเยียวยาในอัตรา 50% ของค่าจ้างรายวัน (สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท)

2.นอกจากนั้น ลูกจ้างสัญชาติไทยในกลุ่มกิจการนี้ จะได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมอีก เป็นจำนวน 2,000 บาทต่อคน

3.สำหรับผู้ประกอบการในกลุ่มกิจการนี้ จะได้รับเงินช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้าง คนละ 3,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 200 คน

4.ส่วนผู้ประกอบการในกิจการดังกล่าว ที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม รัฐบาลก็ไม่ได้ทอดทิ้ง โดยหากเป็นผู้ประกอบการที่มีลูกจ้าง ขอให้มาลงทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมภายในเดือน ก.ค. 64 และจะได้รับเงินช่วยเหลือตามเงื่อนไขข้างต้นเช่นกัน

5.สำหรับผู้ประกอบการที่ไม่มีลูกจ้าง ให้ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ผ่านโครงการคนละครึ่ง ภายในเดือน ก.ค. 64 และจะได้รับเงินช่วยเหลือ 3,000 บาท

6.กรณีผู้ประกอบการในหมวดร้านอาหาร เครื่องดื่ม ของโครงการคนละครึ่ง ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมเนื่องจากไม่มีลูกจ้าง จะได้รับเงินช่วยเหลือ 3,000 บาท

7. สำหรับผู้ประกอบการที่อยู่ในโครงการคนละครึ่งและมีลูกจ้าง แต่ยังไม่อยู่ในระบบ ให้ลงทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมภายในเดือน ก.ค. 64 จะได้รับเงินเช่วยเหลือเช่นเดียวกับผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบเช่นกัน

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นคาดว่าการดำเนินการตามมาตรการให้ความช่วยเหลือในระยะเร่งด่วน จะมีกรอบวงเงินรวมประมาณ 8,500 ล้านบาทที่นำมาช่วยเหลือพี่น้องประชาชน
ส่วนมาตรการให้ความช่วยเหลืออื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 และโครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” จะมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกรกฎาคมไปจนถึงอย่างน้อยสิ้นปีนี้ครับ

นอกจากนี้ รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงาน จะขอความร่วมมือให้สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ประสานกับสมาคมภัตตาคารไทยและร้านอาหาร ในการขอให้ผู้ประกอบการใช้บริการอาหารจากร้านอาหารต่างๆ จากแม่ค้า พ่อค้า ที่ได้รับผลกระทบเพื่อดูแลกลุ่มแรงงานในสถานที่พักอาศัยชั่วคราวสำหรับคนงาน ทั้งภายในและภายนอกสถานที่ก่อสร้างอีกด้วย

ผมขอเรียนด้วยความรู้สึกจากใจว่า ผมมีความเป็นห่วงพี่น้องประชาชนทุกคนที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างยิ่ง ไม่มีวันใดที่ผมจะไม่คิดหาหนทางเพื่อจะช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจกับพี่น้องประชาชนทุกๆ กลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มพ่อค้า แม่ค้า รวมไปถึงผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมทั่วประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งต้องทำไปพร้อมๆกับการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาด ที่รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ของรัฐต่างทุ่มเททำอย่างเต็มที่ในทุกๆ ด้าน และจะเร่งดำเนินการอย่างเร็วที่สุด เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่เกิดขึ้นให้มากที่สุดครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image