กมธ.ท้องถิ่นเสนอผันเงินกู้ 5 แสนล้านให้อปท.เยียวยาปชช.

กมธ.ท้องถิ่นเสนอผันเงินกู้ 5 แสนล้านให้ อปท.เยียวยาปชช. จี้ ศบค. กระจายอำนาจ

เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ที่รัฐสภา นายโกวิทย์ พวงงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังท้องถิ่นไท และนายสฤษฎ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ส.ส.กระบี่ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ สภาผู้แทนราษฎร แถลงถึงข้อเสนอผันเงินกู้ 5 แสนล้านบาท ให้จังหวัดและท้องถิ่นเพื่อช่วยเหลือเยียวยาและช่วยแก้ปัญหาให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

โดยนายโกวิทย์ กล่าวว่า เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรได้เห็นชอบให้กระทรวงการคลังกู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อนำไปใช้จ่ายช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และเพราะการบริหารจัดการเงินกู้ที่ผ่านมาในปี 63 ที่สมาชิกสภาผู้แทนราาฎรได้อนุมัติเงินกู้ไป 1.1 ล้านล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเยียวยา ชดเชยประชาชนกลุ่มอาชีพและกระตุ้นฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นนั้น การบริหารจัดการส่วนใหญ่ศูนย์รวมอำนาจยังมีปัญหาในการบริหารจัดการ ทั้งการอนุมัติโครงการที่รวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง โดยเฉพาะสภาพัฒน์ฯ ทำให้การอนุมัติโครงการและการเบิกจ่ายงบประมาณเป็นไปด้วยความล่าช้า ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย จึงขอเสนอให้รัฐบาล ศบค. และสภาพัฒน์ เปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการใหม่ โดยให้ผันเงินไปให้จังหวัดที่มีคณะกรรมการ ศบค. เป็นผู้บริหารจัดการจัดทำแผนงาน โครงการการใช้จ่าย ทั้งด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยจัดทำข้อมูลการฉีดวัคซีน จัดทำข้อมูลกลุ่มเสี่ยง แผนการคัดกรองการเฝ้าระวัง และจัดทำข้อมูลการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน และกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจรายย่อยที่ได้รับผลกระทบที่ต้องช่วยเหลือ โดยผันเงินให้จังหวัดละ 1 พันล้าน รวม 76 จังหวัด เป็นเงิน 76,000 ล้านบาท

นายโกวิทย์ กล่าวต่อว่า รวมถึงผันเงินให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ท้องถิ่นละ 30 ล้านบาท จำนวน 7,500 แห่ง รวม 225,000 ล้านบาท เพื่อให้ อปท. ไปจัดทำแผนงานจัดทำโครงการ โดยใช้ฐานข้อมูลการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน กลุ่มอาชีพต่างๆ ให้ชัดเจน รวมทั้งวางแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ชัดเจน ทั้งนี้ แนวทางการทำงานให้จังหวัดโดยผู้ว่าราชการจังหวัดในนามของ ศบค. จังหวัด กับอปท. ต้องบูรณาการการทำงาน ซึ่งจะเห็นได้ว่าเงินที่ผันไปนั้นไม่ถึง 3 แสนล้านบาท จากวงเงินกู้ 5 แสนล้าน จึงมีเงินเหลือเพียงพอที่จะทำให้การแก้ไขปัญหาโควิด-19 ให้ประชาชนมีประสิทธิภาพที่ดีกว่า ส่วนรัฐบาลและศบค. รวมทั้งสภาพัฒน์ มีหน้าที่ในการวางนโยบายและติดตามตรวจสอบความโปร่งใส และประเมินผลให้เป็นไปตามแผนงานโครงการที่วางไว้

ด้าน นายสฤษฎ์พงษ์ กล่าวว่า เงินกู้ 5 แสนล้านบาทที่นำมาใช้แก้ไขปัญหาโควิด-19 นั้น วันนี้เราเห็นว่าศบค.บริหารล้มเหลว วันนี้ประกาศล็อกดาวน์ตนไม่เชื่อว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อ 9 พันกว่ารายจะเป็นตัวเลขจริง เพราะตัวเลขจริงน่าจะ 3 เท่าหรือเกินกว่า 3 เท่าด้วยซ้ำ และตนไม่เชื่อว่าการประกาศล็อกดาวน์จะช่วยแก้ไขปัญหาสถานการณ์โควิดได้ หากใช้วิธีการเดิมที่ ศบค.รวมศูนย์อำนาจไว้ในเฉพาะกิจของส่วนกลาง ดังนั้นจึงไม่มีความรู้ในเรื่องท้องถิ่นเลย ขณะนี้ยังไม่มี อปท.ใดที่จะสามารถสั่งซื้อวัคซีนเพื่อไปฉีดให้ประชาชนได้เลย ต้องรอในส่วนกลาง จึงมีความสับสนว่าวัคซีนอยู่ที่ไหน วัคซีนทางเลือกวัคซีนมีกี่ยี่ห้อ รวมถึงความไม่เชื่อมั่นของประชาชนว่าวัคซีนที่รัฐฉีดไปนั้นมียี่ห้อหนึ่งที่ไม่มีผลในการต่อต้านเชื้อโควิด ในขณะที่เชื้อใหม่เข้ามาซึ่งเราก็ยังไม่ได้มีการควบคุม ไม่ว่าจากต่างประเทศก็ดี ทางอากาศก็ดี ทางเรือและทางทะเลแทบไม่มีเลย ทางบกก็ยืดหยุ่นไม่มีการตั้งด่านที่รัดกุม

Advertisement

นายสฤษฎ์พงษ์ กล่าวต่อว่า วันนี้เศรษฐกิจท้องถิ่นทุกจังหวัดเจ๊งหมดแล้ว หาก ศบค.ยังมีประกาศที่หละหลวมในการล็อกดาวน์วันนี้อีก ก็จะยิ่งมีปัญหาล้มเหลว ในอนาคตตนเป็นห่วงว่าการกู้เงิน 7 แสนล้านบาทจะไม่สามารถที่จะมาเติมเต็มในส่วนของงบประมาณ เพราะเศรษฐกิจก็จะทรุดต่อไปอีก ตนเป็นห่วงว่าอาจสูญเสียเงิน 5 แสนล้านบาทโดยไม่มีอะไรเป็นรูปธรรมเลย มิหนำซ้ำเศรษฐกิจแย่ลงและเสียหายต้องไปกู้เงินซ้ำอีก 7 แสนล้านบาทและอาจต้องกู้เพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาทด้วยซ้ำไป จึงขอให้ ศบค.ทบทวนว่าการรวมศูนย์อำนาจไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง ขอให้มีการกระจายอำนาจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image