ครม. จ่อถก 4 ข้อเสนอ กสม. ชงมาตรการ คุ้มครองสิทธิมนุษยชน ชุมนุม เรียกร้องทางการเมือง

 

ครม. จ่อถก 4 ข้อเสนอ กสม. ชงมาตรการ คุ้มครองสิทธิมนุษยชน ชุมนุม เรียกร้องทางการเมือง ของ นร. นิสิต นศ. และปชช.- แนะ เปิดพื้นที่รับความความเห็น – ตั้ง คกก.ปรองดองสมานฉันท์ ระดับประเทศ โดยคนกลาง หวังนำไปสู่ข้อยุติความขัดแย้ง อย่างสันติ โดยเร็ว

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 27 ก.ค. มีการพิจารณาวาระเพื่อทราบถึงข้อเสนอแนะมาตรการและแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีสถานการณ์การชุมนุมและเรียกร้องทางการเมืองของนักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชน โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษย์ชนแห่งชาติ(กสม.)ที่เสนอให้ครม.พิจารณามอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณี สถานการณ์การชุมนุมและเรียกร้องทางการเมืองของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ไปประกอบการพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง

โดยกสม. เห็นว่าเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การพิมพ์ และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น เสรีภาพทางวิชาการ เสรีภาพในการนำเสนอข่าวสาร เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ เป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ได้ รับรองอย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม

Advertisement

การดำเนินการของรัฐบาลที่ผ่านมาแสดงถึงความตระหนักด้านสิทธิมนุษยชนและการใช้ความระมัดระวังในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่เกี่ยวข้องรวมถึงประชาชนที่ได้รับหรืออาจได้รับผลกระทบจากการชุมนุม ดังนั้น เพื่อให้การกำหนดนโยบายและแนวทางดำเนินการของรัฐบาลรวมถึงการปฎิบัติหน้าที่ของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐในการบังคับใช้กฎหมาย ภายใต้สถานการณ์การชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองดังกล่าว กสม. จึงเห็นควรเสนอแนะแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนดังนี้

1. ครม.และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องควรแสดงออกที่ชัดเจนถึงการเคารพเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ควรคำนึงถึงหลักความสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญไทย ที่ระบุว่า”การมีสิทธิเสรีภาพเป็นหลัก การจำกัดตัดสิทธิเสรีภาพเป็นข้อยกเว้น” อย่างเคร่งครัด การบังคับใช้กฎหมายหรือปฎิบัติการใดๆ ควรเป็นไปในแนวทางการเปิดโอกาส ให้มีการใช้สิทธิและเสรีภาพ โดยอาจนำหลักการสำคัญสำหรับการบริหารจัดการการชุมนมอย่างเหมาะสม 10 ประการ ซึ่งจัดทำโดยองค์การสหประชาชาติ มาเป็นแนวทางให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล รวมถึงการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่ไม่ก่อ ให้เกิดความรุนแรงต้องกระทำเท่าที่จำเป็นและอย่างจำกัด

2. ครม.ควรมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องพิจารณาการบังคับใช้กฎหมายตอบผู้จัดการชุมนุม ผู้ชุมนุม ระหว่างการชุมนุมและที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนมให้สอดคล้องตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญไทย ที่ให้ความคุ้มครองเสรีภาพ โดยอาจบังคับใช้กฎหมายเฉพาะว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะเป็นหลัก แทนการใช้กฎหมายอื่นเช่น กฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก กฎหมายว่าด้วยการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง รวมถึงควรทบทวนการบังคับใช้กฎหมายที่อาจเป็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคล และเสรีภาพของสื่อมวลชนในการเสนอข่าวสารหรือแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะการแสดงความคิดเห็นและการเสนอข่าวที่แตกต่างจากความเห็นทางการเมืองของรัฐบาล

Advertisement

3. คณะรัฐมนตรีควร ดำเนินการให้สังคมโดยรวมเชื่อมั่นว่าความคิดเห็นและข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาของผู้ชุมนุมจะได้รับการพิจารณาอย่างจริงจังและไม่ล่าช้า และจัดให้มีพื้นที่และช่องทางในการรับฟัง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างรอบด้าน ทั้งจากผู้ชุมนุมกลุ่มต่างๆ สื่อมวลชน นักวิชาการ และประชาชนทั่วไป

4. กสม. ขอสนับสนุนแนวทางการดำเนินการของครม.และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้มีการสื่อสารต่อสาธารณะให้รับทราบและเข้าใจอย่างชัดแจ้งและต่อเนื่องเกี่ยวกับการดำเนินการดูแลความปลอดภัย และความสงบเรียบร้อยในการชุมนุม โดยควรให้ความสำคัญกับการชี้แจงระบุเหตุผลความจำเป็น และความได้สัดส่วนที่ต้องจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุม และขอสนับสนุนให้มีคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ทั้งในระดับประเทศและระดับจังหวัด เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่ มีส่วนร่วมในกระบวนการแก้ไขปัญหา ด้วยการพูดคุยรับฟังแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยมีคนกลางที่ได้รับการยอมรับทำหน้าที่เป็นผู้ประสานการรับฟัง เพื่อเป็นหลักประกันว่าข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมและทุกฝ่ายจะได้รับฟังร่วมกันพิจารณาหาทางออก นำไปสู่การยุติความขัดแย้งอย่างสันติวิธีโดยเร็ว

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับการสอบถามความเห็นของส่วนราชการนั้น ทางกระทรวงกลาโหมได้ตั้งข้อสังเกตว่า การใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมของนักเรียนนิสิตนักศึกษา และประชาชนที่จะได้รับความคุ้มครองตามหลักสิทธิมนุษยชนจะต้องไม่เป็นการกล่าวหรือการกระทำโดยวิธีการอื่นที่ก้าวร้าว หรือการใช้คำกล่าวที่สร้างความเกลียดชัง อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้อื่น และต้องเป็นการชุมนุมที่สงบโดยปราศจากอาวุธ

ขณะที่ความเห็นของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.)ให้เพิ่มเติมว่า การบังคับใช้กฎหมายต่อกลุ่มผู้ชุมนุมในฐานะเจ้าพนักงานตำรวจ ดำเนินการตามมาตรการต่างๆในการดูแลการชุมนุมที่มีการละเมิดกฎหมาย จะเป็นไปตามสมควรแก่เหตุและยุทธวิธีใช้กำลังเท่าที่จำเป็นของสถานการณ์ตามหลักสัดส่วน โดยวิธีการใดวิธีการหนึ่งหรือหลายวิธีการพร้อมกันให้สอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์ เพื่อป้องกันระงับเหตุ รักสาความสงบเรียบร้อยของประชาชนโดยส่วนรวม และไม่ตัดสิทธิ์ทิเจ้าหน้าที่ในการป้องกันตนเองหรือเพื่อจับกุมผู้กระทำความผิดซึ่งหน้า หากสามารถกระทำได้และไม่เป็นอันตรายต่อตัวเจ้าหน้าที่

ส่วนความเห็นของสมช. ระบุว่ามาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีสถานการณ์การชุมนุมและเรียกร้องทางการเมืองฯ มีรายละเอียดวิธีปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน และต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถรับไปพิจารณาปรับใช้ตามความเหมาะสม โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ความสมดุล ความเป็นกลาง ความเป็นธรรม ต่อทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติและเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน

ส่วนของกรุงเทพมหานคร ให้ความเห็นว่าหลักการสำคัญสำหรับการบริหารจัดการชุมนุมอย่างเหมาะสม 10 ประการเป็นข้อเสนอแนะให้ดำเนินการในขั้นตอนของการตรากฎหมายหรือแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมสาธารณะ เป็นขั้นตอนการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับองค์กรนิติบัญญัติ รัฐบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานที่ให้การสนับสนุน เครื่องมือ วัสดุ อุปกรณ์ บุคลากร ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติร้องขอ ซึ่งไม่อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการตามหลักการชี้แนะ ดังกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image