‘ศิริกัญญา’ ชวนจับตาแปรญัตติตัดงบปี 65 บ่ายนี้ หลัง พปชร.เสนอโยนเข้างบกลาง 1 หมื่นล้าน อ้างแก้ไขโควิด

‘ศิริกัญญา’ ชวนจับตาแปรญัตติตัดงบปี 65 บ่ายนี้ หลัง ‘พปชร.’ เสนอโยนเข้างบกลาง 1 หมื่นล้าน อ้างแก้ไขโควิด กังขาเอื้อเลือกตั้งในอนาคตหรือไม่

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 2 สิงหาคม ที่รัฐสภา น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 แถลงถึงกรณีการแปรญัตติงบประมาณคืนแก่หน่วยงานต่างๆ ในชั้น กมธ. งบปี 65 ว่า ในการประชุม กมธ.งบ เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา ได้มีวาระการประชุมเพื่อลงมติแปรคืนงบประมาณที่ได้ตัดมาจำนวน 16,300 ล้านบาท แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้ต้องมีการนัดประชุมเพื่อลงมติกันอีกครั้งในวันนี้ เวลา 13.30 น. โดยเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม มีการยื่นทั้งหมด 2 ญัตติ ได้แก่ ญัตติของนายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะรองประธาน กมธ.คนที่ 9 เพื่อขอแปรงบประมาณไปที่งบกลาง จำนวน 1 หมื่นล้านบาท ไปอยู่ที่กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น 2,000 ล้านบาท ส่วนงบประมาณที่เหลือก็จะกระจายไปยังสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา สำนักงานอัยการสูงสุด และอื่นๆ

น.ส.ศิริกัญญากล่าวต่อว่า ขณะที่ตนได้เสนอญัตติแปรงบประมาณ 16,300 ล้านบาท ไปยังกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อชดเชยรายได้ภาษีที่ดินที่หายไปจากการลดอัตราภาษีที่ดินปี 63-64 จำนวน 13,200 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะถูกแปรไปที่สำนักงานกองทุนหลักประกันสุขภาพ 860.24 ล้านบาท กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา 631.73 ล้านบาท กองทุนการออมแห่งชาติ 460 ล้านบาท กองทุนฟื้นฟูเกษตรกร 500 ล้านบาท กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี 100 ล้านบาท กองทุนช่วยเหลือเกษตรกร 100 ล้านบาท และกองทุนประกันสังคม 509.61 ล้าน

น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า ญัตติที่ตนตั้งขึ้นนั้นผ่านการเจรจาต่อรองกับ กมธ.ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลจนสามารถมีเสียงจากฝ่ายรัฐบาลมาได้ส่วนหนึ่ง แต่ก็ยังไม่เด็ดขาดมากพอ ทำให้สุดท้ายแล้วการลงมติทั้งสองญัตติถูกเลื่อนมาวันนี้ ขอยืนยันว่าญัตติของนายบุญสิงห์ที่จะมีการแปรงบไปยังงบกลางนั้นมีความไม่ชอบมาพากลและไม่เหมาะสมหลายประการ คือ 1.การจัดสรรงบกลางเพิ่ม 1 หมื่นล้านบาทนั้น แม้จะใช้เหตุผลว่าเพื่อใช้จ่ายแก้ขปัญหา เยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบสถานการณ์โควิด-19 แต่สภาก็เพิ่งอนุมัติ พ.ร.ก. 5 แสนล้านบาท จึงไม่มีความจำเป็นใดที่จะเพิ่มงบกลาง ถึงแม้งบกลางจะใช้จนหมดแล้ว รัฐบาลยังมีเงินสำรองจ่ายอีก 5 หมื่นล้านบาทตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ

น.ส.ศิริกัญญากล่าวด้วยว่า 2.งบกลางเป็นรายการที่มีการตรวจสอบได้ยากมาก เนื่องจากเป็นอำนาจเต็มของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีที่จะอนุมัติงบประมาณโครงการต่างๆ โดยเฉพาะเงินสำรองใช้จ่ายฉุกเฉินจำเป็น ที่ผ่านมาฝ่ายค้านไม่สามารถตรวจสอบงบในส่วนนี้ได้ง่ายนัก ตนขอข้อมูลเรื่องงบกลางจากสำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง หน่วยงานต่างๆ ก็ไม่ได้รับความร่วมมือ แม้แต่สำนักงบประมาณรัฐสภาเองก็ยังมีข้อมูลเพียงแค่เดือนมีนาคม 2564 เท่านั้น

Advertisement

น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า และ 3.หน่วยงานต่างๆ ได้แปรญัตติเพื่อขอเพิ่มงบประมาณวงเงินรวมกว่า 2 แสนล้านบาท มีอีกหลายหน่วยงานที่ขาดงบประมาณในปีนี้ เนื่องจากมีการตั้งงบลดลงจากงบประมาณปีที่แล้วถึง 2 แสนล้านบาท ดังนั้น ยังมีงบประมาณในส่วนอื่นที่สมควรถูกใช้มากกว่าเอาเงินไปลงที่งบกลาง ส่วนที่บอกว่ามีความไม่ชอบมาพากล เนื่องจากมีการตั้งงบกลางสูงถึง 1 พันล้านบาท แต่เมื่อมี กมธ.ส่วนหนึ่งจากพรรคร่วมรัฐบาลที่ไม่เห็นด้วยกับการตั้งงบกลางสูงถึงขนาดนี้ ก็มีการเจรจาต่อรองลดลงถึง 5 พันล้านบาท แสดงให้ว่าไม่มีการกำหนดกฎเกณฑ์ว่าสุดท้ายแล้วงบตรงนี้ควรใช้เท่าไหร่ไปในโครงการใด หรือเป็นเพียงแค่การเตรียมงบประมาณไว้สำหรับการเลือกตั้งในฤดูกาลเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น ขณะเดียวกันก็มี กมธ.ฝ่ายค้านส่วนหนึ่งสนับสนุนญัตติแปรงบ 10,000 ล้านบาทเข้างบกลางด้วยเช่นกัน

“อยากขอให้สื่อมวลชนและประชาชนช่วยจับตาการลงมติในช่วงบ่ายวันนี้ว่า จะลงมติให้เงินที่เหลือจากการตัดงบประมาณไปใส่ไว้ในโครงการของหน่วยงานใดบ้าง ให้ช่วยกันกดดันว่านี่จะเป็นการคืนงบให้กับประชาชนหรือจะเป็นการคืนงบ ตีเช็คเปล่าให้ พล.อ.ประยุทธ์” น.ส.ศิริกัญญากล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image