‘วิโรจน์’ จี้ รัฐบาลเปิดตรวจรง. ‘สยามไบโอไซเอนซ์’ หลังส่งแอสตร้าฯ ไม่ครบ 10 ล้านโดส

(FILES) This file illustration photo taken on March 11, 2021 shows vials of the AstraZeneca Covid-19 vaccine and a syringe in Paris. - The EU's drugs regulator said on March 18, 2021 that the AstraZeneca vaccine was "safe and effective" and was not linked to an increased risk of blood clots. (Photo by JOEL SAGET / AFP)

‘วิโรจน์’ จี้ รัฐบาลเปิดตรวจรง. ‘สยามไบโอไซเอนซ์’ หลังส่งแอสตร้าฯ ไม่ครบ 10 ล้านโดส ข้องใจ เอกสารสัญญาให้ทุน 600 ล้าน ไม่ระบุ ‘ส่งมอบไทยก่อน’ ขัดแย้ง หนังสือกก.กลั่นกรองขอเงินกู้ไปใช้

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ที่ทำการพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ย่านหัวหมาก นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก.ก. เเถลงถึงกรณีเอกสารสัญญาให้งบประมาณสนับสนุน 600 ล้านบาท ระหว่างรัฐบาลไทย-สยามไบโอไซเอนซ์ ว่า จากข้อมูลเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 เว็บไซต์สำนักสารนิเทศสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุ ถึงยอดการรับมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจากบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย และยอดที่ได้รับมาจากเเหล่งอื่นๆ ณ วันที่ 16 กรกฎาคม จำนวนทั้งสิ้น 8,193,500 โดส แต่หากไม่รวมวัคซีนที่บริจาคจากประเทศญี่ปุ่น จำนวนวัคซีนที่รัฐบาลได้รับคือ 7,140,500 โดส (ยอดการรับบริจาคจากญี่ปุ่นมี 2,704,100 โดส)

นายวิโรจน์ กล่าวว่า ทั้งนี้ จากข่าวเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ทางแอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย ได้ชี้แจงโดยกล่าวถึงข้อจำกัดการขาดเเคลนวัตถุดิบที่จะทำให้สามารถส่งมอบวัคซีนให้กับรัฐบาลไทยได้เพียงประมาณ 5-6 ล้านโดสต่อเดือน นอกจากนี้ยังระบุว่า แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทยได้ส่งมอบวัคซีนให้กับกระทรวงสาธารณสุขหรือรัฐบาลไทยไปเเล้ว 9,000,000 โดส อย่างไรก็ตาม ยอดนี้มีข้อสังเกตว่า ผลิตโดยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ทั้งหมด หรือเป็นยอดที่นับรวมกับยอดที่ได้รับบริจาคจากประเทศญี่ปุ่นไปด้วย ซึ่งหาก 9,000,000 โดส เป็นยอดที่ได้รับการผลิตมาจากบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์เท่านั้น ณ วันที่ 24 กรกฎาคม ก็หมายถึงมีการส่งมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เพิ่มเติมอีก 1,895,900 โดส และจากข่าวล่าสุดเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ทางแอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย ได้ชี้แจงเเละระบุว่า ได้ส่งมอบวัคซีนอีก 2.3 ล้านโดสเสร็จสิ้นเเล้ว ในเดือนกรกฎาคม

“เท่ากับว่า รัฐบาลไทยหรือกระทรวงสาธารณสุข ได้รับมอบวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย ในเดือนกรกฎาคม ทั้งสิ้น 5,810,600 โดส แต่ถ้าในจำนวนนี้มีวัคซีนที่ได้รับบริจาคจากประเทศญี่ปุ่นที่ประมาณ 1 ล้านโดสเศษ จะเท่ากับว่า จะได้รับวัคซีนที่ผลิตโดยสยามไบโอไซเอนซ์ที่ส่งต่อมาจากแอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทยจำนวน 4,757,600 โดส หรือยอดเคลื่อนไหวอยู่ระหว่างประมาณ 5-6 ล้านโดส อย่างไรก็ตาม ยอดการส่งมอบวัคซีนในเดือนกรกฎาคมไม่ถึง 10 ล้านโดสเเน่นอน ตัวเลขทั้งหมดนี้เป็นการประเมินเพียงคร่าวๆ จากข่าวที่ปรากฏเท่านั้น เหตุผลเพราะในปัจจุบันนี้ระบบติดตามการตรวจสอบย้อนกลับโซ่ความเย็นวัคซีนโควิด-19 ที่พัฒนาโดยกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ได้ปิดไม่ให้ประชาชนทั่วไปเข้าไปติดตามข้อมูลการตรวจสอบส่งมอบวัคซีนและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสต็อควัคซีน จึงไม่สามารถตรวจสอบได้ ข้อมูลการส่งมอบยังคงต้องติดตามจากข่าวที่รายงานจากสื่อมวลชนเป็นหลัก” นายวิโรจน์ กล่าว

นายวิโรจน์ กล่าวต่อไปว่า เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม โฆษกรัฐบาลได้ชี้เเจงผ่านรายการแจงให้เคลียร์ โดยชี้เเจงชัดว่า บริษัทสยามไบโอไซเอนจำกัด เป็นเพียงบริษัทที่รับจ้างผลิตวัคซีนให้กับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทยเท่านั้น เเละระบุว่า รัฐบาลไม่มีอำนาจไปบังคับให้มีการส่งมอบวัคซีนที่มีการผลิตโดยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ให้กับประชาชนคนไทยก่อน ในประเด็นนี้ตนคิดว่าประชาชนต้องตั้งข้อสังเกตเเละหาคำตอบร่วมกัน รวมถึงต้องกดดันให้รัฐบาลออกมาชี้เเจงเรื่องนี้ให้มีความชัดเจนกว่านี้

Advertisement

นายวิโรจน์ กล่าวว่า ขอยืนยันว่า สยามไบโอไซเอนซ์ไม่ได้เป็นอิสระ สัญญาระหว่างรัฐบาลไทยเเละแอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย และต้องย้อนกลับไปดูว่า เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2563 ตามหนังสือที่ นร.106/คนกง. ของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ระบุอย่างชัดเจนว่า “เพื่อให้ประเทศไทยได้รับสิทธิ์ในการจัดซื้อวัคซีนที่ผลิตโดยผู้ผลิตในไทยเป็นอันดับแรกตามจำนวนที่ต้องการ และมีเงื่อนไขที่จะจำกัดการส่งออกได้ด้วย และเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ได้มีมติคณะรัฐมนตรี อุดหนุนวงเงินดังกล่าวนี้ เพื่ออุดหนุนบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ประชาชนจึงต้องร่วมกันตั้งคำถามว่า เหตุใดรัฐบาลไทยจึงไม่สามารถจำกัดสิทธิการส่งออกและขอใช้สิทธิในการซื้อวัคซีนที่ผลิตโดยสยามไบโอไซเอนซ์ จากแอสตราเซนเนกาประเทศไทยได้ก่อน ตามเงื่อนไขที่ได้อุดหนุนเงิน 600 ล้านบาทที่เป็นเงินแผ่นดินเเละเป็นเงินภาษีประชาชน

“วันนี้พรรคก.ก. จะเปิดสัญญารับทุนอุดหนุนโครงการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการผลิตวัคซีนโควิด-19 ให้กับบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด เท่าที่ได้อ่านในสัญญา เนื้อความไม่มีเงื่อนไขใดที่ระบุว่าวัคซีนที่ผลิตโดยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์และการส่งมอบต่อให้กับแอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย จะต้องส่งมอบให้กับรัฐบาลไทยหรือกระทรวงสาธารณสุขก่อน หรือต้องส่งมอบตามที่กระทรวงสาธารณสุขเเจ้งตามตัวเลขที่ได้รับสิทธิ์ในการสั่งซื้อเป็นอันดับแรกก่อน สัญญารับทุนอุดหนุนไม่มีข้อความนี้ อาจจะอยู่ในข้อความสัญญาที่ถมดำหรืออยู่ในส่วนใดก็ได้ แต่รัฐบาลจะต้องมีหน้าชี้เเจงว่าข้อความนี้คือเงื่อนไขการจำกัดการส่งออกและเงื่อนไขในการสั่งซื้อเป็นอันดับเเรกตามความต้องการหรือไม่ ถ้าไม่มี อนุมัติอุดหนุนดงอน 600 ล้านบาทให้กับบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ได้อย่างไร ภายใต้เงื่อนไขอะไร” นายวิโรจน์ กล่าว

นายวิโรจน์ กล่าวว่า ในสัญญารับทุนอุดหนุน ข้อ 8.6 ระบุไว้ชัดเจนว่า ผู้รับทุนยินยอมและอำนวยความสะดวกให้ผู้ให้ทุนหรือผู้ที่ให้ทุนมอบหมายเข้าไปในสถานที่ทำการของผู้รับทุน หรือสถานที่ดำเนินการโครงการได้ในเวลาอันควร เพื่อประโยชน์ในการติดตามเเละประเมินผลงานตามโครงการได้ ดังนั้น ภายใต้สัญญาอุดหนุน 600 ล้านบาท และความในข้อ 8.6 จึงคิดว่าท่ามกลางความกังวลของประชาชนเกี่ยวกับการผลิตวัคซีนของสยามไบโอโซเอนซ์ที่ส่งมอบได้ไม่ครบ 10 ล้านโดสต่อเดือนเช่นนี้ มีปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบอย่างไร มีปัญหาการผลิตหรือไม่ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลใช้ ข้อ 8.6 ตามสัญญารับทุน โดยให้ คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฏร เเละสื่อมวลชน เข้าไปติดตามตรวจสอบการผลิตในสถานที่ทำการการผลิตของบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งจะเป็นความโปร่งใสที่รัฐบาลจะทำให้ประชาชนมีความสบายใจขึ้นมาได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image