“ไพบูลย์” เผย แก้กม.ลูก 2 ฉบับ ปรับค่าบำรุงพรรคเป็นตลอดชีพ-ปลดล็อคคัดเลือกผู้สมัครแบบไพรมารี่โหวต

“ไพบูลย์” เผย แก้กม.ลูก 2 ฉบับ ปรับค่าบำรุงพรรคเป็นตลอดชีพ-ปลดล็อคคัดเลือกผู้สมัครแบบไพรมารี่โหวต แจง พปชร. มีตัวแทน 350 เขต ไม่มีปัญหาหากเพิ่มตัวแทนพรรคในเขตเลือกตั้งที่เพิ่มขึ้น

เมื่อวันที่ 20 กันยายน นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกฎหมายและข้อบังคับพรรค พปชร. กล่าวถึงการเตรียมพร้อมยกร่างแก้ไขร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) จำนวน 2 ฉบับ คือ ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง และร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.​ให้สอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข มาตรา 83 และมาตรา 91ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง ว่า มีประเด็นที่จะเสนอแก้ไขแล้วแต่ยังต้องรอหารือกับคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณารายละเอียดอีกครั้ง โดยประเด็นที่จะแก้ไขในร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง จะปรับการชำระค่าบำรุงพรรคของสมาชิกพรรค ให้เป็นครั้งเดียวตลอดชีพ ปรับแก้ไขในการเลือกตั้งขั้นต้นเพื่อหาผู้สมัคร ส.ส. หรือไพรมารี่โหวต โดยจะนำความของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 13/2561 เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) มาบัญญัติแทนเพื่อให้การคัดเลือกผู้สมัคร เป็นไปตามกระบวนการของพรรคการเมือง เมื่อครั้งเลือกตั้งปี 2562

นายไพบูลย์ กล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. มีประเด็นที่ต้องพิจารณาด้วย คือ ข้อกำหนดให้มีตัวแทนพรรคประจำจังหวัด เดิมพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองกำหนดให้มีตัวแทนประจำจังหวัดในเขตเลือกตั้งจึงจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ กล่าวคือ หากจะส่งส.ส.ลงทุก 400 เขตต้องมีตัวแทนพรรค ที่ประกอบด้วยสมาชิกพรรค อย่างน้อย 100 คนทุกเขต เบื้องต้นจะไม่เสนอแก้ไข แต่มีรายละเอียดพิจารณาว่าตามคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 13/2561 กำหนดให้มีตัวแทนพรรคประจำจังหวัดใด ในจังหวัดนั้นสามารถส่งผู้แทนลงทุกเขตเลือกตั้งได้เหมือนกับการเลือกตั้งปี 2562 ทั้งนี้ประเด็นตัวแทนพรรคประจำเขตนั้น ยังไม่ฟันธงว่าจะเลือกรูปแบบใด แต่ขณะนี้พรรคพลังประชารัฐมีตัวแทนพรรคประจำเขตเลือกตั้งทุก 350 เขตแล้ว จึงไม่มีปัญหาหากจะเพิ่มตัวแทนพรรคในเขตเลือกตั้งที่เพิ่มขึ้น

เมื่อถามถึงการปรับเนื้อหาของการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่มีข้อเสนอให้เขียนแบบส.ส.พึงมี หรือ MMP นายไพบูลย์ กล่าวว่า ในแนวทางจะใช้เหมือนกับการเลือกตั้งปี 2554 ที่กำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำที่ 1% โดยนำคะแนนเฉลี่ยของบัตรบัญชีรายชื่อของทุกพรรครวมกันทั้งประเทศมาคำนวณหาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่แต่ละพรรคได้รับ เช่น การเลือกตั้งปี 2554 คะแนนพรรค ได้รวม 3.5 ล้านคะแนน หากคิดฐาน 1% จะเท่ากับ 3.5 แสนคะแนน ถือเป็นคะแนนที่นำมาคำนวณเป็นส.ส.พึงมีของแต่ละพรรค หากพรรคใดได้คะแนนต่ำกว่า 3.5 แสนคะแนน จะไม่ได้ส.ส.บัญชีรายชื่อ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image