กมธ.ศาลฯ จ่อยื่นนายกฯ ใช้งบกลาง ตั้งระบบอิเล็กทรอนิกส์ แก้ปัญหาพิจารณาคดีช่วงโควิด

“กมธ.ศาลฯ” จ่อยื่น “ประยุทธ์” ใช้งบกลาง ตั้งระบบอิเล็กทรอนิกส์แก้ปัญหาพิจารณาคดีช่วงโควิด “จิรายุ” เหน็บความล่าช้าคือความไม่ยุติธรรม เสนอหาวัคซีนให้ด่านหน้ากระบวนการยุติธรรม ด้าน “สงวน” ชวน ปชช.จับตา “คลัง” เข้าแจงการใช้เงินหรือไม่

เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 23 กันยายน ที่รัฐสภา นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชนและกองทุน สภาผู้แทนราษฎร นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะรองประธาน กมธ. นายสงวน พงษ์มณี ส.ส.ลำพูน พรรคเพื่อไทย (พท.) และคณะ ร่วมแถลงผลการประชุม กมธ. เพื่อพิจารณาแนวทางการแก้ไขเรื่องการสอบพยานของจำเลยหรือผู้ถูกคุมขังผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อลดขั้นตอนและเวลาอิสระภาพของจำเลยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด

โดย นายจิรายุ กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์โควิด ทำให้ผู้ต้องขัง นักโทษและผู้ต้องคดี ตั้งแต่คดีแพ่ง คดีอาญาจนถึงคดีทางปกครองไม่ได้รับความยุติธรรม โดยมีประเด็นความล่าช้าคือความไม่ยุติธรรม เนื่องจากผู้ต้องขังและจำเลยในคดีต่างๆ ไม่สามารถเดินทางไปที่ศาลยุติธรรมเพื่อพิจารณาคดีในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา วันนี้ กมธ. ได้เชิญตัวแทนจากสำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานศาลปกครอง สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) กรมราชทัณฑ์ สภาทนายความ และสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อพิจารณาใช้งบประมาณแผ่นดิน

Advertisement

จากการสอบถามพบว่าส่วนใหญ่ติดขัดในเรื่องระเบียบในการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งผู้ต้องขังบางคนอยู่คนละที่กับทนายและผู้พิพากษา ทำให้การซักพยาน ทั้งจำเลยและโจทก์มีปัญหาเพราะยังไม่มีกฎระเบียบรองรับ ผู้แทนจากสำนักงานศาลยุติธรรมได้เสนอว่าให้จัดทำห้องพิเศษลักษณะเป็นกระจกกั้นระหว่างผู้พิพากษากับทนายจำเลย ทนายโจทก์ พนักงานอัยการ จำเลย และผู้ต้องขังคดีต่างๆ ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก แต่ในที่ประชุมกมธ.ก็ยังหาข้อยุติไม่ได้ เนื่องจากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินฯ มีอยู่ 2 ส่วนสำคัญ ตามมาตรา 5 (2) ที่พูดถึงการแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ ที่จะใช้เงินประมาณ 3 แสนล้านบาท และ (3) ที่พูดถึงการเยียวยา การกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ อยู่ในเงินประมาณ 1.7 แสนล้านบาท ซึ่งในขณะนี้ก็ทราบว่ารัฐบาลยังใช้เงินกู้ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์และครบถ้วนเท่าไรนัก

นายจิรายุ กล่าวต่อว่า กมธ.จะรวบรวมข้อมูลเสนอต่อสภาพัฒน์ฯ เพื่อจัดสรรงบพิเศษให้กับกระบวนการยุติธรรมเพื่อแก้ไขปัญหาโควิดในขณะนี้ เพื่อให้คดีสามารถเดินหน้าไปได้ ซึ่งวันนี้สภาพัฒน์ฯ ก็พยายามจะอธิบายว่าอาจจะใช้ในมาตรา 5 (2) และ (3) ไม่ได้ แต่สามารถใช้งบกลางได้ ทั้งนี้ กมธ.จึงมีความเห็นว่าจะนำเรื่องนี้ส่งตรงไปให้นายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาใช้งบกลางเยียวยาและติดตั้งระบบในการแก้ไขปัญหาในการพิจารณาคดี ตั้งแต่ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา ศาลแพ่ง ศาลปกครองและศาลอาญา เพื่อให้ผู้ต้องขัง นักโทษในเรือนจำ รวมถึงจำเลยในคดีนั้นมีโอกาสต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม

โดยการจัดซื้ออุปกรณ์และวัคซีนให้กับบุคลากรด่านหน้าที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม และขอให้วางแผนระยะยาวที่จะใช้อิเล็กทรอนิกส์เข้ามา เนื่องจากเอกสารในอรรถคดีมีจำนวนมากจะต้องใช้ไอคลาวด์ของระดับชาติ จึงขอเรียกร้องไปยังกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ช่วยพิจารณาเรื่องนี้ด้วย เนื่องจากศาลยุติธรรมระบุว่าหากมีระบบนี้ ข้อมูลต่างๆ ก็จะรวบรวมและแชร์ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงขอให้ใช้งบประมาณกลางอย่างเร่งด่วน

Advertisement

ด้าน นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า นอกจากนี้ เรื่องการพัฒนาบุคลากร หลายหน่วยงานยังมีข้อจำกัดทั้งเชิงเทคนิค เชิงความรู้และความเข้าใจ แม้จะมีความพยายามในการอบรมต่างๆ แต่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงตลอด จึงเป็นอีกอุปสรรคหนึ่ง เราไม่ได้หมายความว่าการเดินหน้าในสถานการณ์โควิดและใช้ระบบการดำเนินคดีทางอิเล็กทรอนิกส์จะตอบทุกคำถามในการอำนวยความยุติธรรมได้ เพราะตัวแทนจากหน่วยงานที่เข้ามาพูดคุยกับ กมธ.ในวันนี้พูดว่า ระบบยังต้องรองรับสำหรับคนที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ เราไม่ได้เอาอิเล็กทรอนิกส์มาเป็นตัวกำหนดการอำนวยความยุติธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีและตรงกับที่กมธ.พิจารณา ทั้งนี้ กมธ.จะขอให้แต่ละหน่วยงานส่งรายงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาว่ายังติดขัดตรงไหนและต้องการสนับสนุนเรื่องใดบ้าง

ขณะที่ นายสงวน กล่าวว่า ผลกระทบของโควิดทำให้การพิจารณาคดีล่าช้า แต่สิ่งที่น่าสังเกตคือรัฐบาลกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และอีก 5 แสนล้านบาท ไม่มีตรงไหนเลยที่จะมาเยียวยาในส่วนนี้ และในงบกลาง 1.63 หมื่นล้านบาท เขียนไว้ชัดเจนว่าจะนำมาแก้ปัญหาโควิด วันนี้จึงมีคำถามว่า กระทรวงการคลัง ในเดือน ตุลาคม-พฤศจิกายนของทุกปี ต้องมาชี้แจงการใช้เงินต่อสภาฯ ตอนปี 2563 ไม่ได้ทำ ซึ่งปี 2564 ก็คงจะไม่ทำ จึงทำให้เกิดกระบวนการของกมธ.ศาล เพื่อให้หน่วยงานที่เดือดร้อนจากโควิดมาชี้แจง ขอเชิญชวนประชาชนติดตามว่ากระทรวงการคลังจะมาชี้แจงเรื่องการใช้เงินหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image