เปิดบันทึก 6ตุลา ส่อง ‘9 ฝ่าย’ ในขบวนการเคลื่อนไหว ที่ใกล้เคียงปัจจุบัน

เปิดบันทึก 6 ตุลา ส่อง ‘9 ฝ่าย’ ในขบวนการเคลื่อนไหว ที่ใกล้เคียงปัจจุบัน

เมื่อวันที่ 23 กันยายน แฟนเพจ “บันทึก 6 ตุลา – Documentation of Oct 6” ได้เผยแพร่ข้อเขียน เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เรื่อง “แบ่งฝ่ายไม่แบ่งฝั่ง
สำรวจการทำงานของแต่ละฝ่ายในขบวนการเคลื่อนไหว ช่วงปี 2516-2519″ ซึ่งมีรายละเอียดคล้ายกับแนวทางการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน ความว่า

ขึ้นชื่อว่าขบวนการเคลื่อนไหว ก่อนเคลื่อน ระหว่างเคลื่อน และหลังเคลื่อนแต่ละครั้งย่อมมีอะไรหลายอย่างให้เตรียมการและจัดการ การเคลื่อนไหวแต่ละครั้งจึงเต็มไปด้วยความร่วมมือของคนมหาศาลอยู่ในนั้น

ไปดูกันว่าขบวนการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยตลอดทั้ง 3 ปี ในวันวานที่เทคโนโลยียังไม่ก้าวหน้าแบบทุกวันนี้ มีการแบ่งฝ่ายทำงานกันประมาณไหน และมีอะไรใกล้เคียงปัจจุบันบ้าง

แปะดอกจันหมายเหตุไว้ว่า การแบ่งฝ่ายตามโพสต์นี้แบ่งกลุ่มแบบหลวมๆ ตามลักษณะงาน เพื่อเล่าให้เห็นภาพรวมในช่วงปี 2516-2519 โดยไม่ได้อ้างอิงแบบเจาะจงตามโครงสร้างศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) หรือตามองค์การใดองค์การหนึ่งโดยเฉพาะ

Advertisement

หากพี่ๆ ที่เคลื่อนไหวในช่วงนั้นผ่านมาเห็น มีเรื่องการทำงานของฝ่ายไหนเพิ่มเติม เราขอชวนมาเล่าสู่กันฟัง
#5ตุลาตะวันจะมาเมื่อฟ้าสาง

1. ฝ่ายติดโปสเตอร์

Advertisement

เพราะยังไม่มีทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก เทเลแกรม หรือโซเชียลมีเดียไหนๆ จะเคลื่อนไหว หรือมีกิจกรรมอะไรกันทีหนึ่งนั้น การประชาสัมพันธ์ส่วนใหญ่จึงทำผ่านโปสเตอร์

โปสเตอร์จะติดในที่สาธารณะ ผู้ทำหน้าที่นี้ต้องเลือกตำแหน่งที่เหมาะสม ต้องสะดุดตาและอยู่ในระดับสายตาพอดีคนถึงจะสังเกตเห็นได้ง่าย ฝ่ายนี้จึงมักทำงานกะดึกเพื่อให้ปลอดการขัดขวาง ส่วนใหญ่ทำกันตั้งแต่เที่ยงคืนยาวจนเกือบสว่าง บางครั้งก็ดักรอที่ป้ายรถเมล์ พอรถเข้าป้ายก็รูดติดที่ตัวรถในเวลาอันรวดเร็ว รถเมล์จึงเป็นป้ายโฆษณาเคลื่อนที่วิ่งไปทั่วเมืองด้วย

ฝ่ายนี้ใช้ทรัพยากรบุคคลสูง กระจายกันไปเป็นสายแบ่งตามโซนพื้นที่ แต่ละสายต้องมีทั้งคนขับรถ คนหิ้วถังกาวที่กวนจากแป้งเปียก คนป้ายกาว และคนแปะ ซึ่งความชำนาญก็จะสะท้อนผ่านผลงานด้วย ใครมือโปรก็จะแปะได้ตึง สวยงาม หากใครยังไม่คล่องโปสเตอร์ก็จะยับยู่ยี่หน่อย

แม้จะดูเป็นการทำงานหลังบ้าน แต่ฝ่ายนี้ก็ต้องระมัดระวังตัวกันไม่น้อย เพราะระยะหลังมีกลุ่มกระทิงแดงมาคอยขัดอยู่เรื่อยๆ นอกจากโฟกัสกับการติดโปสเตอร์แล้ว ผู้ปฏิบัติงานยังต้องคอยสังเกตและคอยหลบด้วยว่ามีกลุ่มกระทิงแดงอยู่แถวนั้นหรือเปล่า หากสถานการณ์ดูไม่ดีก็ต้องรีบกลับ

สำนักงานใหญ่ของฝ่ายติดโปสเตอร์อยู่ที่ใต้ตึกสันทนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งใช้เป็นแหล่งผลิตและกวนกาวแป้งเปียก โดยกลุ่มที่รับผิดชอบหลักคือ ศูนย์กลางนักเรียนฯ

กับการเคลื่อนไหวบางเรื่อง การติดโปสเตอร์จะไปไกลกว่าในรั้วมหาวิทยาลัยและในกรุงเทพฯ โดยจะขยายวงไปสู่องค์กรต่างๆ ด้านสหภาพแรงงานก็เข้ามาช่วยด้วย อย่างกรณีสองช่างไฟฟ้าที่ถูกนำไปแขวนคอที่ประตูแดง นครปฐม เรื่องราวน่าสลดนี้ก็เกิดขึ้นหลังจากทั้งสองไปติดโปสเตอร์ต่อต้านจอมพลถนอมที่กลับเข้ามาไทยในเดือนกันยายน 2519

 

2. ฝ่ายออกแบบโปสเตอร์

ฝ่ายติดโปสเตอร์ไม่ได้ทำงานเพียงลำพัง แต่จะคลุกคลีกับคนที่ทำหน้าที่เหมือนฝ่ายโปรดักชั่น ทั้งออกแบบ ทั้งคิดคำขวัญ ซึ่งคนออกแบบมีทั้งแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย เด็กศิลปากร และศิลปิน คนออกแบบจะได้รับบรีฟว่าจะเคลื่อนไหวเรื่องอะไรก่อนลงมือดราฟต์ภาพ

สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย หนึ่งในศิลปินที่ทำงานออกแบบได้แชร์เทคนิคการออกแบบในตอนนั้นไว้ว่า การออกแบบต้องนึกถึงผู้รับสาร

“เวลาคนนั่งรถเมล์ผ่านโปสเตอร์ที่ติดไว้ เห็นปุ๊บจะต้องเข้าใจได้เลยว่าจะทำอะไรกัน ทำเมื่อไหร่ จัดที่ไหน ทำไมถึงทำ”

เวลาที่ใช้ในการออกแบบแตกต่างกันไปในแต่ละงานตามวาระและความเร่ง บางงานก็ต้องทำให้เสร็จภายในวันเดียว อย่างเช่นงานเกี่ยวกับกรรมกรโรงงานฮาร่า ออกแบบเสร็จปุ๊บก็ต้องรีบส่งโรงพิมพ์ ก่อนที่ฝ่ายติดโปสเตอร์จะทำหน้าที่กระจายผลงานออกไปให้เร็วที่สุด

 

3. ทีมเคาะประตู

ทีมเคาะประตูมีหน้าที่ตามชื่อเรียก คือการเดินเคาะประตูตามบ้านเรือนประชาชน เพื่อส่งสารบางอย่างแบบปากต่อปาก

แต่ละช่วงของการเคลื่อนไหวทีมเคาะประตูก็มีสารที่จะต้องสื่อแตกต่างกันไป ตั้งแต่ข่าวประชาสัมพันธ์ว่าจะมีการชุมนุม ไปจนถึงการเคาะเพื่อบอกข้อเท็จจริงจากฝั่งผู้ชุมนุมที่มักต่างออกไปจากในหน้าสื่อ

หมอมิ้ง–พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เล่าว่าคนเคาะประตูส่วนใหญ่เป็นเด็กรามคำแหง เพราะเด็กรามฯ มีกันเยอะ งานนี้ต้องใช้กำลังคนมาก ออกเคาะประตูกันแต่ละทีใช้ทีมราว 200-300 คนเลยทีเดียว

 

4. หน่วยพยาบาลเพื่อมวลชน (พมช.)

บาดแผลและอาการบาดเจ็บต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการชุมนุมก็จะมีหน่วยพยาบาลเพื่อมวลชนคอยดูแล

การทำงานของ พมช.ครอบคลุมตั้งแต่การระดมหาอุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างสำลี แอลกอฮอล์ แอมโมเนีย บางครั้งก็ขอจากวอร์ดต่างๆ มา โดยสมาชิกของ พมช.ประกอบไปด้วยนักเรียนแพทย์ นักเรียนพยาบาล นักเรียนสาธารณสุข ไปจนถึงนักเรียนเภสัชกรจากมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นหลัก เพราะนักศึกษามหิดลเป็นตัวตั้งตัวตีในการก่อตั้ง พมช.ขึ้นมา โดยต่อยอดมาจากหน่วยพยาบาลเล็กๆ ที่เริ่มทำงานกันตั้งแต่ช่วง 14 ตุลาฯ

จะการชุมนุมไหน หรือเวทีใด พมช.ก็จะคอยสแตนด์บายเสมอ โดยมีสัญลักษณ์ให้คนสังเกตเห็นไม่ยากเป็นปลอกแขนมีกากบาทแดงบนพื้นขาว คล้ายๆ กับที่ใช้กันในปัจจุบัน

 

5. ฝ่ายรักษาความปลอดภัย

กลุ่มคนที่ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยมีหลายส่วน และแตกต่างกันไปตามช่วงเวลา เช่น ถ้าย้อนไปในช่วง 14 ตุลาฯ การ์ดอาชีวะจะรับหน้าที่นี้เป็นหลัก คอยคุ้มกันขบวนเมื่อมีการเคลื่อนที่ไปตามจุดต่างๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไปการก่อกวนเริ่มเกิดขึ้นทุกที่ ประกอบกับขบวนการนักเรียนอาชีวะเริ่มแยกออกจากนักศึกษา ส่วนหนึ่งเพราะมีชนชั้นนำปลุกปั่น แต่ละมหาวิทยาลัยจึงมีกลุ่มการ์ดของตัวเองด้วย

ส่วนในการชุมนุมรวม ส่วนมากทีมการ์ดจะอยู่นอกสุดล้อมมวลชนไว้อีกทีหนึ่ง โดยมีวิธีการรับมือว่าจะไม่ถอยและไม่ทิ้งมวลชน ส่วนเวลามีปราศรัยการ์ดก็จะรับบทผู้สังเกตการณ์ว่ามีใครท่าทางแปลก ๆ ปะปนมาบ้างหรือไม่ แต่หากเป็นการชุมนุมใหญ่ๆ การ์ดหลายทีมก็จะประสานงานและแบ่งความรับผิดชอบกันว่าใครดูโซนไหน

เมื่อเริ่มถูกก่อกวนบ่อยครั้งเข้า การ์ดก็ทำงานหนักขึ้น มีการวางแผนกันอย่างจริงจังว่าจะรับมืออย่างไรกับเหตุการณ์รูปแบบต่างๆ เช่น การยิงก่อกวน การปาระเบิด เป็นต้น

 

6. ฝ่ายศิลปวัฒนธรรม (ดนตรีและละครเวที)

เพราะมวลชนคือหัวใจของการชุมนุม การดึงมวลชนไว้ให้อยู่ระหว่างการชุมนุมจึงเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากเนื้อหาปราศรัยสุดเข้มข้นแล้ว งานเอนเตอร์เทนเมนต์คุณภาพจึงขาดไม่ได้

วงดนตรีจากหลากหลายมหาวิทยาลัยไม่ว่าจะเป็นวงกรรมาชนจากมหิดล วงกงล้อจากธรรมศาสตร์ หรือวงลูกทุ่งสัจจธรรมจากรามคำแหง จึงสลับกันขึ้นมาสร้างสีสันให้กับหลายๆ การชุมนุม

คู่กันไปกับดนตรี คณะละครก็เฟื่องฟูเช่นกัน มีทั้งการเล่นละครล้อเลียนบ้าง เขียนบทขึ้นมาใหม่บ้าง และดัดแปลงเนื้อหาให้เข้ากับการชุมนุมนั้น ๆ บ้าง

ฝ่ายศิลปวัฒนธรรมไม่ได้จำกัดขอบเขตการเอนเตอร์เทนแค่ในเมืองเท่านั้น แต่ยังไปร่วมแสดงในการชุมนุมของชาวนาและกรรมกรด้วย แถมบางครั้งก็ต้องแสดงไปหลบระเบิดไป

งานศิลป์มีพลังเสมอ ฝ่ายศิลปวัฒนธรรมแทบเป็นฝ่ายเดียวที่ได้รับการต้อนรับจากทุกผู้ทุกคน (และอาจจะทุกฝ่าย) โดยเฉพาะในวงการสื่อที่โดยปกติมักโจมตีฝ่ายผู้ชุมนุม แต่มีวงดนตรีอย่างคาราวานที่ในสมัยนั้นเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนได้รับเชิญไปออกทีวีด้วย

ตั้งแต่ปี 2518 เป็นต้นมา วงดนตรีได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ สุขุม เลาหพูนรังษี อดีตประธานชุมนุมนาฏศิลป์และการละคร องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) เล่าว่าจากที่เมื่อก่อนเล่นละครในช่วงไพรม์ไทม์ หลังๆ มาต้องหลีกทางให้วงดังขึ้นก่อน สายละครต้องไปต่อคิว กว่าจะได้ขึ้นเวทีก็ตี 1 ยิ่งเป็นคณะที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก กว่าจะได้เล่นก็ราวตี 3 แล้ว

นอกจากการสร้างสีสันในวันชุมนุม งานอื่นๆ ของฝ่ายศิลปวัฒนธรรมยังรวมไปถึงการจัดงานทางวัฒนธรรมที่ตีความใหม่ให้ก้าวหน้ากว่าเดิม เช่น งานลอยกระทงที่ไร้นางนพมาศ ตัวกระทงที่ต้องมีความหมายทางการเมือง รวมถึงบรรยากาศและองค์ประกอบของงานที่เน้นเอกลักษณ์ไทยที่ไม่ใช่ไทยราชสำนักแต่เป็นไทยพื้นบ้าน เป็นต้น

 

7. ฝ่ายวางแผน

แอ๊กชั่นหลักของแกนนำฝ่ายวางแผนจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากการประชุม และเป็นคล้ายๆ กันไม่ว่าจะในสเกลมหาวิทยาลัย หรือภายใต้โครงสร้างใหญ่อย่าง ศนท.

จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตนายกสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล่าว่า ประชุมกันแต่ละทีประชุมยาว ถกกันเยอะ มีรุ่นพี่มากประสบการณ์มาให้ความเห็น วิเคราะห์เหตุการณ์กันเป็นฉากๆ จนแทบข้ามวันข้ามคืน ยิ่งโดยเฉพาะช่วงที่ชุมนุมยืดเยื้อต่อเนื่อง ชีวิตวนอยู่ระหว่างการประชุมถึงดึกดื่น และต้องออกไปชุมนุมต่อในช่วงสาย จนระยะหลังทาง มช.ตกลงปรับยุทธศาสตร์ให้รูปแบบการชุมนุมพลิกแพลงขึ้น ไม่จำเป็นต้องยืดเยื้อเสมอไป เพื่อเก็บกำลังของคนทำงานไว้ด้วย

ฝั่งจุฬาฯ สุรชาติ บำรุงสุข เล่าวิธีการทำงานว่าการประชุมจะเป็นไปเพื่อตัดสินใจว่าจะเคลื่อนไหวอะไร อย่างไร โดยในการประชุมจะมีหัวหน้าทีมแต่ละฝ่ายประกบอยู่ด้วย เมื่อตกลงกันเสร็จ หัวหน้าแต่ละทีมก็จะทำหน้าที่ส่งสารต่อให้ผู้ปฏิบัติงานต่อไป

ด้านหมอมิ้งเล่าว่า ความฟุ้งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมนักศึกษา หมอมิ้งจึงช่วยสรุป เขียน Gantt chart ใช้เป็นเครื่องมือในการประชุมให้จับประเด็นได้ชัดและออกจากห้องโดยแต่ละคนรู้ว่าต้องทำอะไรต่อไป

ทั้งนี้ ในการประชุม ศนท. และการสื่อสารกับมหาวิทยาลัยที่อยู่ไกลอย่างเช่น มช. หากเป็นเรื่องเร่งด่วน บางครั้งก็จะให้คนจากกรุงเทพฯ นั่งรถทัวร์ขึ้นไปอัพเดตมติการประชุมให้ถึงที่ เพราะไม่สามารถกดโทรศัพท์ทางไกลหากันได้สะดวก

นอกจากนี้ งานที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนยังมี

– ฝ่ายข่าว ภูมิธรรม เวชยชัย เล่าว่าช่วง 14 ตุลาฯ เขามีหน้าที่รีวิวข่าวสารที่เกี่ยวข้องจากสื่อทุกสื่อ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ วิทยุ หรือโทรทัศน์ เพื่อประเมินท่าทีฝ่ายต่างๆ กรองข่าว รวมไปถึงสังเกตการณ์รอบๆ การชุมนุมแล้วรายงานให้ศูนย์กลางทราบอีกทีหนึ่ง

ฝ่ายวิเคราะห์ ใช่ว่าจบงานแต่ละครั้งแล้วจะปล่อยผ่านแล้วผ่านเลยไป หลังจบงานจะมีคนทำหน้าที่วิเคราะห์การทำงานของแต่ละฝ่าย ตั้งแต่โฆษกยันคนเคาะประตู เพื่อถอดบทเรียนว่าการปฏิบัติงานในวันนั้นๆ เป็นยังไง ทำสำเร็จตามเป้าไหม หรือมีอะไรต้องปรับปรุงอีกบ้าง

 

8. ฝ่ายสื่อสารกับผู้ชุมนุม

เพราะการชุมนุมหลายครั้งมีมวลชนไม่น้อย จะสื่อสารกันจากจุดเดียวก็อาจไม่ทั่วถึง ในที่ชุมนุมจึงมีการแบ่งพื้นที่เป็นตารางกริดและมีคนปฏิบัติงานตามจุดต่างๆ ช่วยสื่อสารกับมวลชน ส่งสัญญาณบอกให้มวลชนลุก-นั่ง

คล้ายๆ กันกับเวลาเคลื่อนขบวน รถนำขบวนแต่ละคันก็จะกำหนดระยะห่างและคนประจำรถไว้ว่าใครเป็นคนดูและตัดสินใจหากมีเหตุต่างๆ เกิดขึ้น นอกจากนี้ยังมีการส่งผู้ปฏิบัติงานลงไปเดินกับผู้ร่วมชุมนุม โดยใช้วิธีตีขบวนเป็นตาราง แต่ละตารางจะมีคนคุมราวๆ 10 คน จะเดิน จะหยุด จะลุก จะนั่ง คนคุมก็จะเป็นผู้ส่งสัญญาณด้วย

 

9. ฝ่ายวิชาการ

อะไรก็ตามที่เกี่ยวกับงานข้อมูลมักจะอยู่ในสโคปของฝ่ายนี้ ฝ่ายวิชาการนอกจากจะใช้เรียกคนที่ได้รับมอบหมายให้ทำงานข้อมูลแบบเฉพาะเจาะจงในประเด็นใดประเด็นหนึ่งแล้ว บางครั้งอาจใช้เรียกคนที่แน่นทฤษฎี แม่นในตำรา และสนใจในข่าวสารด้วย

สุรชาติ บำรุงสุข เป็นหนึ่งในฝ่ายนี้ที่รับผิดชอบการทำข้อมูลเรื่องฐานทัพอเมริกา มีการลงไปเก็บข้อมูลจริงถึงอุดรธานี อ่านหนังสือเกี่ยวกับความมั่นคงรวมถึงหนังสือเรื่องฐานทัพที่ส่งตรงมาจากอเมริกา เขียนออกมาเป็นเปเปอร์และตีพิมพ์เป็นหนังสือเล่มเล็ก ๆ ซึ่งถูกขึ้นบัญชีเป็นหนังสือต้องห้ามหลัง 6 ตุลาฯ ด้วย

ตามการบอกเล่าของสุขุม เลาหพูนรังษี คนทำละคร ฝ่ายวิชาการยังทำหน้าที่ซัพพอร์ตฝ่ายอื่นๆ ด้วย อย่างตอนที่สุขุมจะเขียนบทเพื่อทำละครเรื่อง “จักรพรรดินิยม” ก็ต้องอาศัยการช่วยเหลือจากฝ่ายวิชาการในการเสริมข้อมูลและหาหนังสือที่เกี่ยวข้องมาให้ และคล้ายๆ กันกับตอนเขียนบทละครเรื่อง “สามประสาน” สุขุมก็ได้เพื่อนสองคน ได้แก่ ชัยพงษ์ กิตตินราดร (เสียชีวิตแล้ว) และสมชาย พูนสินบูรณกุล มาสาธยาย ถกเถียง อธิบายความจำเป็นของพลัง 3 ประสาน จนในที่สุดสุขุมก็จับต้นชนปลายได้ถูกจนเขียนบทละครออกมาได้เป็นเรื่องเป็นราว

อ่านข่าว : ปลุกใจ กระจายข่าวด่วน ชวนชุมนุม ‘6 ตุลา’ กับ ศิลปะรับใช้ ปชช. ผ่าน ‘โปสเตอร์’

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image