‘สุทิน’ ชี้ ‘ประยุทธ์’ ควรสละเก้าอี้ ‘นายกฯ’ นั่งเก้าอี้ครบ 8 ปี เล็งยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ

‘สุทิน’ ชี้ ‘ประยุทธ์’ ควรสละเก้าอี้ ‘นายกฯ’ นั่งเก้าอี้ครบ 8 ปี เล็งยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ อาจารย์นิติฯแนะควรยึดเจตนารมณ์ตาม รธน.

กรณีที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 158 วรรคสี่ ระบุว่า “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง” โดยหากนับการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2557 ก็จะครบ 8 ปี ในปี 2565

เมื่อวันที่ 25 กันยายน นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า ประเทศไทยก็มักจะตีความกฎหมายแบบศรีธนญชัยเยอะ จึงทำให้มีการตีได้ 2 แนวทาง คือ 1.การดำรงตำแหน่งนายกฯ จะมีผลตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้เป็นต้นไป หากตีความแบบนี้ก็จะหมายความว่าไม่นับรวมอายุการดำรงตำแหน่งนายกฯ ก่อนปี 2560 ดังนั้น จะครบ 8 ปี ในปี 2567 และ 2.ตีความตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ คือต้องนับอายุการดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่เป็นนายกฯเป็นต้นมา ซึ่งก็คือจะครบ 8 ปี ในเดือนสิงหาคม 2565

นายสุทินกล่าวว่า จากนี้ก็ต้องดูว่าจะตีความไปในแนวทางใด แต่ตนคิดว่าควรตีความตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญคือนายกฯ ควรจะเป็นต่อกันไม่เกิน 8 ปี พล.อ.ประยุทธ์จึงจะเป็นนายกฯได้อีกเพียง 1 ปีเท่านั้น แต่ก็อาจจะมีพวกศรีธนญชัยที่ตีความว่ารัฐธรรมนูญไม่มีผลบังคับย้อนหลัง คือให้นับการดำรงตำแหน่งนายกฯ ตั้งแต่ปี 2560

“ฝ่ายค้านยังไม่ได้หารือกันในประเด็นนี้ แต่เราจะต้องแสวงหาการยุติที่เป็นบรรทัดฐานต่อไป โดยการยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความ” นายสุทินระบุ

Advertisement

ขณะที่ นายพรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กรณีนี้จะแบ่งออกเป็น 2 ประเด็นใหญ่ 1.ประเด็นทางข้อกฎหมาย คือ บทบัญญัติมาตรา 158 วรรคสี่ เริ่มนับกับกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คือ นายกฯ เข้ามาดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการผ่านการเลือกตั้ง ฉะนั้น กรณี พล.อ.ประยุทธ์จะต้องนับตั้งแต่การเข้ามาในปี 2562

และ 2.เหตุผลในทางข้อเท็จจริง หรือหลักการที่อยู่เบื้องหลังการร่างบทบัญญัติแบบนี้ที่เกิดในรัฐธรรมนูญ 2550 ที่มีเจตนารมณ์ และความมุ่งหมาย 3 เหตุผล โดยเหตุผลแรก คือ ไม่ต้องการให้นายกฯ เข้ามาผูกขาดตำแหน่ง และเปิดโอกาสให้บุคคลอื่นเข้ามาดำรงตำแหน่งแทน เหตุผลที่สองคือ การป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น ที่อาจมีการสร้างเครือข่ายทางการเมือง เพื่อต่อยอดทางการเมือง และเหตุผลที่สาม คือ การทำงานในตำแหน่งนายกฯ 8 ปี ก็มากเพียงพอแล้ว เรื่องศักยภาพ และการกระตือรือร้นอาจจะลดน้อยถอยลง ดังนั้น ด้วยเหตุผลทั้ง 3 ประการนี้ ก็น่าจะสามารถอธิบายได้เพียงพอเแล้ว

“เบื้องต้นต้องดูว่าได้บังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างถูกต้องและชัดเจนหรือไม่ จากนั้นค่อยไปถกเถียงกันว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายข้อนี้เป็นอย่างไร อย่างไรก็ตาม กรณีของ พล.อ.ประยุทธ์ คิดว่าอาจจะเป็นกรณีพิเศษ เพราะในทางข้อเท็จจริง พล.อ.ประยุทธ์เข้ามาดำรงตำแหน่งและใช้อำนาจนายกฯอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 จึงจะกลายเป็นปัญหาที่นำสู่ข้อถกเถียง แม้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2560 จะบังคับใช้ไม่ได้ในกรณีนี้ แต่เรารับรู้จากข้อเท็จจริงว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯมาตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน และจะครบ 8 ปี ในปี 2565 ซึ่งสอดรับกับหลักการเจตนารมณ์ของบทบัญญัติที่ไม่ต้องการให้เกิดการผูกขาดอำนาจทางการเมือง และการผูกขาดนี้ อาจจะนำไปสู่การสร้างเครือข่ายทางการเมือง และนำไปสู่การทุจริต เพื่อทำให้ตัวเองได้ประโยชน์หรือไม่” นายพรสันต์กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image