‘ชูศักดิ์’ ชี้ปมตำแหน่งนายกฯ อยู่ที่การตีความ เหตุรธน.ไม่ได้กำหนดการเริ่มนับระยะเวลา 8 ปีไว้

‘ชูศักดิ์’ ชี้ปมตำแหน่งนายกฯ อยู่ที่การตีความ เหตุรธน.ไม่ได้กำหนดการเริ่มนับระยะเวลา 8 ปีไว้

วันที่ 28 กันยายน นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคและประธานคณะทำงานด้านกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีข้อถกเถียงเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 ว่า การนับระยะเวลาในดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็ควรต้องถือการดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นระยะเวลาเริ่มต้น และไม่อาจจะถือเอาระยะเวลาเริ่มต้น ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 มานับได้ เพราะจะเท่ากับเป็นการใช้กฎหมายย้อนหลัง เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งปี 2562 การนับระยะเวลา 8 ปี จึงควรเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2560 มีความคาบเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ ก็ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ ฉบับดังกล่าวมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 จนกระทั่งเมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังคงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อเนื่องมา จึงทำให้เกิดคำถามว่า เมื่อรัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 ประกอบกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 264 ก็บัญญัติให้ครม.ซึ่งหมายถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่น ในครม.เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปี 2560 ด้วย แม้จะมีความ มุ่งหมายเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของการบริหารราชการแผ่นดินก็ตาม แต่การให้ถือว่าเป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญปี 2560 และตามมาตรา 264 หรือบทเฉพาะกาลมาตราอื่นๆ ก็มิได้บัญญัติยกเว้นว่ามิให้นับระยะเวลาของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ก่อนรัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้รวมในระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 158 วรรคสี่ด้วย

จึงทำให้เกิดปัญหาการตีความในเรื่องนี้ได้ว่าระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ ควรนับตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้คือ ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 ซึ่งจะครบกำหนดระยะเวลา 8 ปี ในวันที่ 5 เมษายน 2568 ซึ่งการตีความดังกล่าวไม่ใช่การใช้กฎหมายย้อนหลังเพื่อเป็นโทษแก่พล.อ.ประยุทธ์

นายชูศักดิ์ กล่าวอีกว่า ดังนั้น การพิจารณาในเรื่องนี้จึงยังคงมีความเห็นที่แตกต่างกันอยู่ อย่างไรก็ดีการจะให้ปัญหาเรื่องนี้ยุติลงได้ก็คงต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัย แต่มิใช่จะทำได้ในขณะนี้ คงต้องรอให้ถึงระยะเวลาที่ฝ่ายที่เห็นว่า การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ ครบ 8 ปีแล้ว จึงจะเกิดเงื่อนไขในการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยการเข้าชื่อให้วินิจฉัยความสิ้นสุดแห่งความเป็นรัฐมนตรีได้ ตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนด ในขณะนี้เงื่อนไขยังไม่เกิดขึ้น ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยว่าไม่มีหน้าที่อธิบายรัฐธรรมนูญ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image