‘ศรีสุวรรณ’ ร้อง ‘สปน.’ เร่งสอบคุณสมบัติองค์กรผู้บริโภคทิพย์

‘ศรีสุวรรณ’ ร้อง ‘สปน.’ เร่งสอบคุณสมบัติองค์กรผู้บริโภคทิพย์

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน ทำเนียบรัฐบาล นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องถึงปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะนายทะเบียนกลาง ตาม พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2562 หลังจากที่สมาคมฯได้เคยยื่นคำร้องให้ตรวจสอบ 16 องค์กรด้านผู้บริโภคเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ซึ่งสมาคมได้สุ่มตรวจพบข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า มีหลายองค์กรองค์กรผู้บริโภคที่รวมตัวกันดำเนินการเพื่อจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคในหลายจังหวัด หรือที่เข้าเป็นสมาชิกของสภาองค์กรของผู้บริโภคที่ผ่านมาอาจมีลักษณะเป็นองค์กรผู้บริโภคที่จัดตั้งขึ้น อาจมีลักษณะไม่เป็นไปตามมาตรา 5(1) และ(2) แห่งพ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2562 กล่าวคือ องค์กรที่จัดตั้งไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม อาจถูกครอบงำ โดยผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นนิติบุคคล กรรมการหรือผู้มีอำนาจบริหารของผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าว หรือ โดยหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือพรรคการเมือง ซึ่งเป็นข้อห้ามตามกฎหมาย

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า องค์กรผู้บริโภคที่จดแจ้งกับทางนายทะเบียนกลางนั้น ชาวบ้านในพื้นที่ไม่เคยรู้จักหรือได้ยินชื่อเลย และเมื่อตรวจสอบเชิงลึกโดยการพูดคุยกับผู้นำท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือชาวบ้าน ก็พบว่า มีบางองค์กรมีที่ตั้งแบบลอย ๆ ไม่มีการทำกิจกรรมตามที่จดแจ้ง ชาวบ้านในพื้นที่ไม่รู้จักเลย บางองค์กรคนที่อุปโลกน์ว่าเป็นประธานกลุ่มแต่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ กลับไปอยู่กับครอบครัวในจังหวัดอื่น บางองค์กรประธาน รองประธาน หรือกรรมการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ อาจถือได้ว่ามีคุณลักษณะไม่เป็นไปตาม ม.5(1)(2) ประกอบ ม.6 ของกฎหมายข้างต้น

Advertisement

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า สมาคมทราบมาว่านายทะเบียนของแต่ละจังหวัดได้เริ่มทำหนังสือแจ้งมายังนายทะเบียนกลาง หลังจากที่ สปน.แจ้งให้ตรวจสอบ 16 องค์กรที่สมาคมฯได้ยื่นให้ตรวจสอบก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งมีข้อมูลเล็ดลอดออกมาว่า ผลการตรวจสอบไม่พบสิ่งผิดปกติใด ๆ ทุกองค์กรมีการดำเนินกิจกรรมตามที่จดแจ้งไว้ โดยมีการสั่งให้ทำป้ายไวนิลชื่อองค์กรไปแขวนติดตั้งไว้ ณ สถานที่ตั้งองค์กรที่จดแจ้งไว้ แล้วถ่ายรูปส่งมารายงาน เป็นต้น ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจขัดแย้งจากข้อเท็จจริงและหลักฐานที่สมาคมฯได้เก็บรวบรวมไว้ ซึ่งผู้ที่รายงานข้อมูลอันเป็นเท็จอาจมีความผิดตามกฎหมายได้

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า หาก สปน.วินิจฉัยองค์กรผู้บริโภคเหล่านี้ไม่มีคุณสมบัติหรือคุณลักษณะตามที่กฎหมายบัญญัติ ผู้ที่ร่วมจัดตั้งย่อมเข้าข่าย “แจ้งความเท็จต่อเจ้าหน้าที่รัฐ” ตาม ป.อ.มาตรา 137 ที่บัญญัติไว้ความว่า “ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” สมาคมจึงนำข้อมูลหลักฐานเพิ่มเติมมาให้นายทะเบียนกลางดำเนินการเอาผิดบุคคลและหรือองค์กรผู้บริโภคนั้น ๆ ตามกฎหมายข้างต้นหรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image