สมัชชชาคนจนยกย่องวีรชน 6 ตุลาสู้เพื่อชาวนา อดีตผู้นำนศ.จี้ชำระปวศ. เสนอขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ

สมัชชชาคนจนยกย่องวีรชน 6 ตุลาสู้เพื่อชาวนา อดีตผู้นำนศ.จี้ชำระปวศ. เสนอขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม บริเวณหน้าลาประติมากรรม ‘ธรรมศาสตร์ กับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519’ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการจัดงานรำลึก 45 ปี 6 ตุลา โดยเมื่อเวลา 09.15 น.นายกฤษฎางค์ นุตจรัส อดีตผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 กล่าวว่า งานวันนี้จัดขึ้นด้วยความยากลำบาก เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เกิดขึ้นจากการที่ประชาชน นิสิต นักศึกษา ไม่ได้รับความยุติธรรม เมื่อจอมพลถนอม กิตติขจรผู้ทำร้ายประชาชนในปี 2516 กลับเข้าประเทศโดยไม่มีการนำตัวมาลงโทษ 2 ช่างไฟฟ้าที่ติดโปสเตอร์ต่อต้าน ถูกทำร้ายจนเสียชีวิต นำศพไปแขวนคอ จนบัดนี้ ฆาตรกรยังไม่ถูกลงโทษ

“ในการปราบปรามที่ธรรมศาสตร์ มีคนตายมากกว่าที่บันทึกไว้ในประติมากรรม 6 ตุลา หอสมุดแห่งชาติไม่มีบันทึกเกี่ยวกับ 6 ตุลาแม้แต่เล่มเดียว บทเรียนในหนังสือประวัติศาสตร์ชาติก็ไม่พูดถึง 6 ตุลา รัฐบาลเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นิรโทษกรรม ทำให้พ้นความรับผิดชอบ

 

Advertisement

ผ่านมา 45 ปี ยืนยันว่า 6 ตุลาไม่ใช่อุบัติเหตุทางการเมือง แต่เป็นความจงใจ ต้องการกวาดล้าง ฆ่าฟัน สังหารหมู่ เราไม่ได้จัดงานทุกปีเพียงเพื่อรำลึกหรือแสดงภาพโหดร้ายของการฆ่า แต่จุดหมายที่เรียกร้องคือ นำตัวคนผิดมาลงโทษ วันนี้หมุดหมายสำคัญจะเริ่มนับ 1 ในการนำตัวคนผิดมาลงโทศ หลายคนสงสัยว่า 45 ปีแล้ว บางคนเสียชีวิตแล้ว มีประโยชน์อะไรที่จะพูดถึง เหตุผลคือ วีรชน 6 ตุลา นักเรียน นักศึกษายังไม่ได้รับการชดใช้ ขอโทษ คนก่อต้องได้รับการลงโทษ ซึ่งเป็นหมุดหมายสำคัญที่จะต้องไม่ให้ลูกหลานถูกกระทำเช่นนั้นอีก” นายฤษฎางค์กล่าว

นายกฤษฎางค์กล่าวต่อไปว่า แม้ผู้กระทำผิดเสียชีวิตแล้ว ก็ต้องถูกลงโทษทางสังคม ยังต้องถูกจารึกว่าทำผิด เกียรติยศต้องถูกถอด นำไปขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งคดีความเช่นนี้ไม่มีอายุความตามข้อตกลงระหว่างประเทศ

“ผ่านมา 45 ปี น้องๆ อย่างเพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ อานนท์ นำภา และคนอื่นๆ ยังต้องประสบชะตากรรมเหมือน 45 ปีก่อน ถูกขังโดยไม่มีโอกาสต่อสู้เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์” นายฤษฎางค์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างนายกฤษฎางค์กล่าว
มีผู้ถือธงสีแดง มีข้อความ ‘ชำรประวัติศาสตร์’ ยืนขนาบ 2 ฝั่ง ขณะที่นางสาวจุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ หรือ อั๋ว พร้อมนักศึกษาอีกหลายราย ถือภาพผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ 6 ตุลานั่งบนพื้นด้านหน้านายกฤษฎางค์

ต่อมา นายบารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน กล่าวรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า วีรชน 6 ตุลาไม่เพียงสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่ยังมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการต่อสู้เพื่อกรรมกร ปกป้องสิทธิชาวนา

“การสดุดีวีรชน 6 ตุลานั้น สิ่งสำคัญคือการสืบทอดเจตนารมณ์ของพวกเขา ยินดีที่กรรมการจัดงานมอบรางวัลจารุพงษ์ ทองสินธุ์ให้ เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ ตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่ต่อสู้เพื่อเรียกร้องสืบต่อจากคน 6 ตุลา เชื่อว่าจะสามารถฝ่าฟันอุปสรรคไปได้” นายบารมีกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image