‘สุธรรม แสงประทุม’ รับ หมดคำจะพูด ยกวาทะ ‘ไอน์สไตน์’ รำลึก 6 ตุลา

‘สุธรรม แสงประทุม’ รับ หมดคำจะพูด ยกวาทะ ‘ไอน์สไตน์’ รำลึก 6 ตุลา

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม บริเวณหน้าลานประติมากรรม ‘ธรรมศาสตร์ กับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519’ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการจัดงานรำลึก 45 ปี 6 ตุลา โดยในตอนหนึ่ง นายสุธรรม แสงประทุมอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยในฐานะอดีตเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า งานรำลึก 6 ตุลา 2519 ยิ่งนานวัน คนยิ่งมาเข้าร่วมและต่อเติมเหตุการณ์จนวันนี้เกือบสมบูรณ์ และจะสมบูรณ์ยิ่งขึ้นหากคนผิดถูกนำตัวไปขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ เหมือนที่ นายพลปิโนเชต์ ของชิลี ผู้สังหารหมู่ประชาชนถูกจับที่อังกฤษ สำหรับปีนี้ หากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อนุญาตให้จัดดีๆ คนคงไม่มากันมากขนาดนี้ อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ได้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขึ้นเพื่อเป็นที่พึ่งของคนยากคนจน ที่พึ่งในที่นี้ก็คือสติปัญญา ความรู้ ให้ลูกหลานคนยากคนจนได้มีแสงสว่างที่จะนำพาและพึ่งพิงตัวเองได้ นี่คือรากเหง้าของธรรมศาสตร์

“ผมเรียนหนังสือที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่เดินผ่านธรรมศาสตร์มากกว่า เพราะที่นี่สามารถมาเรียนรู้ทุกปัญหาได้

การจัดงานวันนี้ เราทุกคนไม่ต้องการอย่างอื่น
นอกจากทำกิจกรรมเพื่อรำลึก ไม่ต้องการหาเรื่องใครทั้งสิ้น ในฐานะผู้อยู่ในเหตุการณ์ จึงเป็นคนหนึ่งที่ต้องชี้แจง มีภาระที่ต้องพูดแทนคนตาย แทนคนที่เสียโอกาส แทนคนสูญหาย ซึ่งต้องให้เขาเหล่านั้นได้รับความเป็นธรรม ถามว่าเบื่อไหมในการพูด ไม่มีสิทธิ์เบื่อ พูดกันไปจนตายคนรุ่นหลังก็จะมาพูดต่อจนกว่าข้อเท็จจริงจะปรากฏ และผู้ที่เกี่ยวข้องต้องสำนึกในความรับผิดชอบที่เกิดขึ้น ผู้ที่ประกอบอาชญากรรมจะต้องชดใช้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

6 ตุลาจัดเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่เป็นบทเรียนที่จะต้องไม่ให้เกิดซ้ำอีก อยากเห็นความจริงในเหตุการณ์ได้ปรากฏ ไม่ใช่เข้าใจกันแบบผิดๆถูกๆ

Advertisement

ที่ผ่านมา ได้กล่าวอาลัยสดุดีวีรชน 6 ตุลามามากแล้ว จนหมดถ้อยคำจะกล่าว จึงขอหยิบยืมคำพูดอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์คนสำคัญของโลกที่เขียนไว้ในหนังสือชื่อ ‘เขียนไว้เมื่อเป็นไม้ใกล้ฝั่ง’ สาเหตุที่ไอน์สไตน์เข้าใจผู้ถูกปราบปรามอย่างลึกซึ้ง เพราะเคยถูกหนีการล่าล้างเผ่าพันธุ์มาก่อน

ไอน์สไตน์สรุปไว้อย่างเรียบง่าย แต่ยิ่งใหญ่ว่า ในบั้นปลายชีวิตได้เตือนสติตัวเองวันละเป็นร้อยครั้ง ว่าชีวิตตั้งแต่เกิดมาจนถึงทุกวันนี้ทั้งภายในและภายนอกร่างกาย ล้วนเป็นผลมาจากหยาดเหงื่อแรงงานของผู้อื่น ทั้งที่มีชีวิตอยู่และวายชนม์ไปแล้วจึงพยายามนำสิ่งที่ได้รับมาและยังได้รับอยู่กลับคืนแก่พวกเขาจนสุดกำลังความสามารถ แม้แต่ชีวิตก็ยอมได้

ในที่นี้ จึงขอนำคำกล่าวนี้มาใช้ เพื่อให้ท่านทั้งหลายรำลึกถึงคนที่มาก่อนเรา คนที่ยังอยู่ และรุ่นต่อไปเพื่อสืบสานเจตนารมณ์ของเขาเหล่านั้น ขอให้ประเทศไทยเจริญก้าวหน้า เป็นประชาธิปไตย ทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ” นายสุธรรมกล่าว

Advertisement

สำหรับบรรยากาศในช่วงบ่าย เมื่อเวลาประมาณ 13.20 น. กลุ่มทะลุฟ้าได้นำหุ่นศพจำลองมาวางที่บริเวณสนามฟุตบอล พร้อมโปรยกระดาษเต็มทั่วทั้งสนาม บนกระดาษมีข้อความเช่น ‘6 ตุลา ลืมไม่ได้ จำไม่ลง’ ‘ใครฆ่าพี่ เราไม่ลืม’ ต่อมา เวลาประมาณ 14.30 น. นายโชคดี หรือ อาเล็ก โชคร่มพฤกษ์ ขับร้องบทเพลงมีเนื้อหาเกี่ยวกับประชาธิปไตย
ทั้งนี้ จะมีการปราศรัยอีกครั้งในเวลา 16.00 น. โดยกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image