“มหาดไทย”มอบนโยบาย ผู้ว่าฯทั่วประเทศ จ่อตั้งเกณฑ์ประเมินผลการทำงานรายจังหวัด

“มหาดไทย” ประชุม มอบนโยบาย-แจงข้อราชการสำคัญแก่ผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ

เวลา 09.00 น. เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ที่ห้องประชุมราชสีห์ ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายและชี้แจงข้อราชการสำคัญ โดยมีนายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย ร่วมประชุม โดยเป็นการประชุมผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทยประจำจังหวัด นายอำเภอ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ในวันนี้เป็นการประชุมมอบนโยบายและชี้แจงข้อราชการสำคัญเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนงานของทุกจังหวัด ทุกกรม ทุกรัฐวิสาหกิจ โดยนำยุทธศาสตร์ชาติ แปลงสู่การจัดทำและขับเคลื่อนแผนพัฒนาในระดับพื้นที่ ด้วยการยึดหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งการร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ และร่วมทำ เพื่อให้การดำเนินงานไปสู่ความสำเร็จ เกิดความเจริญของประเทศชาติ และความผาสุกของประชาชน ต้องคิดตลอดเวลาว่าทำอย่างไรให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นในวันนี้ มีความสุขในวันนี้ “สิ่งที่เราทำทั้งหมดจะเปลี่ยนทุกอย่างให้ประชาชนดีขึ้น” ทั้งนี้ อำนาจหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยที่สำคัญ ๆ มี 2 ส่วน ได้แก่ 1.การทำงานตามอำนาจหน้าที่ (Function) ซึ่งขับเคลื่อนงานภารกิจตามกฎหมาย และ 2.การขับเคลื่อนงานในระดับพื้นที่ (Area) โดยต้องเป็นแกนในการบริหารราชการแผ่นดินของทุกกระทรวง กรม ในระดับพื้นที่ สร้างความร่วมมือ บริหารจัดการและบูรณาการงานทุกเรื่องในพื้นที่ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง

จากนั้น พล.อ.อนุพงษ์ ได้มอบนโยบายข้อราชการสำคัญ ได้แก่ 1.การดำเนินงานคณะกรรมการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (คจพ.) ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการจัดทำคู่มือการปฏิบัติเพื่อให้การขับเคลื่อนลงไปสู่ระดับพื้นที่ได้ โดยนำเป้าหมายจากระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform : TP Map) มากำหนดแนวทางการดำเนินงานกลไกในพื้นที่ 2.ด้านการบริหารจัดการสถานการณ์สาธารณภัย ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ติดตามสถานการณ์ภัยอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ครอบคลุมทุกภัย ทั้งอุทกภัย วาตภัย ดินถล่ม ภัยหนาว ภัยแล้ง และสั่งการ ติดตาม แจ้งเตือน เตรียมการ ทั้งบุคลากร เครื่องมืออุปกรณ์ สถานที่ และกำกับการปฏิบัติ รวมทั้งดำเนินมาตรการด้านการป้องกันภัยอย่างเต็มกำลังความสามารถตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านการบริหารจัดการน้ำ ด้านงบประมาณ เพื่อสามารถบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน นอกจากนี้ ให้น้อมนำพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการทำให้พี่น้องประชาชนกลับไปมีชีวิตปกติให้เร็วที่สุด ทั้งการจัดตั้งโรงครัวพระราชทาน การบูรณาการทุกกลไกในระดับพื้นที่ และประชาชนจิตอาสา เข้าให้ความช่วยเหลือและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสาธารณภัยและการปฏิบัติตนของประชาชน

Advertisement

3.การบริหารจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยผู้ว่าราชการจังหวัดต้องบูรณาการประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและทุกหน่วยงาน ร่วมกันสร้างจิตสำนึกประชาชนในการทิ้งขยะในพื้นที่ที่กำหนด เพื่อให้บ้านเมืองมีความสะอาด สวยงาม 4.การบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยดำเนินการสำคัญ 3 ด้าน คือ ด้านการป้องกัน โดยรณรงค์ประชาสัมพันธ์มาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล หรือ Universal Prevention 10 ประการ ได้แก่

1. ออกจากบ้านเมื่อจำเป็นเท่านั้น 2. ผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปีและผู้มีโรคเรื้อรัง หลีกเลี่ยงการออกนอกบ้าน 3. เว้นระยะห่างกันอย่างน้อย 1-2 เมตรในทุกที่ 4.สวมหน้ากากอนามัยและทับด้วยหน้ากากผ้าตลอดเวลา 5.หลีกเลี่ยงสัมผัสหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้าที่ใส่อยู่ 6.ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ 7.ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ ลูกบิดประตู รีโมท หรือจุดที่ต้องเอามือไปจับบ่อยๆ อยู่เสมอ 8.แยกของใช้ส่วนตัวทุกอย่าง 9.กินอาหารที่ปรุงสุกใหม่เท่านั้น และ 10.ถ้าสงสัยว่าไปเสี่ยงรับเชื้อ ตรวจกับชุดตรวจ ATK ด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการขอความร่วมมือผู้ประกอบการดำเนินมาตรการ COVID-Free Setting (มาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร) เพื่อให้เกิดความปลอดภัย สามารถเปิดพื้นที่การท่องเที่ยว เสริมสร้างเศรษฐกิจในระดับพื้นที่ ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ และการจัดการขยะติดเชื้อ ซึ่งมีปริมาณขยะเพิ่มมากขึ้น ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาแก้ไขกฎหมายเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถดำเนินการจัดการขยะติดเชื้อได้

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังได้ติดตามการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญเรื่องอื่น ๆ ได้แก่ การดำเนินการจัดการปัญหาหนี้นอกระบบ โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ รวมถึงใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการทวงถามหนี้มาบังคับใช้ เพื่อสวัสดิภาพของประชาชน , การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) , การเตรียมการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น ให้เป็นไปโดยสุจริต โปร่งใส เที่ยงธรรม , การจัดการผักตบชวา โดยสนับสนุนการดำเนินงานเก็บเล็กของประชาชนและบูรณาการร่วมกับหน่วยงานกรมโยธาธิการและผังเมือง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการตามมาตรการกำจัดผักตบชวาในแหล่งน้ำแต่ละประเภท , การบริการสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการซ่อมแซมถนนหนทางหลังสถานการณ์อุทกภัย โดยให้กระทรวงมหาดไทยประสานทุกจังหวัดเร่งสำรวจและจัดทำคำของบประมาณเพื่อซ่อมแซมถนนในท้องถิ่นตามสภาพความเป็นจริง , การนำสายไฟฟ้าและสายสาธารณูปโภคต่างๆ ลงดิน และการเตรียมการบริหารจัดการสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน เพื่อลด PM2.5 ในช่วงปลายปีนี้

Advertisement

“ขอขอบคุณผู้บริหารระดับสูง ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ รวมถึงข้าราชการผู้ปฏิบัติทุกท่าน ที่ร่วมกันทำงานมาอย่างต่อเนื่องด้วยความเข้มแข็ง และทุ่มเท โดยฝ่ายการเมือง ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมให้การสนับสนุนในทุกเรื่องเพื่อให้การขับเคลื่อนงานเกิดความสมบูรณ์ และจะได้มีการจัดประชุมติดตามการดำเนินงานตามภารกิจสำคัญในทุกเดือนเพื่อจะได้ติดตาม ประเมิน หาแนวทางในการพัฒนางานเพื่อพี่น้องประชาชน โดยจะเปิดโอกาสให้ทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคได้นำเสนอผลการดำเนินงานต่อไป และขอเป็นกำลังใจให้กับข้าราชการในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายอำเภอ ปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ทำงานอยู่ใกล้ชิดประชาชน ให้ขับเคลื่อนงานในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขประชาชน อย่างเต็มกำลังความสามารถ” พล.อ.อนุพงษ์ กล่าว

ด้านนายทรงศักดิ์ กล่าวว่า ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ เพิ่มเติม ได้แก่ 1.การจัดการด้านการพัฒนาผังเมืองจังหวัด ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญในการกำหนดทิศทางการพัฒนา โดยส่งเสริมให้ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stake Holder) ในพื้นที่ เข้ามาประชุมให้ความเห็นมากขึ้น เพื่อให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่นั้นๆ ตามความต้องการที่แท้จริงของประชาชน 2.เรื่อง OTOP ขอให้จังหวัดมีส่วนร่วมในการสร้างช่องทางส่งเสริมผู้ประกอบการให้สามารถนำสินค้าจำหน่ายได้ และมอบหมายเจ้าหน้าที่ลงไปส่งเสริมพัฒนาให้องค์ความรู้ในการพัฒนาช่องทางและผลิตภัณฑ์ให้กับประชาชนเพื่อสามารถจำหน่ายสินค้าในช่วงสถานการณ์โควิด-19 และ 3.การแก้ไขปัญหาอุทกภัย โดยจัดทำพื้นที่รองรับน้ำและนำน้ำไปใช้ให้เกิดประโยชน์

ขณะที่นายนิพนธ์ กล่าวว่า ขอฝากผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ได้แก่ 1.การจัดสรรงบประมาณจังหวัด กลุ่มจังหวัด และงบประมาณท้องถิ่น ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามแผนพัฒนาจังหวัดที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 2. เมื่อ ศบค. มีการผ่อนคลายมาตรการรวมกลุ่มของบุคคลให้สามารถจัดการฝึกอบรม-สัมมนาได้ ให้พิจารณาสนับสนุนช่วยเหลือผู้ประกอบการโรงแรมในพื้นที่ ด้วยการจัดฝึกอบรมพัฒนาบุคลากร ผู้ประกอบ ในโรงแรมในพื้นที่ เพื่อให้เงินหมุนเวียนในจังหวัด 3.การเตรียมการบริหารจัดการอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ โดยจังหวัดในพื้นที่ตั้งแต่จังหวัดเพชรบุรีลงไป ต้องเตรียมรับมือสถานการณ์ ทั้งการพร่องน้ำ ทำที่ให้น้ำอยู่ ทำทางให้น้ำไหล และสำรวจสถานที่รองรับน้ำ โดยเตรียมพร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัย และเครื่องสูบน้ำ 4.เข้มงวดกวดขันการปฏิบัติตามข้อกำหนดฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรวมตัวกันของประชาชน เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 5.การฟื้นฟูเยียวยาประชาชนผู้ประสบภัยอย่างแม่นยำถูกต้องตามระเบียบกฎหมาย และ 6.การจัดการน้ำเสีย โดยสำรวจสถานที่ในจังหวัดที่จำเป็นต้องจัดการน้ำเสีย และร่วมกับองค์การจัดการน้ำเสีย (อจน.) จัดทำแผนแม่บทจัดการน้ำเสียในพื้นที่

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า กทม.เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษในกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งจะได้นำนโยบายที่ได้รับมอบหมายให้ขับเคลื่อนการปฏิบัติร่วมกับกระทรวงมหาดไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสถานการณ์อุทกภัยซึ่งกรุงเทพมหานครจะได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงจังหวัดปริมณฑลในการบริหารจัดการน้ำในสถานการณ์อุทกภัยต่อไป

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการในเรื่องที่มีความสำคัญ 3 เรื่อง ได้แก่ 1.การปฏิรูปประเทศโดยนำเอายุทธศาสตร์ชาติมาทำงานให้บังเกิดผลดีกับพี่น้องประชาชน ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยสนับสนุนในเรื่องกิจกรรมปฏิรูปด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการบริหารราชการแผ่นดิน และการสร้างความเข้มแข็งการบริหารราชการระดับพื้นที่ มุ่งเน้นให้พี่น้องประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม โดยมีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เป็นเจ้าภาพหลักในเรื่องการประเมิน “จังหวัดที่มีผลสัมฤทธิ์สูงในการทำงาน” จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดเข้าร่วมการเข้ารับการประเมินผลการปฏิบัติงานที่มีผลสัมฤทธิ์สูง ด้วยการกำหนดนโยบาย (Agenda) และประเด็นที่สำคัญ ที่จังหวัดจะใช้ในการพัฒนาเพื่อทำงานให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยจะได้มอบหมายหน่วยงานผู้รับผิดชอบแจ้งหลักเกณฑ์ให้จังหวัดดำเนินการต่อไป

2.ด้านการสร้างการรับรู้ความเข้าใจกับประชาชน ซึ่งมีเสียงสะท้อนจากพี่น้องประชาชนผ่านสื่อสารมวลชนว่ายังไม่ได้รับการดูแลหรือช่วยเหลือในพื้นที่ จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด พัฒนาบุคลากรในจังหวัดด้านการประชาสัมพันธ์ รายงานข่าว และสื่อสารข้อมูลกับประชาชน จัดทำข้อมูลข่าวสารเพื่อประชาสัมพันธ์การลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนของหน่วยงานในจังหวัด รวมถึงช่องทางการช่วยเหลือประชาชน และข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับประชาชนร่วมกับกองสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อมวลชนส่วนกลางให้เกิดการสร้างการรับรู้ความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับภารกิจของทุกจังหวัดอย่างแพร่หลายต่อไป และ 3.ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ นำนโยบายต่าง ๆ ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ไปขับเคลื่อนการปฏิบัติ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมเพื่อผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image