สถาบันปรีดี รำลึก 6 ตุลา ฝาก 5 ข้อถึง รบ. ‘ทวี’ ย้ำอย่าให้ลืม ปวศ. ‘พงศกร’ แนะ 3 ทาง หยุดทหารแทรกการเมือง

สถาบันปรีดี รำลึก 6 ตุลา ฝาก 5 ข้อถึง รบ. ‘ทวี’ ย้ำอย่าให้ลืม ปวศ. ‘พงศกร’ แนะ 3 ทาง หยุดทหารแทรกการเมือง

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 6 ตุลาคม ในวาระครบรอบ 45 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 สถาบันปรีดี พนมยงค์ จัดกิจกรรม PRIDI Talks #13 รำลึก 45 ปี 6 ตุลาฯ “จากทุ่งสังหารถึงสำนักงานตั๋วช้าง”

ตำรวจ-ทหาร กองทัพของราษฎร โดยเปิดพบเวทีออนไลน์ ร่วมพูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจในวัฒนธรรมอำนาจนิยม ระบบอุปถัมภ์ และหน้าที่กองทัพ การติดตามพ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหาย และการปฏิรูปตำรวจ ปิดท้ายด้วยการนำเสนอมุมมองกระบวนการยุติธรรมบนฐานความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างหลากหลาย บนสังคมประชาธิปไตย

โดยเวลา 13.05 น. รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ กล่าวเปิดงาน และปาฐกถาหัวข้อ “ภราดรภาพนิยม : แนวทางอยู่ร่วมกันอย่างสันติธรรมในวิกฤติขัดแย้งและสังคมเห็นต่าง”

รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าวว่า วีรชนในเหตุการณ์ต่างๆ ล้วนเป็นครอบครัวผู้สูญเสีย ในฐานะสมาชิกทางสังคม ที่มีจิตใจกล้าหาญ เสียสละ รักชาติ รักประชาธิปไตย และควรได้รับการประกาศให้เป็นวีรชนของชาติ พวกเขาคือวีรชนประชาธิปไตย เป็นกองหน้าเปลี่นแปลงสังคมให้เป็นธรรมขึ้น

Advertisement

“ในวาระ 45 ปี ครอบรอบเหตุการ์ณ 6 ตุลา สถาบันปรีดี และ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงจัดกิจกรรมขึ้น เราไม่ได้จัดงานเพื่อตอกย้ำอดีตให้เกิดความเกลียดชัง แต่เพื่อให้เราไม่ลืม ไม่ให้เราเดินซ้ำรอยการนองเลือดในอดีต ในฐานะที่เราเป็นเพื่อนร่วมชาติ ร่วมโลก ความเห็นต่างเป็นเรื่องปกติ ไม่ควรมีใครต้องถูกฆ่าเพียงเพราะเห็นต่างผู้มีอำนาจ

สังคมไทยต้องได้บทเรียนแล้วว่า การปล่อยให้มีการสร้างวาทกรรม การใส่ร้ายป้ายสี ‘หนักแผ่นดิน’ ‘ชังชาติ’ ก็ดี ย่อมไม่เป็นผลดีต่อความสงบสุขของสังคม การที่ให้เจ้าหน้าที่ตำวจ ทหารใช้อำนาจภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ย่อมนำมาซึ่งความไม่พอใจและการโต้กลับ” รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าว และว่า

ถ้าเราไปสำรวจทรรศนะ ของ ปรีดี พนมยงค์ ท่านไม่ได้มองทหาร-ตำรวจเป็นศัตรู แต่ทำให้ร่วมมือเป็นกองทัพของราษฎรได้ ท่านพูดว่า

Advertisement

“ปัญหามิได้อยู่ที่ว่า ถ้าผู้ใดเป็นทหารแล้ว ย่อมนิยมลัทธิเผด็จการ หรือผู้ใดเป็นพลเรือนแล้วย่อมสนับสนุนประชาธิปไตย ปัญหาอยู่ที่ ซากทรรศนะที่ตกค้างมาจากระบบทาส ยังคงฝังอยู่ที่บุคคล ไม่ว่าคนนั้นเป็นทหาร หรือพลเรือน ก็ทำให้บุคคลนั้นๆ ถือเป็นหลักนำ ดำเนินการปฏิบัติในแนวทางที่ต้องการ หรือสนับสนุนให้มีระบอบเผด็จการที่ปกครองราษฎรอย่างระบบทาส” ปรีดีกล่าวไว้

รศ.ดร.อนุสรณ์ ยังกล่าวถึงถ้อยคำที่สะท้อนหลักคิด ของนายปรีดีว่า เสถียรภาพของประเทศจะเกิดขึ้นได้ ทหารตำรวจ ต้องทำเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง สังคมจะสงบสุขได้ ต้องเชื่อมโยงกันตามแนวคิด ‘ภราดภาพนิยม’ ชนชั้นร่ำรวย ต้องเสียสละบางส่วน เพื่อช่วยเหลือสังคมโดยรวม หากวันหนึ่งตกยากขึ้นมา ตามกฎอนิจจัง สังคมจะได้ช่วยเหลือ

การสร้างสังคมที่มีภราดรภาพ สามัคคดี สมานฉันท์ สามารถเกิดขึ้นได้ในสังคมที่มีทรรศนะขัดแย้ง แต่ต้องสนับสนุนความเสมอภาค ไม่แบ่งคนเพรามีวรรณะ ความเชื่อแตกต่างกัน คือพื้นฐานของสังคมที่มีความเป็นพี่ เป็นน้อง และผู้คนก็จะอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติธรรม ภายใต้สังคมเสมอภาค จะไม่มีการยัดกฎหมายให้กับฝ่ายผู้เห็นต่าง

“อย่างไรก็ตาม ภราดรภาพเกิดได้เมื่อประเทศมีประชาธิปไตย และไม่มีความเหลื่อมล้ำที่สูงเกินไป จึงต้องผลักดันสังคม ให้มีประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ และการเมือง ไม่เช่นนั่นจะเกิดได้ยาก และจะกลายเป็น ‘ธนาธิไตย’ มากกว่า หากประชาชนไม่แน่นอนทางด้านเศรษฐกิจ ต้องดิ้นรนไปแต่ละวัน ก็จะไม่มีเวลาไปตระหนักเรื่องสิทธิ และเกิดปัญหาทางการเมือง จึงต้องแก้ไขความผันผวนทางเศรษฐกิจด้วย ‘ระบบประกันความสมบูรณ์พูนสุขของราษฎร’ ที่มาจากปรัชญาแนวคิด ‘ภราดรภาพนิยม’ ที่นักคิดหลายท่านได้ศึกษาไว้ คือแนวคิดที่มนุษยชาติต้องพึ่งพาอาศัยกัน ตั้งแต่เกิดจนตาย โดยให้ผู้อื่นมีส่วนร่วมในการลำบากด้วย เพราะสังคมอาจจะทำให้จน หรือคนที่รวยก็ต้องอาศัยสังคม ดังนั้น ถือว่ามนุษย์มีหนี้ตามธรรมจริยาต่อกัน จึงต้องร่วมประกันภัยต่อกัน และร่วมกันประกอบการสังคมและเศรษฐกิจ”  รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าว

ทั้งนี้ รศ.ดร.อนุสรณ์ ยังเสนอให้เก็บภาษีทรัพย์สิน และที่ดินก้าวหน้า ซึ่งจะไม่กระทบการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ อีกทั้งยังเป็นไปตามหลักที่ผู้คนช่วยเหลือกัน ซึ่งสถานการณ์ความขัดแย้งจะดีขึ้น ประการแรก

1.ต้องสถาปนารัฐธรรมนูญประชาชน โดย สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)

2.ปลูกฝังค่านิมยมประชาธิปไตยทางการศึกษา ทั้งการศึกษาในระบบและตามอัธยาศัย บรรจุเหตุการณ์ทางการเมือง ทั้ง 14 และ 16 ตุลาฯ ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ เพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรงในอนาคต

3. ต้องผลักดันให้เกิดรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า จัดเก็บภาษีตามอัตราก้าวหน้า

4. ส่งเสริมระบบคุณธรรม แทนระบบอุปถัมภ์

5.เสนอรัฐบาลจัดสรรงบจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา ถาวร เพื่อเตือสติสังคมว่า เราจะอยู่ร่วมกันอย่างมีสันติธรรม มีศักดิ์ศรี และมีเสรีภาพได้อย่างไร

จากนั้น รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าวถึงขบวนการต่อสู้ของประชาชน จนถึงปัจจุบัน โดยเทียบกับกรณีต่างชาติ

ต่อมา เวลา 13.20 น. เป็นวงเสวนาและถามตอบ ดำเนินรายการโดย นายประวิตร โรจนพฤกษ์ กรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์

ในตอนหนึ่ง พลโท ดร.พงศกร รอดชมภู อดีตประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ สภาผู้แทนราษฎร และ รองประธานกรรมการมูลนิธิคณะก้าวหน้า ร่วมเสวนาหัวข้อ “วัฒนธรรมอำนาจนิยม ระบบอุปถัมภ์ และบทบาทกองทัพ”

พลโท ดร.พงศกรกล่าวว่า 45 ปีทีแล้ว เป็นเรื่องของ ขวา พิฆาตซ้าย คือความทุกข์ทรมานของประชาชนหลายระอก สิ่งที่อยู่ข้างหลังคืออำนาจ อำนาจที่แข็งแรงที่สุด คือทหาร ถามว่าจะยุติการแทรกแซงของทหารได้อย่างไร

“วัฒนธรรมอำนาจนิยม คือปัญหาใหญ่ของประเทศเรา ซึ่งจะอยู่กับวัฒนธรรมทางการเมืองแบบไพร่ฟ้าที่เราคุ้นชินในการดำเนินชีวิต มีการปลูกฝังให้ชิน คือการที่เรายังยึดถือตัวบุคคล และฝั่งซ้าย ฝั่งขวา แต่วัฒนธรรมประชาธิปไตยจะ ‘มีส่วนร่วมง ยิ่งประชาชนตื่นตัวทางการเมืองสูง จะยิ่งเป็นประชาธิปไตย แต่ใครก็อยากมีอำนาจทั้งนั้น เมื่อมีอำนาจจะเกิดความฉ้อฉล คนที่ว่าดีแต่ไหนแต่ไร มักเป็นคนเลวทั้งนั้นในตอบจบ

วิธีการกำจัดความฉ้อฉล ในสหประชาชาติ ต้องไปดูว่า คนที่มีอำนาจนั้นเด็ดขาดหรือไม่ ถ้าใช้อำนาจได้ตามใจจะอันตรายมาก อย่างทหาร มีอำนาจของตัวเอง ตรวจสอบไม่ได้ มีทายาททางการเมืองในระบบอุปถัมป์ดังนั้น ประชาธิปไตยจะเกิดได้

1.ต้องบีบให้การฉ้อฉลลดลง หรือเป็นไปไม่ได้ เช่น การตรวจสอบว่าใครเป็นคนรับผิดชอบเรื่องนั้นๆ

2. มั่นใจว่าคนที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการมือง ต้องต่อสู้ให้เขาแสดงความสุจริต สามารถตรวจสอบทรัยพ์สินได้

3 .บังคับให้มีความโปร่งใสในระบบ

พลโท ดร.พงศกรกล่าวต่อว่า การแทรกแซงทางการเมืองของทหาร เกิดจาก 1.อุตสหกรรมยังไม่โตพอ 2. เพื่อการรักษาฐานอำนาจ และว่า ที่ไทยทำรัฐประหารสำเร็จ เพรามั่นใจว่าทำรัฐประหารแล้วไม่ติดคุก

ด้าน พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เสวนาหัวข้อ “การปฏิรูปตำรวจ และ ความคืบหน้า พ.ร.บ. ป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหาย” กล่าวว่า ความจริง 6 ตุลา 19 เชื่อมโยงจาก 14 ตุลาคม 16 ต่อเนื่องกัน เหตุเกิดมา 45 ปี เราไม่ทำประวัติศาสตร์ให้เกิดการเรียนรู้เรื่องนี้ คนจำนวนมากจะลืมไป ทั้งที่เป็นเรื่องการสูญเสีย

“การนำจอมพลประภาส กลับเข้ามา รู้ว่าลุกเป็นไฟ แต่มีสื่อที่ตีข่าวว่า น.ศ.เป็นคอมมิวนิสต์ ปลุกเร้าตำรวจ-ทหาร รวมทั้งนักเรียนนายร้อย จปร. เราไม่เขียนประวัติศาสตร์ ถามว่าคนที่บงการทำอะไรอยู่ ยังอยู่ดีหรือไม่ เรายังไม่มีเครื่องมือที่เอื้อมไปถึง

ที่สำคัญ อยากถามว่า อุโมงค์อาวุธ ใน ม.ธรรมศาสตร์ มีหรือไม่ การสังหารคนจำนวนมาก เขาเป็น ‘ญวน’ หรือไม่ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ เราปล่อยให้ลืมไป ซึ่งคือเรื่องสำคัญ เพราะประเทศชาติที่เจริญ สำคัญคือ ต้องเอาบาดแผล และเอาอดีตมาเป็นบทเรียนที่สำคัญ ปัจจุบันและอนาคตคือความรับผิดชอบที่จะต้องไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ แต่ที่ไหนได้ เราเอาประวัติศาสตร์มาเป็นบทเรียน และพัฒนา จนเกิดเหตุการณ์พฤษภาคม ปี 35 และปี 52 สังหารคนในเมืองหลวง 99 ศพ มาสู่รัฐประหารปี 2557 และคดีต่างๆ ก็ถูกเป่าทิ้งเกลี้ยง เพราะอยู่ในอำนาจ

นี่อาจจะไม่ใช่เรื่องกฎหมาย เพราะเราเขียนกฎหมายดีอยู่แล้ว แต่ปัญหาคือ เรื่องการใช้อำนาจ ตำแหน่ง ผลประโยชน์ ต้องการสืบทอดอำนาจ เราพยายามปฏิรูปกฎหมายและสิ่งต่างๆ แต่ผู้ต้องการอำนาจ ใช้เป็นเครื่องมือเท่านั้น” พันตำรวจเอกทวีกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นเป็นการแลกเปลี่ยนความเห็นโดยผ็เชียวชาญในหลายประเด็น อาทิ ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย เสวนาหัวข้อ “มุมมองกระบวนการยุติธรรมกับความเห็นต่างทางการเมือง”,  นายสุธรรม แสงประทุม อดีตเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง เสวนาหัวข้อ “ทุ่งสังหาร 6 ตุลาฯ กับความรุนแรงที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง”, นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เสวนาหัวข้อ “การบังคับสูญหาย: อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ” และ นายชานันท์ ยอดหงษ์ นักเขียน นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย เสวนาหัวข้อ สันติวิธีกับการชุมนุม: อุปสรรคและความหวังของขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image