เสวนา 14 ตุลา เลขา P-Net จี้ ยกเลิกภูมิภาค ‘ทวี’ ลั่น แก้ รธน.ไม่พอต้องไล่ผู้นำ ‘ศิธา’ ปลุกรื้อรธน.ทั้งฉบับ

เสวนา 14 ตุลา เลขา P-Net จี้ ยกเลิกภูมิภาค ‘ทวี’ ลั่น แก้ รธน.ไม่พอต้องไล่ผู้นำ แนะใช้ รธน.ปี 17 ขจัด ‘ลอยนวลพ้นผิด’

เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว กรุงเทพฯ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.), มูลนิธิ 14 ตุลา และ 30 องค์กรประชาธิปไตย ร่วมจัดงานรำลึกและปาฐากถา 14 ตุลา ประจำปี 2564 โดย “ช่วงเช้า” มีการทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ 14 รูป ก่อนร่วมกล่าวรำลึกและปาฐกถา

โดยเวลา 13.15 น. ที่ห้องประชุมหลังอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา เข้าสู่กิจกรรมช่วงบ่าย มีการเปิดวงเสวนาในวาระครอบรอบ 48 ปี 14 ตุลา หัวข้อ “การเรียกร้องรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อสร้างสังคมประชาธิปไตย”

เวลา 14.00 น. นายกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ประเด็นที่เราต้องมาตกลงกันให้แน่ชัด คือรูปลักษณะเนื้อหาการเป็นราชอาณาจักรของประเทศไทยนั้น มีองค์ประกอบที่สำคัญอะไรบ้าง “ชาติ” ณ ที่นี้หมายความว่าอย่างไร ได้รวมทั้งชาวเล ชาวเขา ชนกลุ่มน้อย ผู้อพยพ แรงงานต่างด้าวด้วยหรือไม่ หรือจะแค่เป็นคนไทยเท่านั้น ต้องพูดกันให้ชัดว่า คำว่าชาติ มีความหลากหลาย มีอัตลักษณ์ สมควรที่จะเป็นพลเมืองไทยทั้งหมดและมีสิทธิเสรีภาพอย่างทัดเทียมหรือไม่

Advertisement

“ส่วนเรื่องของการกระจายอำนาจ การที่เราจะเปิดโอกาสให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ต้องผ่านหลากหลายรัฐบาลตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 40 ก็ไม่สามารถตัดสินใจได้ว่า จะต้องมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ขณะนี้ที่เรามีอยู่ คือความเหลื่อมล้ำระหว่าง พัทยา กับกรุงเทพมหานคร กับที่เหลืออีก 70 กว่าจังหวัด ที่เหลือประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีสิทธิที่จะเลือกผู้ว่า มีแค่ชาวกรุงเทพมหานครและชาวพัทยาเท่านั้น เป็นการเลือกปฏิบัติ ไม่เป็นประชาธิปไตย ขณะที่ญี่ปุ่น ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เขามี 47 จังหวัด เขาก็มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรง แล้วก็มีการแบ่งภาระหน้าที่ระหว่างรัฐบาลกลาง ที่กรุงโตเกียว กับรัฐบาลจังหวัดต่างๆ

สมาคมวิชาชีพหลายๆ ประเทศก็มีกฎหมายเพื่อให้ปกครองตัวเอง ไม่ต้องมีกระทรวง ทบวง กรม หรืออธิบดี ปลัดกระทรวงมาคอยบงการ มาลงโทษอะไรต่างๆ สำคัญที่สุดในสังคมประชาธิปไตย รัฐบาลต้องเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดทั้งในการบริการ จัดซื้อจัดจ้าง เหล่านี้ประชาชนต้องเข้าถึง และเมื่อมีเรื่องอะไรสำคัญจะต้องเอาข้อมูลมาให้ประชาชนเพื่อให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ เป็นเรื่องที่สำคัญ” นายกษิตกล่าว

Advertisement

ต่อมา เวลา 14.08 น. พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวว่า ประชาธิปไตย คือการปกครองโดยประชาชน เพื่อประชาน มีสิทธิ เสรีภาพ ภราดรภาค เราต้องเอาความจริงมาพูดกันว่า สังคมประชาธิปไตยมีมาก่อนรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญคือกติกาสูงสุดของประเทศ แต่ก็ต้องยอมรับว่า ประเทศที่มีรัฐธรรมนูญไม่จำเป็นต้องมีใหม่ อย่างสหรัฐฯ ใช้รัฐธรรมนูญเดิม 232 ปี อิตาลี 70 ปี ฯลฯ ดูในเอเชีย เช่น จีน 60 กว่าปี แม้จะมีการแก้ไข 5 ครั้ง ดังนั้น การเป็นสังคมประชาธิปไตยอาจจะไม่ใช่การมีรัฐธรรมนูญ แต่บริบท-วิถีชีวิตในสังคมต้องเป็นประชาธิปไตย

“14 ตุลามีการชุมนุมที่ใหญ่ที่สุด มีการเสียชีวิต 77 ศพ และบาดเจ็บ ซึ่งเยาวชนที่ออกมา มาเพื่อขับไล่เผด็จการ เพื่อมีความกินดีอยู่ดี สิ่งที่เรามองข้ามและมีคุณอนันต์ คือรัฐธรรมนูญ 2517 ที่เป็นประชาธิปไตย วีรชนเสียชีวิตไม่ได้ทิ้งอะไรไว้ แต่คือ ‘ความเป็นประชาธิปไตยในรัฐธรรมนูญ’ น่าเสียดายที่ใช้ได้แค่ปี 17 ก็เกิดการปฏิวิติ ฉีกทิ้ง วีรชนต้องเสียชีวิตเพิ่ม

เขาวางหลักประเทศระหว่างชนชั้น รัฐตั้งคณะกรรมการทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รัฐธรรมนูญ ปี 17 เขียนไว้ว่า รัฐต้องจัดหาที่ทำกิน ให้คนที่ไม่มีที่ดิน แต่รัฐธรรมนูญ 60 คุณต้องมาแสดงความจนให้รัฐดูก่อน ที่ดินของไทยที่สามารถออกโฉนดได้ และที่มีชื่ออยู่คือ 13 ล้านคน ส่วน 5-10 ไร่ มีแค่ 1 แสนกว่าคน แสดงว่า กระจุกตัว”

“รัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด ยังไม่ได้ร่าง รัฐบาลที่ดีที่สุดจึงยังไม่เกิด แต่ความจริงเราร่างมาแล้ว เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ และทำลายบุคคลฝ่ายตรงข้าม รากเหง้าของรัฐธรรมนูญนั้นกว่าจะได้มา การรัฐประการปี 2490 เมื่อดูตัวบุคคลที่ทำการรัฐประหาร มีจอมพลแปลก พิบูลสงคราม, จอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร คือเรื่องเดียวกันที่ให้รัฐธรรมนูญคือเรื่องสูงสุดของคนตัวเล็กตัวน้อย

เกือบ 30 ปี สถาบันการเมืองที่ใหญ่ที่สุดคือ ‘กองทัพ’ และ ‘ระบบราชการ’ ทำอย่างไรที่จะไม่ให้มีการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิด ไม่เช่นนั้นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ จะไม่เกิด

เราควรเอาจิตวิญญาณผู้เสียชีวิต เอารัฐธรรมนูญ ปี 17 มาใช้จะดีที่สุด เพราะรัฐธรรมนูญปี 60 เขียนให้สิทธิ แต่มียกเว้น และไทยใช้ข้อยกเว้นเป็นสำคัญ มีที่ไหน การชุมนุมโดยปราศจากอาวุธตามรัฐธรรมนูญ ไปใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ

กฎหมายประชาธิปไตย จะไม่เป็นระชาธิปไตย เมื่อผู้ใช้ใช้เพื่อทำลาย จึงเป็นการละเมิดสิทธิมนูษยชน ถ้าเราไม่ย้อนกลับมาทำสังคมให้เป็นประชาธิปไตย กฎหมายต้านการอุ้มหายทำอย่างไรจะให้ลากไปถุงยุคพระศรีอาริย์ได้ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมกันขอให้เอาเลือดเนื้อ อุดมการณ์ เอารัฐธรรมนูญปี 17 มาอ่าน แล้วจะเห็นคุณค่าว่า วันมหาวิปโยค เราได้รัฐธรรมนูญมาใช้แค่ 3 ปี

พ.ต.อ.ทวีกล่าวถึงความเป็นไปได้ของการมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนด้วยว่า เรามีรัฐอิสระ ซึ่งปกติภาษารัฐธรรมนูญ ต้องไม่คลุมเครือ คนสามารถอ่านเข้าใจ ถ้าผู้มีอำนาจต้องการอยู่ต่อ ก็ต้องแจกผลประโยชน์ให้กับคนมีตำแหน่ง การคัดเลือกคนเป็น ป.ป.ช. หรือ กรรมการสิทธิฯ กฎหมายเขียนกันเองทั้งหมด

“รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีสิ่งแปลกปลอม มากกว่านั้นมี ‘รัฐประหารเงียบ’ คือ ส.ว. 250 และมาตรา 279 ที่ให้คำสั่งของหัวหน้า คสช. ยังคงอยู่ และใช้เป็นนิรันดร์ ซึ่งยังตกค้างอีกหลาย 400-500 ฉบับ สิ่งนี้ผมมองเป็นอาชญากร คือผู้บงการร่างกฎหมาย และผู้บังคับใช้ เพราะกฎหมายที่ออกทำให้คนกลุ่มหนึ่งมีความสุข แต่ทำให้คนทั้งประเทศมีความทุกข์ กฎหมายที่ออกกลายเป็นสมบัติของผู้มีอำนาจ ตีความเข้าข้างตัวเอง คำตอบมีอยู่ในรัฐธรรมนูญ มีการเขียนกำชับความเป็นรัฐมนตรี ไว้หลายชั้น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นองค์กรอิสระ ไม่ยึดโยงประชาชน จึงไม่รับผิดชอบ

บ้านเมืองเข้าสู่ยุคที่มาตรฐานความเป็นธรรม คนกลุ่มหนึ่งทำอะไรก็ไม่ผิด คนอีกกลุ่มทำอะไรก็ผิด แม้มีกฎหมายคุ้มครองก็ผิด บังคับเต็มที่และรวดเร็ว ที่เลวร้ายสุดคือ ตำแหน่งนายกฯ ที่คุม ‘สำนักงานตำรวจแห่งชาติ’ แค่เดินไปแจ้งความปิดปาก ตำรวจก็สั่งฟ้องหมด ทั้งที่เป็นคดีหมิ่นประมาท ทั้งที่ควรจะส่งศาล

มนุษย์ไม่สามารถสู้กับกาลเวลาได้ แต่สังคมไม่สามารถสู้กับสยุคสมัยได้ ท่านกำลังทำร้ายเด็ก ที่อีกไม่กี่ปีเขาจะกลายเป็น ซีอีโอ (CEO) 6 ตุลา ไปบอกว่า ม.ธรรมศาสตร์ เป็นที่ซ่องสุม ก่อการร้าย ปลุกระดมข้าราชการ ประชาชนให้สังหารนิสิต นักศึกษาอย่างบ้าคลั่ง อยากถามผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ห้องใต้ดินที่เก็บอาวุธในธรรมศาสตร์ มีหรือไม่ สังคมปล่อยเรื่องนี้ทิ้งไว้

สิ่งที่เป็นมะเร็งร้าย คือการปล่อยให้คนผิดลอยนวล ขืนเรายังปล่อยให้มีวัฒนธรรมนี้ รัฐธรรมนูญก็จะกลายเป็นเศษกระดาษของผู้มีอำนาจ

นักศึกษา ออกแถลงการณ์ภายหลังเหตุการณ์ เพราะตำรวจรับใช้เผด็จการให้ไปเข่นฆ่าประชาชน ทุกวันนี้ก็ยังใช้ตำรวจทหาร เพราะเราไม่ได้ดำเนินการผู้กระทำความผิดวันนั้น มาถึงวันนี้ ผมก็ยังเห็นด้วยว่า แก้รัฐธรรมนูญไม่พอ ต้องไล่ผู้นำเหมือน 14 ตุลาคม” พ.ต.อ.ทวีกล่าว

จากนั้น เวลา 14.23 น. น.ส.ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ เลขาธิการ P-Net กล่าวว่า แม้ประชาธิปไตยจะขึ้นๆ ลงๆ เผด็จการก็ขึ้นๆ ลงๆ ซึ่งสะท้อนว่า เป็น “การต่อรองทางอำนาจ” ที่ยังคงมีอยู่เสมอ ต้องก้าวต่อไป ไม่ว่าบริบท สถานการณ์ เงื่อนไข จะเอื้อต่อเผด็จการมากน้อยแค่ไหน

รัฐธรรมนูญ 60 ทำลายหัวใจระบอบประชาธิปไตย ปูทางให้คณะบุคคลเข้าสู่อำนาจ วางกลไก ระบบเลือกตั้งที่ซับซ้อนแบบบัตรใบเดียว ผลคือ เวลาคิดคะแนนจะปวดหัว ขนาดนักคณิตศาสตร์ยังงง นำมาสูรัฐบาลปัจจุบันที่รวมศูนย์อำนาจ

ไม่พอ กลไก กกต., องค์กรอิสระ ที่วิธีการสรรหาผ่านระบบรัฐสภา ผลคือเราได้ กกต.ไร้ประสิทธิภาพ พูดได้เต็มปาก เพราะทำงาน กกต. มา 15 ปี แม้แต่การจัดการเลือกตั้งที่ง่ายๆ ทำกันมา 10 กว่าปี งานพื้นๆ ยังทำผิดพลาด หน่วยเลือกตั้งมีปัญหา บัตรเขย่ง บัตรจากต่างประเทศหาย แต่ก็ไม่เกิดอะไรขึ้น แม้จะมีความผิดพลาดมากมาย

“7 ปีที่ผ่านมาของการรวมศูนย์อำนาจของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ทำให้ประเทศถอดถอยเข้าคลอง ช่องว่างความเหลื่อมล้ำ ยากจน ผู้คนตกทุกข์ได้ยากทั้งสังคม ปัญหาการรวมศูนย์อำนาจที่สร้างเผด็จการและความไร้สมรรถภาพในการจัดากร จนภาคชุมชน ประชาสังคม ต้องลุกขึ้นมาจัดการปัญหาเอง รออำนาจรัฐไม่ไหว สภาพการณ์ที่เป็นไป ปัญหาที่เกิดขึ้น จะเป็นปรากฏการณ์ของหนุ่มสาวที่ปฏิเสธอำนาจรัฐ

ซึ่งในแง่ดี ‘การรวมศูนย์อำนาจ’ คือการระเบิด และแสดงพลังของตัวเองว่า เราก็แก้ปัญหาได้ ไม่ต้องรอรัฐ เพราะตราบใดที่ยอมจำนน เราอาจไม่สามารถอยู่รอดได้ จึงเป็นความจำเป็นที่จะต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แน่นอนว่า การเข้าสู่อำนาจจะต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ สะท้อนเจตจำนงของคนไทยทั้งประเทศ และกำหนดชะตาชีวิตได้ด้วยตนเอง” น.ส.ลัดดาวัลย์กล่าว และว่า

เรามีบีทีเอส เอ็มอาร์ที แค่หัวเมืองใหญ่ ไม่เห็นมีรถไฟฟ้าในจังหวัดอื่น รัฐธรรมนูญฉบับจะที่ออกมา ต้องกระจายอำนาจ กระจายความเจริญ

น.ส.ลัดดาวัลย์เสนอว่า “ต้องยกเลิกภูมิภาค” ทำอย่างไรให้เรากระจายความหลากหลาย ถ้าไม่มีภูมิภาค ความหลากหลายเหล่านี้จะเกิดขึ้น เช่น ทำไมตำรวจไม่เป็นของส่วนท้องถิ่น ทำให้ต้องขึ้นกับส่วนกลาง ทำให้มีความซ้ำซ้อนในอำนาจหน้าที่ ปัญหาที่เห็นซ้ำๆ คือความแร้นแค้น

ที่สั่งการ หนีไม่พ้น กระทรวงมหาดไทย เพราะผลประโยชน์มากมายมหาศาล ในการรวมศูนย์อำนาจ ทำให้รากฐานชุมชนง่อยเปลี้ยเสียกำลังทั้งที่เขามีศักยภาพ เราก็จะเจอปัญหาซ้ำซากเช่นนั้น จำเป็นที่ต้องให้ท้องถิ่น “ระเบิดพลังจากภายใน”

“วันที่ 18 พฤศจิกายน วันเลือกตั้ง คือวันพิสูจน์จุดเปลี่ยน ในการเข้าสู่อำนาจ การล้วงลูก มีแต่การสร้างความแตกแยก ดิฉันเชื่อว่า เขาประเมิณแล้วว่า 8 ปี อบต. สร้างความสุข หรือระทมทุกข์ให้แก่เขา ดิฉันเชื่อว่า พวกเขาจะสร้างความหวัง ในการสร้างการเมืองใหม่ ที่สะเทือนการเมืองระดับชาติ ด้วย 2 มือเปล่า ในการช่วยเขียนรัฐธรรมนูญให้เกิดการกระจายอำนาจ”

น.ส.ลัดดาวัลย์กล่าวเพิ่มเติมว่า การไม่ปล่อยให้ “คนผิดลอยนวล” สังคมไทยยังไม่มีในวัฒนธรรม ไม่ให้ความสำคัญเรื่องนี้ เราจึงพบเผด็จการทหาร มาฉีกรัฐธรรมนูญ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เขียนตอกย้ำไปกี่ฉบับก็ถูกฉีก เพราะ “สังคมไทยไปยอมรับอำนาจการฉีกรัฐธรมนูญ” ตั้งแต่ต้น ประวัติศาสตร์ 14 ตุลา – 6 ตุลา จะต้องมีการพลิกฟื้น รื้อคนผิดมาลงโทษ เราพูดทุกปี แต่จะไม่เกิด ตราบใดที่ยังไม่มีกระแสสังคมช่วยกันออกมาตอกย้ำ-รื้อฟื้นว่ายังมีคนผิดลอยนวลอยู่

เราจำเป็นต้องมี ส.ส.ร. แต่แค่ส่งเสียงไม่เพียงพอ ถ้าทุกพื้นที่เขียนรัฐธรรมนูญของตัวเอง แล้วค่อยๆ พัฒนาขึ้นเป็นรัฐธรรมนูญทั้งประเทศ จะสะท้อนว่า ประชาชนไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญที่เป็นเผด็จการ

จากนั้น น.ต.ศิธา ทิวารี ตัวแทนพรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ เหมือนรถยนต์ที่พัง การซื้อใหม่อาจจะถูกกว่าการซ่อมแซม ตนทันเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 อายุยังไม่ 9 ขวบ บ้านอยู่ ซ.กิ่งเพชร ผู้ชุมนุมเดินไป ม.ธรรมศาสตร์ ผ่านหน้าบ้าน เขาพูดว่า “ไอปุ๊ กูไม่เอา” กับอีกภาพที่ติดตา คือ จับนักศึกษาเอามือไขว้หลัง ตนเรียนเตรียทหาร จากนั้นไปฝึกการรบ ในความรู้สึกที่ฝังใจตั้งแต่เด็ก คือตอนที่โดนรัฐประหาร ทุกครั้งจะตราหน้าว่า นักการเมืองเลว

“รัฐธรรมนูญสำหรับผม คือรัฐธรรมนูญฉบับที่แย่ที่สุด คณะร่างรัฐธรรมนูญ มาจาก คสช.เป็นคนเลือก ใช้งบในการคัดสรรคนเป็นพันล้าน ระบุว่า ต้องเป็นคนที่เป็นกลาง แต่จะเห็นว่า ทุกคนยกมือเลือก พล.อ.ประยุทธ์ทั้งหมด ทำลายหลักการประชาธิปไตยอย่างรุนแรง รัฐธรรมนูญ 60 มีหน้าที่สืบทอดอำนาจให้คณะรัฐประหารทั้งสิ้น

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แต่การเปลี่ยนแปลงของโลก 4 ปีข้างหน้า อาจจะมากกว่า 40-50 ปีข้างหน้าก็ได้ ไม่มีประเทศไทยกล้ากำหนดแผนพัฒนาชาติยาวนานขนาดนี้ การคัดเลือกคนในองค์กรอิสระ เช่น เคยเป็นคนหน้าห้องของผู้ใหญ่ใน คสช. บ้าง เข้าไปอยู่ในองค์กรอิสระทั้งหมด ทำถูกให้เป็นผิด” น.ต.ศิธากล่าว และว่า

“รัฐธรรมนูญมีหน้าที่ส่งเสริมประชาธิปไตย แต่ที่เราใช้ มีหน้าที่ส่งเสริมเผด็จการ การจะไปซ่อมเล็กซ่อมน้อย ‘ไม่ได้’ ต้องแก้ทั้งฉบับ เราจะเห็นนักการเมืองออกมาพูดว่า จะไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ แต่ทั้งหมดไปร่วมและยกมือให้ ดังนั้น รัฐธรรมนูญ จึงต้องแก้ด้วยประชาชน”

น.ต.ศิธากล่าวต่อว่า ประชาธิปไตยกระท่อนกระแท่นและไม่สมบูรณ์แบบ อนุสรณ์สถาน สถูปถูกทำเสร็จ แต่ยอดให้ทำไม่เสร็จ เพื่อเน้นย้ำว่า รัฐธรมนนูญต้องแก้ไข เราได้เรียนรู้ และนำบทเรียนมาใช้ แต่ยังสู้ฝ่ายทหาร ที่แท็กทีมกับผู้ร่างไม่ได้ เรายังตามเขาไม่ทัน

ในการแก้ไข ต้องผ่านตัวแทนประชาชนโดยตรงเท่านั้น คือ ส.ส.ร. ซึ่งในสภา ผ่านมาแค่ร่างเดียวเท่านั้น คือแก้กติกาการเลือกตั้ง พรรคไทยสร้างไทย มีธงในการแก้อย่างเดียว คือ ต้องมาจากประชาชน โดยให้คนตัวเล็ก มีโอกาสเข้าไปร่าง” น.ต.ศิธา กล่าว

ด้าน นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ตนคงไม่ต้องใช้เวลามากกับการที่จะบอกว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ดีอย่างไร ตอน พ.ศ.2516 ที่เรามีการเรียกร้องรัฐธรรมนูญสมัยนั้น คนไทยยังต้องมาเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญกันอีก แต่เป็นการเรียกร้องจากเผด็จการซ่อนรูป เพราะว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ คนที่เป็นประธานกรรมการยกร่างชื่อ คุณมีชัย ฤชุพันธุ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกของ คสช.ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้า ตนจึงขอเรียกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่ารัฐธรรมนูญ ‘คสช.มีชัย’ แต่ ‘ประชาชนปราชัย’

“ระบบการตรวจสอบถ่วงดุลต่างๆ แบ่งแยกอำนาจล้มเหลวหมด เขียนขึ้นมาเพื่อให้ คสช.สามารถจะครองอำนาจต่อไป แต่ที่ผมสังเวทใจที่สุดคือ ขนาดเขียนรัฐธรรมนูญด้วยตัวพวกคุณเอง เอาพรรคพวกมาเขียน เวลาลงประชามติก็ปิดปากประชาชนไม่ให้เขาเห็นเป็นอย่างอื่น รัฐธรรมนูญที่เขียนด้วยคุณมีชัยและพรรคพวก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังไม่ยอมปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้เลย ทั้งๆ ที่ตัวเองบัญชาการมาหมด

ถามว่าอะไรที่เห็นได้ชัด ก็เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญที่สุดเ พื่อครองอำนาจอย่างทุเรศ เลือกสมาชิกวุฒิสภา รัฐธรรมนูญเขียนมาบอกว่าให้มีคณะกรรมการสรรหาที่มีความเป็นกลางทางการเมือง ไปสรรหาคนมาเพื่อที่จะเป็น ส.ว. ที่คสช.จะไปจิ้ม 294 คน ทั้งหมดมี 250 คน ส.ว.มี 250 คน 50 คนมาจากการเลือกกันเอง และก็มีที่เป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพ ผู้บัญชาการตำรวจ 6 คน คนเหล่านี้ก็เป็นคน คสช.ซึ่งมีอำนาจแต่งตั้งขึ้นทั้งสิ้น

ขณะนั้นมี ส.ว.อีก 294 คน ซึ่งเขาบอกว่า ต้องให้มีคณะกรรมการสรรหาคณะหนึ่ง มีประสบการณ์ด้านต่างๆ และมีความเป็นกลางทางการเมือง เสนอชื่อมา 400 คน คสช.ก็มาจิ้มเอาว่าจะเอา 194 คนจากใครบ้าง ถ้าปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ เอาคนที่มีความเป็นกลางทางการเมือง เข้าใจว่า คสช.คงจะกลัว เพราะว่า 400 ชื่อ อาจจะไม่ใช่ 400 ชื่อที่พร้อมใจยกมือให้ตัวเอง ก็เลยเลือกใประธานคือพลเอกประวิตร ถือว่ามีควาเป็นกลางทางการเมืองหรือไม่ ?

“นอกจากพลเอกประวิตรแล้ว คนที่เป็นกรรมการทั้งหลาย ส่วนใหญ่เป็นรองหัวหน้า คสช. หรือเป็นรองนายก เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์หมดทั้งสิ้น และมีนักกฎหมายอยู่ด้วยชื่อว่า ดร.วิษณุ เครืองาม สงสัยเหมือนกันว่า มีความเป็นกลางทางการเมืองหรือ นักกฎหมายอีกคนหนึ่งคือ ท่านพรเพชร วิชิตชลชัย ก็เป็นประธาน สนช.ที่มาจากคสช.เหมือนกัน มันผิดตั้งแต่ต้นแล้ว ส.ว.ชุดนี้ และ ส.ว.ชุดนี้ก็ทำหน้าที่ในการไปสร้างเครือข่ายที่จะสนับสนุนรัฐบาล คสช.

รัฐธรรมนูญที่ดี ผมว่าหัวใจสำคัญในขณะนี้เราพยายามจะคิดใน ‘ประชาธิปไตยแบบตัวแทน’

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image