โปรดเกล้าฯพระราชทานยศ ‘พลเรือตรี’ เป็นกรณีพิเศษ แก่ นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

ภาพกราฟิกลิขสิทธิ์ของ "มติชนออนไลน์"

โปรดเกล้าฯพระราชทานยศ ‘พลเรือตรี’ เป็นกรณีพิเศษ แก่ นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศทหารเป็นกรณีพิเศษ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานยศ พลเรือตรี เป็นกรณีพิเศษ ให้แก่ นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย นายทหารพ้นราชการ สังกัดกองทัพเรือ เนื่องจากเป็นผู้ประกอบคุณงามความดี มีผลงานเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน องค์กร ทำคุณประโยชน์ให้แก่กองทัพเรือและประเทศชาติโดยส่วนรวม ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2564

ประกาศณวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ.2564

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ขณะที่ กองประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ เปิดเผยประวัติ พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย ระบุตอนหนึ่งว่า พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย เป็นผู้มีอุปนิสัยสนใจใคร่รู้ต่อสิ่ง หรือเรื่องราวต่างๆ มาตั้งแต่วัยเด็ก เมื่อได้บรรพชาเป็นสามเณร และได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนปริยัติธรรม จึงมิได้สนใจเฉพาะหลักวินัยที่ปรากฏในหลักสูตรการเรียนของแต่ละชั้น แต่ยังเรียนรู้และตั้งข้อสังเกตต่อหลักวิชาและประสบการณ์ต่างๆ ที่ได้พบเห็น ยิ่งได้ซึมซับหลักวิชา และความเป็นไปในสังคมมากเท่าใด ก็ยิ่งเกิดแรงบันดาลใจให้แสดงออกและสร้างสรรค์งานวรรณกรรม

Advertisement

ในด้านกวีนิพนธ์ พลเรือตรี ทองย้อย เป็นผู้ที่มีความสามารถอย่างสูงในการแต่งบทกวี โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ได้เริ่มแต่งมาตั้งแต่ครั้งยังบวชเรียน (ดังจะเห็นได้จากฉายาที่ได้รับตอนบวช คือ “วรกวินฺโท” ซึ่งหมายถึง “จอมกวีผู้ประเสริฐ”) โดยในยุคแรกได้รับแรงบันดาลใจจากสภาพชีวิตชนบทที่ถือกำเนิด ทั้งความบริสุทธิ์ของธรรมชาติ ผู้คน และวัฒนธรรม ยิ่งเมื่อได้บรรพชาอุปสมบทและศึกษาปริยัติธรรมอย่างสนใจ ก็ยิ่งทำให้รู้ลึกถึงแก่นแกนของวิถีชีวิตและวัฒนธรรมไทย ซึ่งเกือบทั้งหมดมีพระพุทธศาสนาเป็นบ่อเกิด จึงปรารถนาจะถ่ายทอดและจารึกสิ่งที่ได้ศึกษาและได้เห็นมา หลังจากลาสิกขา ก็ยังเขียนงานกวีนิพนธ์อย่างต่อเนื่อง

เมื่อเข้ารับราชการในกองทัพเรือได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แต่งบทกวีต่างๆ ในโอกาสสำคัญของกองทัพเป็นประจำ ที่สำคัญคือคำร้อยกรองกาพย์เห่เรือ ซึ่งใช้ในพระราชพิธีสำคัญๆ ในการเสด็จทางชลมารค การได้รับมอบหมายให้รับหน้าที่เป็นผู้แต่งบทกาพย์เห่เรือเหล่านี้ นาวาเอก ทองย้อย จึงถือเป็นเกียรติยศอันสูงยิ่งที่ได้รับใช้ต่อองค์พระประมุขของประเทศที่ นาวาเอก ทองย้อย จงรักภักดีเป็นที่ยิ่ง และได้รับใช้หน่วยงานต้นสังกัด รวมทั้งยังเป็นการสร้างมรดกให้แก่แผ่นดินสืบไป

ในด้านวรรณกรรมเกี่ยวกับวิชาการศาสนา จากผลของการศึกษาปริยัติธรรมจนจบเปรียญธรรม ๙ ประโยค นอกจากทำให้มีความรู้ในทางธรรมเช่นเดียวกับมหาเปรียญทั่วไปแล้ว ยังทำให้เกิดปณิธานแน่วแน่ที่จะปกป้องเชิดชูพระพุทธศาสนา ซึ่งได้แก่หลักธรรมคำสอนให้บริสุทธิ์มั่นคงด้วย การเผยแผ่วิชาการของพระพุทธศาสนาที่ถูกต้อง และบทบาทในเรื่องนี้ จำเป็นอย่างยิ่งยวดที่ต้องอาศัยความรู้จริง ความวิริยะอุตสาหะในการค้นคว้า และความสามารถทางด้านวรรณกรรม ที่จะถ่ายทอดหลักวิชาซึ่งคนทั่วไปถือว่าเข้าใจยากและน่าเบื่อหน่ายให้คนเข้าใจได้ จึงมุ่งมั่นศึกษาและค้นคว้าวิชาการในพระพุทธศาสนาจนแตกฉาน ฝึกฝนการเขียนงานวิชาการจนสร้างผลงานออกมามิได้ขาด ซึ่งมีทั้งประเภทให้ความรู้ทางพระพุทธศาสนาโดยทั่วไป และผลงานที่มุ่งชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อพระรัตนตรัยที่มีผู้อื่นเขียนขึ้น อันจะทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่พระพุทธศาสนาได้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image