มท.1 สั่งผู้ว่าฯ ใต้-เพชบุรี-ประจวบฯ รับมืออุทกภัยปลายต.ค. แนะสายด่วน 1784 หรือ 1567 โทร.ฟรี

มท.1 ห่วงใยประชาชน สั่งการผู้ว่าฯ 14 จังหวัดภาคใต้ เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ เตรียมพร้อมรับมืออุทกภัยปลายเดือนตุลาฯ นี้ หากได้รับความเดือดร้อน โทร 1784 หรือ 1567 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง

วันที่ 21 ต.ค. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติได้ติดตามลักษณะอากาศร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าช่วงปลายเดือนตุลาคม ปี 2564 จะมีร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านภาคกลางและภาคตะวันออก จะเลื่อนลงไปพาดผ่านบริเวณภาคใต้และอ่าวไทย ทำให้บริเวณภาคใต้มีฝนตกชุกหนาแน่นและอาจมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้ามาใกล้ประเทศไทย และต่อเนื่องลงมาจนถึงอ่าวไทยตอนบนและภาคใต้ได้ ส่งผลให้ภาคใต้มีฝนตกเพิ่มมากขึ้น อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากในบางแห่ง

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด 14 จังหวัดภาคใต้ จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เตรียมพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยที่อาจเกิดขึ้น โดยกำชับให้ติดตามปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่เคยประสบอุทกภัย น้ำท่วมขัง และดินโคลนถล่มจากฝนตกหนัก หรือเสี่ยง หากฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ เช่น พื้นที่ในเขตเศรษฐกิจของจังหวัด พื้นที่ท้ายเขื่อน อ่างเก็บน้ำ ฝาย ที่มีน้ำมาก และเชิงเขา จนมีแนวโน้มจะเกิดสถานการณ์ ก็ให้ฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ รีบแจ้งเตือนพี่น้องประชาชนทางหอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน/ชุมชน วิทยุชุมชน สื่อสังคมออนไลน์ และทุกช่องทางสื่อสารอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง และเร่งดำเนินการอพยพประชาชนตามแผนเผชิญเหตุ โดยเน้นย้ำประชาสัมพันธ์หมายเลขโทรศัพท์ติดต่อขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ ทั้งสายด่วนนิรภัย 1784 และสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 ให้ประชาชนทราบ

นอกจากนี้ บริเวณพื้นที่ติดชายฝั่งและสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เช่น น้ำตก หรือถ้ำ ก็ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดมาตรการในการแจ้งเตือน และห้ามบุคคลใดเข้าพื้นที่ในช่วงที่มีฝนตกหนัก หรือตกหนักมาก ส่วนพื้นที่ที่ติดทะเล ชายหาดต่าง ๆ ให้แจ้งเจ้าของเรือนำเรือเข้าที่กำบัง และห้ามการเดินเรือในช่วงที่มีคลื่นลมแรงโดยเคร่งครัด หากพบว่ามีเรือขนาดเล็กอยู่นอกชายฝั่งที่อาจจะเป็นอันตราย ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำเรือดังกล่าวกลับเข้าฝั่งเพื่อความปลอดภัยทันที และให้กำชับสถานประกอบการ โรงแรมในพื้นที่ชายทะเล แจ้งเตือนให้นักท่องเที่ยวระมัดระวัง และห้ามลงเล่นน้ำในช่วงที่มีคลื่นลมแรงโดยเด็ดขาด

Advertisement

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวต่อว่า หากสถานการณ์ในพื้นที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ให้รีบอพยพประชาชนในพื้นที่ที่เสี่ยงภัยไปยังพื้นที่ปลอดภัย หรือศูนย์พักพิงที่จัดเตรียมไว้ทันที และจัดชุดปฏิบัติการจากหน่วยราชการ มูลนิธิ อาสาสมัคร ประชาชนจิตอาสา เข้าคลี่คลายสถานการณ์ พร้อมทั้งให้ดูแลความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนในด้านต่าง ๆ โดยน้อมนำพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขโดยเร็ว โดยเฉพาะด้านการดำรงชีพ ด้วยการจัดตั้งโรงครัวพระราชทานประกอบเลี้ยง การแจกจ่ายถุงยังชีพตามวงรอบ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ โดยต้องดำเนินการควบคู่ไปกับมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และเมื่อสถานการณ์คลี่คลายแล้ว ให้เร่งสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้นในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านชีวิต ที่อยู่อาศัย พื้นที่การเกษตร สาธารณประโยชน์ หรือสาธารณูปโภค โดยให้เข้าช่วยเหลือและฟื้นฟูตามระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเร่งด่วน

กระทรวงมหาดไทย โดยกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ มีความห่วงใยในสวัสดิภาพของพี่น้องประชาชนจากสถานการณ์ดังกล่าวเป็นอย่างมาก จึงขอให้พี่น้องประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารจากภาครัฐอย่างใกล้ชิด และหากพี่น้องประชาชนต้องการขอรับความช่วยเหลือ สามารถติดต่อสายด่วนนิรภัย โทร. 1784 หรือสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม โทร. 1567 ได้ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าให้ความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image