มูลนิธิผสานวัฒนธรรม รำลึกเหตุ ‘ตากใบ’ ย้ำ 17 ปีคดีไม่คืบ ต้องไม่เกิดซ้ำ-นำคนผิดมาลงโทษ

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม รำลึกเหตุ ‘ตากใบ’ ย้ำ 17 ปีคดีไม่คืบ ต้องไม่เกิดซ้ำ-นำคนผิดมาลงโทษ

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ในวาระครบรอบ 17 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุมของประชาชนหน้าสถานีตำรวจภูธร อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 85 คน สูญหาย 7 คน และบาดเจ็บมากกว่า 1,000 คน นั้น

“มูลนิธิผสานวัฒนธรรม” (CrCF) ได้โพสต์คลิปวิดีโอพร้อมข้อความ ร่วมรำลึกเหตุการณ์ดังกล่าว ความว่า ครบรอบ 17 ปี เหตุจลาจลที่ตากใบ (25 ตุลาคม 2547) การสลายการชุมนุมที่มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

คดีอาญากำลังจะหมดอายุความซึ่งเป็นเวลา 20 ปี กฎหมายไทยในปัจจุบันยังไม่สามารถนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษ อีกทั้งชุมชนและสังคมก็ยังไม่ได้รับคำขอโทษหรือสำนึกผิดต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรง และเป็นอาชญากรรมสากลที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นไม่ว่าจะสถานการณ์ใดใด และต้องไม่เกิดขึ้นอีก

ที่ผ่านมากฎหมายอาญาเดิม ไม่สามารถนำผู้กระทำความผิดที่เป็นเจ้าหน้าที่มาลงโทษทางอาญาได้ พ.ร.บ.ทรมานอุ้มหายที่กำลังจะผ่านสภาผู้แทนราษฎรมีผลบังคับใช้ กำหนดนิยามและกำหนดโทษที่จะสามารถป้องกันและนำคนผิดมาลงโทษได้เหมาะสมกับการกระทำความผิดที่ร้ายแรงนี้

Advertisement

นอกจากนี้ ยังเปิดเผยภาพการทำกิจกรรมทางศาสนาอิสลามของชาวบ้าน ในงานรำลึก 17 ปี เหตุจลาจลที่ตากใบ ซึ่งจัดขึ้นที่โรงเรียนตาดีกา หมู่บ้านจาเราะ ตำบลไพรวัน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ตั้งแต่เวลา 13.30-14.00 น. โดยมีการละหมาดฮายัติ, อ่านอัรวะห (อ่าน “อัลกุรอ่าน” แก่ผู้สูญเสีย) และการกินเลี้ยงขนมจีน, ละแซ

ไปจนถึงการชูป้ายข้อความร่วมรำลึก อาทิ “จำได้ตลอด ไม่เคยลืม” “เมืองที่สวย เต็มไปด้วยเรื่องเศร้า” “น้ำตาและความสูญเสียของมนุษย์” “ไต่สวนการตาย ความจริงยังไม่ปรากฏ” “25 ตุลาคม 2547 วันแห่งความเศร้าโศก” “ตาบา ดารุ้ลนาอีม : ตากใบ ถิ่นที่สวยงาม”

ขณะที่ “กลุ่มทะลุฟ้า” ได้โพสต์ข้อความร่วมรำลึก ระบุว่า 17 ปีกรณีตากใบ : หรือทหารไทยนี่แหละที่คอยโหมไฟใต้?

25 ตุลาคม 2547 ถือเป็นอีกวันที่ไฟความโกรธของชาวสามจังหวัดชายแดนใต้ ถูกจุดขึ้น เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเนื่องจากมีประชาชนชาวมุสลิมจำนวนมากออกมาชุมนุมประท้วงที่หน้าสถานีตำรวจ เพราะไม่เห็นด้วยที่ตำรวจขังประชาชนจำนวน 6 คน ที่เป็นชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน เพราะเชื่อว่าพวกเขาส่งอาวุธให้ผู้ก่อความไม่สงบเนื่องจากอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงหรือทหารจึงค่อนข้างมีอำนาจมากในการจัดการกับความไม่สงบ ดังนั้น เมื่อการประท้วงเริ่มตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ ทหารจึงเข้ามาร่วมจัดการประชาชนในวันนั้น

ผลจากการเข้าร่วมปฏิบัติการปราบปรามประชาชนของทหาร ทำให้ประชาชนเสียชีวิตทันทีอีก 6 คน และถูกจับกุมใส่รถบรรทุกไปอีกกว่าพันคน ความแออัดของรถขนผู้ต้องหานี้เองทำให้ระหว่างทางที่จะไปค่ายทหารนั้นมีคนเสียชีวิตอีกอย่างน้อย 76 คน เพราะหายใจไม่ออก

การสืบสวนหาความจริงพบว่า การสลายการชุมนุมในวันที่ 25 ตุลาคมนั้น ไม่ได้กระทำโดยเห็นว่าประชาชนผู้ชุมนุมประท้วงเป็นมนุษย์เหมือนกับพวกเขา หากแต่ถูกมองว่าเป็นศัตรูที่ต้องกำจัด ทหารในวันนั้นได้ใช้กองกำลังติดอาวุธ ให้ทหารเกณฑ์และทหารพรานที่ไม่ได้มีความสามารถและวุฒิภาวะในการเข้าปราบปรามประชาชนอย่างทารุณ รวมถึงการขนย้ายด้วยวิธีการป่าเถื่อนราวกับพวกเขาเป็นสัตว์ ก็เลวร้ายพอกัน แต่น่าเศร้าที่ผู้กระทำผิดไม่เคยต้องได้รับโทษที่ตัวเองก่อไว้เลย

อย่างไรก็ตาม ผบ.ทบ.ในขณะนั้น ซึ่งก็คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็ไม่เคยออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ดังกล่าวเลย ทั้งที่ถ้าหากทหารใช้สมองมากกว่านี้สักหน่อย ความโกรธแค้นคงไม่ทวีคูณขนาดในวันนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image