ครบ 17 ปีตากใบ ‘โรม’ หวัง กม.ป้องกันซ้อมทรมานลุล่วง จะไม่เกิดเรื่องเศร้าที่รัฐทำป่าเถื่อนกับ ปชช.อีก

ครบ 17 ปีตากใบ ‘โรม’ หวัง กม.ป้องกันซ้อมทรมานลุล่วง จะไม่เกิดเรื่องเศร้าที่รัฐทำป่าเถื่อนกับ ปชช.อีก

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวเนื่องในวาระครบรอบ 17 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุมของประชาชนหน้าสถานีตำรวจภูธร อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 85 คน สูญหาย 7 คน และบาดเจ็บมากกว่า 1,000 คน ว่า ครบรอบ 17 ปี เหตุการณ์ตากใบ โศกนาฏกรรมและความอัปยศของการทรมานและการย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่จะต้องไม่เกิดขึ้นอีก

นายรังสิมันต์กล่าวว่า ในวันนี้ (25 ตุลาคม 2564) ที่ผมได้เข้าประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายด้วยนั้น ก็บังเอิญว่าตรงกับวันครบรอบ 17 ปี เหตุการณ์สังหารหมู่ที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส พอดี กล่าวโดยสรุป เหตุการณ์ครั้งนั้นเริ่มต้นจากการที่ชาวบ้านชุมนุมประท้วงที่หน้าสถานีตำรวจ เนื่องจากตำรวจได้จับกุมชาวบ้านจำนวนหนึ่งไปสอบสวนเป็นเวลานานกว่าสัปดาห์โดยไม่ยอมปล่อยออกมา ปรากฏว่าตำรวจกลับโต้ตอบด้วยการสลายการชุมนุม ใช้ปืนและแก๊สน้ำตาจนมีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 7 คน

นายรังสิมันต์กล่าวต่อว่า ทั้งยังควบคุมตัวอีกนับพันคนขึ้นรถบรรทุกโดยให้นอนทับกัน อยู่ในสภาพหายใจแทบไม่ออก ปัสสาวะและอุจจาระราด นำตัวไปค่ายทหารที่ห่างออกไปกว่า 150 กิโลเมตร จนมีผู้เสียชีวิตระหว่างทางและที่โรงพยาบาลเพิ่มอีก 78 คน ซึ่งจนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีใครต้องรับผิดชอบอะไรกับการที่มีคนจำนวนมากเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ

“เมื่อมองย้อนกลับไป เหตุการณ์ตากใบก็คือหนึ่งในการกระทำอันโหดร้ายที่เรากำลังพยายามขจัดมันให้สิ้นไปอยู่นี้เอง การที่เจ้าหน้าที่นำคนมานอนทับกันนานหลายชั่วโมงจนขาดอากาศหายใจเสียชีวิต กระทำกับเข้าด้วยการเลือกปฏิบัติเพราะเห็นว่าเป็นคนที่เข้าข้างผู้ที่ตัวเองสงสัยว่าก่อความไม่สงบ ย่อมเป็นที่ชัดเจนว่าเข้าข่ายการทรมาน และแม้ว่าบางคนอาจรอดชีวิตมาโดยไม่ได้รับอันตรายร้ายแรงเหมือนคนอื่นๆ แต่การที่เขาต้องนอนดมกลิ่นของเสียจากร่างหายคนอื่น ถูกกระทำเหมือนเป็นสิ่งของถูกบรรทุกไว้ นี่ก็ย่อมเข้าข่ายการกระทำย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

Advertisement

“กรณีตากใบและอีกหลายๆ กรณีในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงเป็นตัวอย่างชัดเจนของการทรมานและย่ำยีศักดิ์ศรีที่มีมานานแล้วและมีมาโดยตลอด ซึ่งสิ่งที่เกิดในพื้นที่ดังกล่าวก็มักถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างในการพิจารณาของ กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันปราบปรามการทรมาน-อุ้มหายอยู่เสมอ” นายรังสิมันต์กล่าว

นายรังสิมันต์กล่าวว่า พื้นที่ชายแดนภาคใต้คือพื้นที่ที่รัฐใช้งบประมาณและกำลังจำนวนมากในการพยายามสร้างความสงบ ซึ่งนานแสนนานแล้วที่ไม่สำเร็จ มีแต่การสูญเสียที่เกิดขึ้นพร้อมกับกรณีการอุ้มหาย ซ้อมทรมานจำนวนมาก โดยที่ประชาชนได้แต่หวาดกลัวเมื่อตัวพวกเขาในฐานะเจ้าของประเทศต้องอยู่อย่างหวาดกลัวต่อการถูกมองเป็นศัตรูโดยผู้มีอำนาจรัฐ

“การสูญเสียที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งของผู้มีอำนาจรัฐและประชาชนครั้งแล้วครั้งเล่าล้วนสร้างวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด จนนำมาสู่การเกิดขึ้นของกรณีซ้อมทรมานและอุ้มหายมากมายต่อมา

Advertisement

“หากการผลักดันกฎหมายป้องกันการซ้อมทรมานเสร็จสิ้น การเริ่มกลไกป้องกันสิทธิมนุษยชนจากการกระทำของรัฐก็จะสามารถเริ่มขึ้นได้ และเราจะได้ไม่มีกรณีอันน่าเศร้าสลดที่รัฐไทยกระทำต่อประชาชนของตนเองอย่างป่าเถื่อนเช่นนี้ให้ต้องมารำลึกการสูญเสียกันอีก” นายรังสิมันต์ระบุ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image