‘กรณ์’ ร่วมแจม ชี้ ข้อบกพร่องรถคันแรก หนี้ครัวเรือนพุ่งกระฉูด

เมื่อวันที่ 27 พ.ย. จากกรณี พงศ์พล ยอดเมืองเจริญ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคกล้า เขียนบทความวิจารณ์นโยบายรถคันแรกในโอกาสครบรอบ 10 ปี ระบุว่าเป็นโครงการที่มีปัญหา เอื้อประโยชน์กลุ่มทุนบางกลุ่ม ทั้งยังก่อให้เกิดนิสัยฟุ่มเฟือย เกิดปัญหาการจราจรติดขัด ต่อมามีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตจำนวนมาก เข้าไปแสดงความเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย มีการโต้เถียงไปในหลายแนวทาง ล่าสุด นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า เข้าไปแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรถคันแรก โดยชี้ว่าพบข้อบกพร่องในเชิงนโยบายหลายเรื่อง เช่นความไม่รอบคอบช่วงดำเนินนโยบาย จนส่งผลกระทบอุตสาหกรรมยานยนต์ถึง 5 ปี เป็นต้น นายกรณ์ระบุช่วงหนึ่งว่า

“ผมขอเล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่าเมื่อ 10 ปีก่อน ตอนช่วงท้ายของการเป็นรัฐบาล ผมได้ออกแบบและนำเสนอโครงการ ‘บ้านหลังแรก’ และมีทีมงานมาบอกว่าพรรคเพื่อไทยกำลังคิดเสนอนโยบาย ‘รถคันแรก’ ผมเลยเอามานั่งคิดเปรียบเทียบ และสรุปว่าบ้านหลังแรกคือ การส่งเสริมให้มีการเข้าถึงปัจจัย 4 เพิ่มความมั่นคงให้ประชาชนและเป็นการออมที่ดี เพราะบ้านราคามักจะสูงขึ้น ในขณะที่รถยนต์แค่ถอยออกมาจากร้านราคาก็หายไปหลักหมื่นแล้ว แถมการมีรถยังนำไปสู่ค่าใช้จ่ายอีกมากมาย ใครไม่พร้อมจริงไม่ควรซื้อ เราเลยปฏิเสธนโยบายนี้

แน่นอนทุกนโยบายมีผู้ได้ประโยชน์ ใครจะซื้อรถอยู่พอดี หรือมีความจำเป็นต้องมีรถยนต์ในจังหวะนั้นก็ต้องรู้สึกว่านโยบายนี้ดี แต่การกำหนดนโยบายที่ดีต้องคิดให้รอบคอบ ซึ่งผลลัพธ์ของโครงการนี้สุดท้ายส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไป 5 ปี เพราะทำให้ยอดขายกระจุกตัวและบริษัทผลิตรถยนต์ก็ผลิตให้ไม่ทันในปีที่ออกนโยบาย นโยบายนี้ที่พลาดอีกสาเหตุหนึ่งคือรัฐบาลไปกำหนดเงื่อนไขเวลา ทำให้หลายคนที่ไม่พร้อมต้องเร่งซื้อทั้งๆ ที่ไม่พร้อม หากรัฐบาลส่งสัญญาณว่าสิทธินี้มีให้ 5 ปี ใครไม่พร้อมยังไม่ต้องรีบ ผลค้างเคียงคงจะน้อยลง เรื่องรถติดผมว่าไม่เท่าไร แต่ที่แน่ชัดคือหนี้ครัวเรือนที่พุ่งกระฉูดในช่วงนั้น ซึ่งนักวิชาการวิเคราะห์ว่ามีเหตุผลสำคัญมาจากโครงการรถคันแรก”

ด้าน พงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เข้ามาตอบการแสดงความเห็นของนายกรณ์ ระบุว่า “ขอบคุณสำหรับข้อมูล insight ครับ คุณกรณ์ .. ผมดีใจที่หลายท่านในนี้เข้ามาแลกเปลี่ยนมุมมอง และช่วยให้ผมเข้าใจ-รับฟัง-เห็นใจประชาชนอีกมุมนึง ที่ส่วนลดหย่อนโครงการ “รถคันแรก” มีประโยชน์กับพวกเค้าจริง… แต่เมื่อพิจารณามุมกว้าง คำนึงถึงปัจจัยรอบด้าน ทั้งทางสังคม-ทางเศรษฐกิจในครัวเรือน-ทางสิ่งแวดล้อม …ด้วยความเคารพ แทบมองไม่เห็นถึงความมีน้ำหนักในการเป็นนโยบายเยียวยาที่เร่งด่วน+จำเป็น หลังสถานการณ์วิกฤตน้ำท่วมสักเท่าไร… และแน่นอนครับ เรื่องกรอบ เงื่อนไขเรื่องเวลา ยังสร้างปัญหาทั้งผู้ซื้อที่ยังไม่พร้อม (แต่ต้องรีบซื้อภายในปีนั้น) และฝั่งผู้ผลิต ที่ผลิตไม่ทันรับรถล่าช้าไปมาก …หากขยายกรอบเวลาเป็น 5 ปีตามที่คุณกรณ์เสนอมา จะทำให้ยืดหยุ่นขึ้น จะลดปัญหาทั้ง 2 ฝั่งไปได้เยอะครับ”

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image