ฮือฮา! สรรหาอธิการ มช.คนใหม่ ให้เสนอชื่อด้วยวิธีปรึกษาหารือ ห้ามใช้วิธีเลือกตั้ง-หยั่งเสียง

ข้อบังคับสรรหาอธิการ มช.คนใหม่ ให้เสนอชื่อด้วยวิธีปรึกษาหารือ ห้ามใช้วิธีเลือกตั้ง-หยั่งเสียง จนท.ที่ดำเนินการจะมีความผิดทางวินัย 

เมื่อวันที่ 27 พ.ย. กรณีจะมีการคัดเลือกอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โลกออนไลน์มีการแชร์ข้อบังคับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่าด้วยการสรรหาอธิการบดี (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2564 ข้อ 5 (4) โดยมีระเบียบข้อหนึ่ง สั่งห้ามมีการสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งหรือการหยั่งเสียง หากเจ้าหน้าที่คนใดกระทำหรือสนับสนุน จะมีความผิดทางวินัย หน่วยงานต่างๆ ให้ใช้วิธีการเสนอชื่อด้วยวิธีปรึกษาหารือเท่านั้น

เพจศูนย์วิจัยฯ มหาวิทยาลัยหน้าบางแห่งหนึ่ง เผยแพร่ความเห็นของ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล นักวิชาการคณะนิติศาสตร์ โดยระบุว่า

เมื่อการเสนอให้มีการหยั่งเสียงอธิการบดีกลายเป็น “ความผิด” ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เนื่องในโอกาสที่จะมีการดำเนินการคัดเลือกอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เกิดขึ้นใน พ.ศ.2565 ในระหว่างนี้ทางสภามหาวิทยาลัยได้ออกข้อบังคับด้วยการกำหนดว่าผู้สมัครคนใดสนับสนุนการเลือกตั้งและการหยั่งเสียง คณะกรรมการก็สามารถตัดชื่อออกได้ และหากผู้ปฏิบัติงานคนใดมีส่วนร่วมหรือสนับสนุนก็จะถือว่ามีความผิด “ทางวินัย” โดยมีรายละเอียดดังนี้ “ในการเสนอรายชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีทุกขั้นตอนให้ใช้วิธีปรึกษาหารือ และมิให้ดำเนินการโดยวิธีเลือกตั้งหรือหยั่งเสียง หากปรากฏหลักฐานว่าผู้สมัครหรือผู้ถูกเสนอชื่อรายใดสนับสนุนโดยตรงหรือโดยอ้อม หรือยอมรับวิธีการเลือกตั้งหรือหยั่งเสียง ให้คณะกรรมการตัดชื่อออกจากกระบวนการสรรหา และถ้ามีผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยร่วมดำเนินการ หรือสนับสนุนก็ให้ถือว่ามีความผิดทางวินัย”

Advertisement

ข้อบังคับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่าด้วยการสรรหาอธิการบดี (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2564 ข้อ 5 (4) ดูข้อบังคับฉบับเต็มที่

“คำถามสำคัญก็คือว่าการสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งหรือการหยั่งเสียงจะทำให้เกิดความเสียหายอันใดขึ้น จึงได้เป็นการกระทำที่กลายเป็น “ความผิด” ที่ต้องได้รับการลงโทษ รวมถึงหากเป็นบุคลากรของมหาวิทยาลัยก็จะกลายเป็นความผิดวินัย ข้อบังคับเช่นนี้ไม่สามารถให้คำอธิบายได้เลยว่ากระบวนดังกล่าวมีความเลวร้ายเช่นใด จนกระทั่งห้ามมิให้บุคลากรเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งที่กระบวนการหยั่งเสียงก็เป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ในหลายมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย เช่น ธรรมศาสตร์ เป็นต้น การออกข้อบังคับเช่นนี้ก็มีแต่จะทำให้เกิดข้อครหาว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยชมชอบแต่การ “ปรึกษาหารือ” ซึ่งแน่นอนว่าคงอยู่ในวงจำกัดเพียงคนจำนวนไม่มาก หากผู้เสนอตัวเป็นอธิการบดีแต่ละคนมีคุณสมบัติวิเศษก็ควรต้องแสดงให้ประชาคมได้ประจักษ์ รวมถึงการประเมินความเห็นพ้องของบุคลากรจะเป็นการกระทำที่ควรยิ่งต้องกระทำมิใช่หรือ ที่สำคัญก็จะทำให้กระบวนสรรหาอธิการบดีถูกมองว่าเป็นเพียง “พิธีกรรม” ที่เราต่างก็รู้ๆ กันอยู่ว่าผลสุดท้ายจะลงเอยในแบบใด” รศ.สมชาย ระบุ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image