ระดมทุน ‘ฟินเทค’ อาเซียนพุ่งกว่าสามเท่า แตะสูงสุดมูลค่า 3.5 พันล้านดอลล์จากปี 63

ระดมทุน ‘ฟินเทค’ อาเซียนพุ่งกว่าสามเท่า แตะสูงสุดมูลค่า 3.5 พันล้านดอลล์จากปี 63

เงินทุนสำหรับเทคโนโลยีด้านการเงิน (ฟินเทค) ในภูมิภาคอาเซียนดีดตัวกลับอย่างแข็งแกร่งในปี 2564 เพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่าใน 9 เดือนแรกของปี 2564 เมื่อเทียบกับปี 2563 ทั้งปี ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รายงาน FinTech in ASEAN 2021 ของ UOB, PwC Singapore และ Singapore FinTech Association (SFA) ระบุว่าจำนวนการระดมเงินทุนสำหรับฟินเทคที่พุ่งสูงขึ้นนี้ได้รับแรงสนับสนุนจากข้อตกลง 167 ข้อตกลง และในจำนวนนี้ 13 ข้อตกลงมาจากการระดมทุนระดับเมกะ มีมูลค่ารวมสูงถึง 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นักลงทุนส่วนใหญ่ให้ความสนใจบริษัทฟินเทคขั้นปลาย ซึ่ง 10 จาก 13 ข้อตกลงบรรลุ ได้เงินทุนในระดับเมกะในปีนี้ ซึ่งมีบริษัทฟินเทคของไทยรวมอยู่ด้วย โดยเทรนด์นี้เป็นสัญญาณชี้ถึงการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ของนักลงทุนในตลาดในภูมิภาคหลายแห่ง และแสดงให้เห็นว่านักลงทุนดำเนินการอย่างระมัดระวังและเลี่ยงความเสี่ยงโดยให้การสนับสนุนบริษัทที่เติบโตเต็มที่แล้ว ซึ่งมองว่ามีโอกาสสูงที่จะเติบโตขึ้นจากภาวะโรคระบาด เมื่อพิจารณาอัตราการเติบโตของการชำระเงินผ่านช่องทางดิจิทัลที่สูงขึ้นในภูมิภาคอาเซียน นักลงทุนจึงเชื่อมั่นและทุ่มเงินทุนให้บริษัทฟินเทคขั้นปลายในหมวดหมู่การชำระเงินมากที่สุด

เจเน็ต ยัง Head of Group Channels and Digitalisation กลุ่มธนาคารยูโอบี กล่าวว่า การระดมเงินลงทุนในอุตสาหกรรมฟินเทคในภูมิภาคอาเซียนฟื้นตัวกลับและทำสถิติสูงสุดที่ 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ หากมองผ่านการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งครั้งนี้ เราคิดว่าปัจจัยที่บริษัทฟินเทคจะเติบโตอย่างยั่งยืนยังคงเป็นโอกาสในการสร้างพันธมิตรที่เข้มแข็งแบบ win-win-win ระหว่างธนาคารที่มีรากฐานมั่นคง บริษัทฟินเทค และแพลตฟอร์มในระบบนิเวศ รวมถึงการขยายธุรกิจไปทั่วภูมิภาค

ทั้งนี้ การระดมทุนในบริษัทฟินเทคจากประเทศไทย เพิ่มขึ้นร้อยละ 60 ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 ประเทศไทยได้รับเงินระดมทุนในฟินเทคมูลค่า 210 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 60 เมื่อเทียบกับปี 2563 ทั้งปี ซึ่งรวมถึงบริษัทแอสเซนด์ มันนี่ ที่สามารถระดมทุนด้วยมูลค่า 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ขยับขึ้นเป็นฟินเทคยูนิคอร์นรายแรกของไทย

เงินทุนในบริษัทเทคโนโลยีการลงทุนและคริปโทเคอร์เรนซีมีอัตราการเติบโตสูงสุด เงินทุนที่อัดฉีดเข้าสู่บริษัทฟินเทคด้านการลงทุนและคริปโทเคอร์เรนซีในภูมิภาคอาเซียนเติบโตสูงสุดในปีนี้ ทำให้ทั้งสองหมวด หมู่ไต่ขึ้นมาอยู่อันดับที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ ตามหลังฟินเทคด้านการชำระเงิน และนับเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปีที่ฟินเทคด้านสินเชื่อทางเลือกหลุดจากตำแหน่ง 3 อันดับแรกของการระดมเงินทุน เนื่องจากความสนใจของผู้บริโภคในด้านการลงทุนช่องทางดิจิทัลและสกุลเงินดิจิทัลที่เพิ่มสูงขึ้น หากเปรียบกับปี 2563 การระดมทุนในบริษัทเทคโนโลยีการลงทุนเพิ่มขึ้น 6 เท่า มีมูลค่าถึง 457 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ สอดคล้องกับความสนใจของผู้บริโภคในการใช้เครื่องมือเทรดและการบริหารความมั่งคั่งผ่านช่องทางดิจิทัลที่เพิ่มขึ้น รายงาน[3] ที่จัดทำขึ้นโดย UOB, PwC และ SFA ระบุว่าผู้บริโภค 6 ใน 10 คนในภูมิภาคอาเซียนเคยใช้เครื่องมือดิจิทัล เช่น Robo-adviser และแพลตฟอร์มโบรกเกอร์ออนไลน์เพื่อตอบสนองความต้องการด้านการลงทุน

Advertisement

การระดมเงินทุนสำหรับฟินเทคด้านคริปโทเคอร์เรนซีขึ้นมาอยู่ในอันดับ 3 ด้วยมูลค่ารวม 356 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และดึงดูดเงินทุนได้มากกว่าปี 2563 ถึง 5 เท่า จากการที่ผู้บริโภค 9 ใน 10 คนในภูมิภาคอาเซียนระบุว่าเคยเริ่มหรือมีแผนที่จะใช้คริปโทเคอร์เรนซีและสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง[4] จึงคาดว่าสัดส่วนของบริษัทคริปโทเคอร์เรนซีในภูมิภาคจะเติบโตขึ้น ในขณะที่ผู้เล่นในอุตสาหกรรมหันมาใช้ประโยชน์จากความสนใจของผู้บริโภคที่เพิ่มมากขึ้นนี้

บริษัทฟินเทคที่ระดมทุนได้สูงสุดในอาเซียนในปีนี้ยังคงเป็นด้านการชำระเงิน มีมูลค่ารวม 1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยฟินเทคด้านการชำระเงิน)ยังเป็นหมวดหมู่ที่มีจำนวนบริษัทฟินเทคมากที่สุดในประเทศส่วนใหญ่ ยกเว้นในสิงคโปร์ และไทย การระดมเงินทุนในบริษัทเหล่านี้จะช่วยเร่งให้ผู้บริโภคหันมาใช้กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ บัตรเครดิตและเดบิต และแอปพลิเคชันธนาคารออนไลน์มากขึ้น ซึ่งได้กลายเป็นวิธีการชำระเงินที่ผู้บริโภคในอาเซียนนิยมใช้มากที่สุด ตามหลังเงินสด

สำหรับประเทศไทย มีจำนวนบริษัทฟินเทคด้านสินเชื่อทางเลือก (alternative lending) สูงสุดที่ร้อยละ 21 จากบริษัทฟินเทคทั้งหมดในประเทศ ตามมาด้วยฟินเทคด้านการชำระเงิน ที่ร้อยละ 20 และฟินเทคด้านคริปโทเคอร์เรนซี ที่ร้อยละ 20

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image