เปิดคำวินิจฉัยฉบับเต็ม 5 แกนนำ กปปส.ไม่รอด สิ้นสภาพ ส.ส.

5 แกนนำ กปปส.ไม่รอด มติศาล รธน.วินิจฉัยให้สิ้นสภาพ ส.ส. ตั้งแต่หยุดปฏิบัติหน้าที่ 7 เม.ย. พร้อมให้จัดเลือกตั้ง ส.ส.เขตแทนตำแหน่งที่ว่าภายใน 45 วันเลื่อนลำดับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ภายใน 7 วัน

เมื่อเวลา 15.00 วันที่ 8 ธันวาคม องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคสี่ และมาตรา 170 วรรคสามประกอบมาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของนายชุมพล จุลใส ผู้ถูกร้องที่ 1 นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ผู้ถูกร้องที่ 2 นายอิสสระ สมชัย ผู้ถูกร้องที่ 3 นายถาวร เสนเนียม ผู้ถูกร้องที่ 4 และนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ผู้ถูกร้องที่ 5 สิ้นสุดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 ( 4 ) (6) และมาตรา 96 (2) หรือไม่

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้อง คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาและเอกสารประกอบคำร้องแล้วเห็นว่า คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมายและมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้จึงยุติการไต่สวนตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง กำหนดประเด็นที่จะต้องพิจารณาวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของผู้ถูกร้องทั้ง 5 สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (4) (6) และมาตรา 96 (2) หรือไม่ นับแต่เมื่อใด พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 101 บัญญัติว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สิ้นสุดลงเมื่อ (6) มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 ซึ่งมาตรา 98 บัญญัติว่าบุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ไปบุคคลต้องห้ามเลยให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. (4) เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามมาตรา 96 (1)(2)(4) (6) ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังโดยหมายของศาล และมาตรา 96 บัญญัติว่า ผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ในวันเลือกตั้งเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง (2) อยู่ในระหว่างเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่

ข้อเท็จจริงตามคำร้องคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาและเอกสารประกอบปรากฏว่าผู้ถูกร้องที่ 1 และผู้ถูกร้องที่ 4 เป็น ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ผู้ถูกร้องที่ 2, 3, 5 เป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ต่อมาวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ศาลอาญา มีคำพิพากษาในคดีอาญา หมายเลขดำ อ.247/2561 หมายเลขแดง อ.317/2564 ว่า ผู้ถูกร้องที่ 1, 3, 5 มีความผิดตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 116 มาตรา 117 วรรคหนึ่ง มาตรา 215 วรรคสอง มาตรา 216 มาตรา 358 มาตรา 365 (2)(3) มาตรา 362 มาตรา 364 และมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.2550 มาตรา 76 และมาตรา 152 วรรคหนึ่ง ลงโทษผู้ถูกร้องที่ 1 จำคุก 9 ปี 24 เดือน และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี ลงโทษผู้ถูกร้องที่ 3 จำคุก 7 ปี 16 เดือน และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี ลงโทษผู้ถูกร้องที่ 5 จำคุก 6 ปี 16 เดือน และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี ส่วนผู้ถูกร้องที่ 2 และ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มาตรา 117 วรรคหนึ่ง มาตรา 215 วรรคสอง มาตรา 216 มาตรา 358 มาตรา 365 (2)(3) มาตรา 362 และมาตรา 364 ลงโทษผู้ถูกร้องที่ 2 จำคุก 7 ปี และลงโทษผู้ถูกร้องที่ 4 จำคุก 5 ปี ในวันดังกล่าวผู้ถูกร้องทั้ง 5 ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ ศาลอาญา มีคำสั่งให้ส่งศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาสั่ง
และออกหมายจำคุกระหว่างอุทธรณ์ฎีกาลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ส่งตัวผู้ถูกร้องทั้ง 5 ไปขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ต่อมาเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ถูกร้องทั้ง 5 ในระหว่างอุทธรณ์ ศาลอาญาจึงมีหมายปล่อยชั่วคราวผู้ถูกร้องทั้ง 5 ในระหว่างอุทธรณ์ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564

Advertisement

เห็นว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) บัญญัติให้สมาชิกสภาพของ ส.ส.สิ้นสุดลงเมื่อมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 ซึ่งกำหนดลักษณะต้องห้ามของบุคคลมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. โดยมาตรา 98 (4) เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตาม มาตรา 96 (2) คือ อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่ และมาตรา 98 (6) คือ ต้องถามพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล การที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้นำลักษณะต้องห้ามของบุคคลมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา 98 มาเป็นเหตุแห่งการสิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ส.ตามมาตรา 101 เนื่องจากการดำรงตำแหน่ง ส.ส. เป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ ส.ส. ต้องได้รับการกลั่นกรองคุณสมบัติเบื้องต้นและลักษณะต้องห้าม เพื่อเป็นหลักประกันว่าบุคคลนั้นจะต้องมีความประพฤติและคุณสมบัติอันเป็นที่ยอมรับ และเป็นที่เชื่อถือของสาธารณชน ปฎิบัติหน้าที่อย่างซื่อสัตย์สุจริต ปราศจากเหตุมัวหมอง ในการปฎิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวมไม่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่เกียรติและศักดิ์ศรีของสภาผู้แทนราษฎร จึงต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ มาตรา 96(2) มาตรา 98 (6) บัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจนไม่อาจตีความเป็นอย่างอื่นได้สมาชิกภาพ ส.ส. ต้องสิ้นสุดลงเมื่อต้องคำพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือให้  จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาลโดยไม่ต้องให้คดีถึงที่สุดก่อน

ข้อโต้แย้งที่ว่าการกระทำผิดอาญาของผู้ถูกร้อง 1, 3, 4, 5 มาจากการชุมนุมเพื่อแสดงออกความเห็นทางการเมือง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเคยรับรองว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิในการชุมนม ดังปรากฏในคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญหลายคำสั่งนั้น เห็นว่า คำสั่งที่ผู้ถูกร้องกล่าวอ้างเป็นกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย แม้ปรากฏถ้อยคำว่าการชุมนุมเป็นการแสดงออกเพื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอันเป็นสิทธิโดยชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ แต่หากการกระทำนั้นเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่นใดเป็นเรื่องที่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาจะต้องไปดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย จึง เป็นกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมิได้รับรองการกระทำซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่นไว้ตามที่ผู้ถูกร้องกล่าวอ้าง ข้อโต้แย้งฟังไม่ขึ้น

ส่วนข้อโต้แย้งที่ว่าคำสั่งศาลอาญาที่ส่งคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราว ระหว่างอุทธรณ์ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีความอาญา มาตรา 106 มาตรา 107 มาตรา 108 และมาตรา 108/1 และระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยการปล่อยชั่วคราว 2548 ข้อ 5 การที่ศาลอาญา ออกหมายจำคุกระหว่างอุทธรณ์ ฎีกา และส่งตัวผู้ถูกร้องทั้ง 5 ไปขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 24-26 กุมภาพันธ์ 2564 ไม่ใช่การคุมขังอยู่โดยหมายของศาล ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (6) เห็นว่า การที่ศาลอาญา ไม่ปล่อยชั่วคราวผู้ถูกร้องทั้ง 5 ในระหว่างอุทธรณ์โดยสั่งในคำร้องว่าส่งศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาสั่งเป็นการใช้ดุลยพินิจสั่งคำร้องในคดีของศาลอาญา โดยเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณา ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 106 (4) ให้อำนาจไว้เมื่อยังไม่มีคำสั่งศาลอุทธรณ์ให้ปล่อยชั่วคราวผู้ถูกร้องทั้ง 5 ศาลอาญาต้องออกหมายจำคุกระหว่างอุทธรณ์ ฎีกา ตามผลของคำพิพากษาลงโทษจำคุกและส่งตัวผู้ถูกร้องทั้ง 5 ไปขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เพื่อรอฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์อันเป็นการพิจารณาคดีที่อยู่ในขอบเขตการใช้อำนาจของศาลยุติธรรม ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 194 และการที่ผู้ถูกร้องทั้ง 5 ถูกขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร จึงเป็นการถูกคุมขังโดยหมายของศาลตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (6) ข้อโต้แย้งนี้ฟังไม่ขึ้น

Advertisement

ส่วนข้อโต้แย้งที่ว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (6) ที่บัญญัติให้การคุมขังอยู่โดยหมายของศาลอันเป็นเหตุสิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ส.ต้องเป็นการถูกคุมขังจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้นั้นเห็นว่าบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (6) ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขว่ามันเป็นการคุมขังจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ข้อโต้แย้งนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนข้อโต้แย้งที่ว่ารัฐธรรมนูญ 125 วรรคสี่บัญญัติให้ความคุ้มครองกับ ส.ส. ระหว่างสมัยประชุม การที่ศาลอาญาและอ่านคำพิพากษาและออกหมายขังผู้ถูกร้องทั้ง 5 ระหว่างรอคำสั่งคำร้องปล่อยชั่วคราวของศาลอุทธรณ์ เป็นการขัดขวางต่อการที่ ส.ส.จะมาประชุมสภาผู้แทนราษฎรนั้น เห็นว่าการคุ้มกันสมาชิก ส.ส. เป็นสถานะพิเศษที่รัฐธรรมนูญบัญญัติขึ้นเพื่อให้สมาชิกรัฐสภาสามารถมาประชุมหรือปฎิบัติหน้าที่ในสมัยประชุมได้ตามปกติโดยไม่อาจถูกจับคุมขังหรือหมายเรียกตัวไปทำการสอบสวนในฐานะผู้ต้องหาคดีอาญา หรือการพิจารณาคดีอาญาต้องไม่มีลักษณะขัดขวางต่อการที่สมาชิกรัฐสภาผู้นั้นจะมาประชุมสภาฯ
รัฐธรรมนูญ มาตรา 125 วรรคสี่ เป็นบทบัญญัติกรณีการฟ้องสมาชิก ส.ส.ในคดีอาญา ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีในระหว่างสมัยประชุมได้โดยไม่ต้องขออนุญาตสภาก่อนเพียงแต่การพิจารณาคดีของศาลต้องไม่ขัดขวางต่อการที่สมาชิก ส.ส.จะมาประชุม

แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฎว่ามีพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่ 2 พ.ศ.2563 ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2563 และมีพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง 2564 ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2564 การอ่านคำพิพากษาศาลอาญาในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 การคุมขังตามหมายจำคุกระหว่างอุทธรณ์ฎีการะหว่างวันที่ 24-26 กุมภาพันธ์ 2564 อยู่ในระหว่างสมัยประชุมก็ตาม แต่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1 (8) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 บัญญัติให้การพิจารณาหมายความว่ากระบวนพิจารณาทั้งหมดในศาลใดศาลหนึ่งก่อนศาลนั้นชี้ขาด ตัดสินหรือจำหน่ายคดีโดยคำพิพากษาหรือคำสั่งประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 182 วรรคสอง บัญญัติว่า ให้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งในศาลโดยเปิดเผยในวันสืบการพิจารณาหรือภายในสามวันนับแต่วันสืบคดี ถ้ามีเหตุสมควรจะเลื่อนไปอ่านวันอื่นได้แต่ต้องจดรายงานเหตุนั้นไว้ ดังนั้น การอ่านคำพิพากษาและการคุมขังตามหมายจำคุกระหว่างอุทธรณ์ฎีกาจึงไม่ใช่กระบวนพิจารณาก่อนศาลชี้ขาดตัดสินตัดสินคดีแต่เป็นกระบวนการหลังศาลตัดสินชี้ขาดคดีแล้วไม่อยู่ในความหมายของรัฐธรรมนูญมาตรา 125 วรรคสี่ เมื่อผู้ถูกร้องทั้ง 5 ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังโดยหมายของศาล แม้จะเป็นหมายจำคุกระหว่างอุทธรณ์ฎีกา รัฐธรรมนูญมาตรา 98 (6) บัญญัติลักษณะต้องห้ามของส.ส.โดยไม่ได้บัญญัติว่าต้องเป็นกรณีคำพิพากษาถึงที่สุด แสดงว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 125 วรรคสี่ มุ่งคุ้มครองสมาชิก ส.ส. เฉพาะกรณีคดีอยู่ ระหว่างการพิจารณา แต่กรณีที่การพิจารณาคดีของศาลเสร็จสิ้น จนถึงขั้นตอนการอ่านคำพิพากษาย่อมไม่อาจอ้างความคุ้มกันของสมาชิก ส.ส.ได้ ศาลสามารถอ่านคำพิพากษาโดยไม่เป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 125 วรรคสี่ ข้อโต้แย้งหรือฟังไม่ขึ้น

ส่วนข้อโต้แย้งที่ว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (4)(6) บัญญัติเหตุสิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ส.เพื่อควบคุมคุณสมบัติของบุคคลก่อนวันสมัครรับเลือกตั้งเท่านั้นเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 101 กำหนดเหตุแห่งการสิ้นสุดสมาชิกสภาพ ส.ส.และมาตรา 98 กำหนดลักษณะต้องห้ามของบุคคลไม่ให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. เป็นกรณีที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้นำลักษณะต้องห้ามผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.มาใช้เป็นเหตุแห่งการสิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ส. ตามมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (4) (6) หากสมาชิก ส.ส.มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 (4) (6) ระหว่างการดำรงตำแหน่ง ส.ส.ย่อมเป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลง ว่าการดำรงตำแหน่งได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) มิใช่เป็นเพียงลักษณะต้องห้ามขณะที่ผู้ถูกร้องใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส.เท่านั้น ข้อโต้แย้งนี้ฟังไม่ขึ้น

ข้อโต้แย้งที่ว่าคดีที่ศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 96 (2) ต้องเป็นกรณีคดีถึงที่สุดเห็นว่า สมาชิกภาพส.ส.ต้องสิ้นสุดเมื่อเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ตามมาตรา 96 (2) บุคคลที่อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่จึงเป็นบุคคลต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการกำหนดลักษณะต้องห้ามการใช้สิทธิเลือกตั้งของบุคคล
มีการแก้ไขเพิ่มเติมจากรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาโดยเพิ่มความว่า”ไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุด แล้วหรือไม่” ซึ่งสอดคล้องกับหลักการที่ว่าคำพิพากษาของศาลย่อมมีผลใช้บังคับได้จนกว่าศาลสูงจะมีคำพิพากษาเป็นอย่างอื่น ดังนั้นเมื่อศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้ใดแล้ว ผู้นั้นย่อมมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งโดยพลัน ตามรัฐธรรมนูญ 96 (2) และเข้าลักษณะต้องห้ามของบุคคลในการสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ตามมาตรา 98 (4) การที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้นำลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งในวันเลือกตั้งของบุคคลดังกล่าวมาเป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) โดยไม่ต้องรอให้มีคำพิพากษาอันถึงที่สุด เนื่องจาก ส.ส.จะต้องปฎิบัติหน้าที่อย่างซื่อสัตย์สุจริต ปราศจากเหตุมัวหมอง ในการที่จะปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวมไม่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่เกียรติและศักดิ์ศรีของสภาผู้แทนราษฎรการที่ ส.ส.ผู้ใดกระทำความผิดจนศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งอันต้องด้วยลักษณะต้องห้ามของบุคคลผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งในวันเลือกตั้งตามที่กำหนดไว้ตามมาตรา 96 (2) แล้ว สมาชิก ส.ส.ผู้นั้นย่อมไม่อาจอยู่ในฐานะ ที่จะไว้วางใจในความสุจริตได้ไม่สมควรให้เข้ามามีอำนาจในทางการเมืองอื่นอีกด้วย

บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการสิ้นสุดสมาชิกภาพของส.ส. มีการใช้ถ้อยคำแตกต่างกันแยกได้หลายลักษณะ เช่น กรณีรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (9) ใช้คำว่าเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกเพราะกระทำความผิดตามกฏหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริต หรือกรณีมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (10) ใช้คำว่าเคยต้องคำพิพากษา อันถึงที่สุดว่าการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกรณี มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (11) ใช้คำว่าเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง ย่อมแสดงให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ให้สมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลงได้ด้วยเหตุ หลายประการตามบริบทของข้อเท็จจริงที่แตกต่างกัน บทบัญญัติดังกล่าวหาได้ขัดแย้งกันเองหรือขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตรา 29 วรรคสอง ข้อเท็จจริงแห่งคดีนี้เป็นกรณีมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (4) และมาตรา 96 (2) ซึ่งใช้คำว่าอยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นถึงที่สุดแล้วหรือไม่ โดยไม่ได้ใช้คำว่าคำพิพากษาอันถึงที่สุด บทบัญญัติลายลักษณ์อักษรมีความชัดเจนไม่อาจตีความเป็นอย่างอื่นย่อมหมายความว่าสมาชิกภาพ ส.ส.ต้องสิ้นสุดลง เมื่อต้องคำพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง โดยไม่ต้องให้คดีถึงที่สุดก่อนข้อโต้แย้งนี้ฟังไม่ขึ้น

ข้อโต้แย้งที่ว่าการสิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ส. เนื่องจากมีลักษณะต้องห้ามกรณีต้องคำพิพากษาให้จำคุกตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (13) ต้องเป็นกรณีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเห็นว่ารัฐธรรมนูญบัญญัติเกี่ยวกับการสิ้นสุดสมาชิกภาพของ ส.ส.โดยใช้ถ้อยคำ การต้องคำพิพากษาและการจำคุกแตกต่างกันเป็นหลายลักษณะเช่นรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (6) ใช้คำว่าต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล รัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (9) ใช้คำว่าเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก เพราะกระทำผิดตามกฏหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริตรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (13 ) ใช้คำว่าต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกแม้จะมีการรอลงอาญาแสดงให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ ให้สมาชิกภาพส.ส.สิ้นสุดลงได้ด้วยเหตุผลหลายประการ ตามข้อเท็จจริงของผลแห่งคำพิพากษาที่แตกต่างกัน เมื่อข้อเท็จจริงแห่งคดีนี้ เป็นกรณีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (6) ซึ่งใช้คำว่าต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล โดยไม่มีคำว่าถึงที่สุด จึงมีความหมายว่าสมาชิกภาพส.ส.ต้องสิ้นสุดลงเมื่อต้องคำพิพากษาให้จำคุกเท่านั้นโดยไม่ต้องรอให้คดีถึงที่สุดเสียก่อน กรณีของผู้ร้องทั้ง 5 จึงตกอยู่ภายใต้บังคับรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (6) อันเป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ 101 (6) โดยไม่จำเป็นต้องรอให้คดีถึงที่สุดตามมาตรา 101 (13 ) ข้อโต้แย้งนี้ฟังไม่ขึ้น

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ถูกร้องทั้ง 5 ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังโดยหมายของศาลอาญา โดยผู้ถูกร้องที่ 1, 3, 5 ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง จึงเป็นเหตุให้ผู้ผู้ถูกร้องทั้ง 5 สิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ส. ดังนี้ 1.สมาชิกภาพสมาชิก ส.ส.ของผู้ถูกร้องที่ 1 สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (4) (6) มาตรา 96 (2) 2.สมาชิกภาพ ส.ส.ของผู้ถูกร้องที่ 2 สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (4) (6) 3.สมาชิกภาพส.ส.ของผู้ถูกร้องที่ 3 สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (4) (6) มาตรา 96 (2) 4.สมาชิกภาพ ส.ส.ของผู้ถูกร้องที่ 4 สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (6) 5. สมาชิกภาพ ส.ส. ของผู้ถูกร้องที่ 5 สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (4) (6) มาตรา 96 (2)

เมื่อวินิจฉัยว่าสมาชิก ส.ส.ของผู้ถูกร้องทั้ง 5 สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแล้ว สมาชิกภาพของ ส.ส.ของผู้ถูกร้องทั้ง 5 สิ้นสุดลงนับแต่เมื่อใดรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (2) บัญญัติว่าเมื่อได้รับเรื่องไว้พิจารณา หากปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าสมาชิกผู้ถูกร้องมีคดีตามที่ถูกร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้สมาชิกผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ไม่กระทบต่อกิจการที่ผู้นั้นกระทำไปก่อนพ้นตำแหน่ง บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวเป็นบทบัญญัติว่าด้วยการพ้นจากตำแหน่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งไม่ได้ให้อำนาจแก่ศาลรัฐธรรมนูญที่จะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าวันที่ 7 เมษายน 2564 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้ง 5 หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้ง 5 พ้นจากตำแหน่งนับตั้งแต่วันที่หยุดปฎิบัติหน้าที่นั้น ดังนั้นสมาชิกภาพ ส.ส.ของผู้ถูกร้องทั้ง 5 จึงสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 (2) นับแต่วันที่ 7เมษายน 2564 เป็นต้นไป

เมื่อสมาชิกภาพ ส.ส. ผู้ถูกร้องที่ 1,4 สิ้นสุดลงทำให้มีตำแหน่ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งว่างลง และต้องมีการตราพระราชกฤษฎีกาเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตแทนตำแหน่งที่ว่างภายใน 45 วันนับตั้งแต่วันที่ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่างลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 105 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 102 จึงให้ถือว่าวันที่ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่างลงคือ วันที่ศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยให้แก่คู่กรณีฟังโดยชอบ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาล รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 76 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลในวันอ่านคือวันที่ 8 ธันวาคม 2564

เมื่อสมาชิกภาพ ส.ส. ผู้ถูกร้องที่ 2, 3 สิ้นสุดลงทำให้มีตำแหน่งสมาชิก ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อว่างลง ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้องประกาศให้ผู้มีรายชื่อในลำดับถัดไปในรายชื่อพรรคการเมืองนั้นเลื่อนขึ้นมาเป็นสมาชิก ส.ส.แทนตำแหน่งที่ว่างลง โดยต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ตำแหน่งนั้นว่างลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 105 วรรคหนึ่ง (2) จึงให้ถือว่าวันที่ตำแหน่งสมาชิก ส.ส.ว่างลงคือ วันที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย ให้แก่คู่กรณีฟังโดยชอบตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญมาตรา 76 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลในวันอ่านคือวันที่ 8 ธันวาคม 2564

สำหรับ กรณีสมาชิกภาพส.ส.ของผู้ถูกร้องที่ 5 ว่างลงนับแต่เมื่อใดนั้นเห็นว่าผู้ถูกร้องที่ 5 มีหนังสือลาออกจากตำแหน่ง ต่อมามีประกาศจากสภาผู้แทนราษฎรลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ให้ผู้มีชื่อในลำดับถัดไปในบัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ เลื่อนขึ้นมาเป็นส.ส.ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 105 (1) (2) ในวันดังกล่าวแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย

อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นจึงวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของสมาชิกส.ส.ของผู้ถูกร้องที่ 1, 3, 5 สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (4) (6) และมาตรา 96 (2) และสมาชิกภาพ ส.ส.ของผู้ถูกร้องที่ 2, 4 สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (6) นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมี   คำสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้ง 5 หยุดปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคสอง คือวันที่ 7 เมษายน 2564 และให้ถือว่าวันที่ศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟังโดยชอบตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 76 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้คำวินิจฉัยของศาลมีผลในวันอ่านคือวันที่ 8 ธันวาคม 2564 เป็นวันที่ตำแหน่งสมาชิก ส.ส.ของผู้ถูกร้องที่ 1, 2, 3, 4 ว่างลง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 105 วรรคหนึ่ง(1) ประกอบมาตรา 102 และมาตรา 105 วรรคหนึ่ง (2)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image