ปธ.กรรมาธิการการกระจายอำนาจฯ เชิญ ศอ.บต.ชี้แจงกรณีกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นร้องเรียนให้ทบทวนบทบาทหน้าที่ของ ศอ.บต.

ปธ.กรรมาธิการการกระจายอำนาจฯ เชิญ ศอ.บต.ชี้แจงกรณีกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นร้องเรียนให้ทบทวนบทบาทหน้าที่ของ ศอ.บต.

เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ที่อาคารรัฐสภา นายซูการ์โน มะทา ส.ส.ยะลา พรรคประชาชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ เป็นประธานการประชุม โดยมี ส.ส.หลายท่านเข้าร่วมประชุมเพื่อติดตามประเด็นการชุมนุมของพี่น้องประชาชนกลุ่มเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นด้วย ด้วย พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรคประชาชาติ, นางสาวเบญจา แสงจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล, นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ส.ส.สงขลา พรรคภูมิใจไทย, พลตำรวจตรี สุรินทร์ ปาลาเร่ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ และอีกหลายท่าน

โดยการประชุมวันนี้มีการพิจารณาเรื่องร้องเรียนของนางสาวไครียะห์ ระหมันยะ ตัวแทนเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น จังหวัดสงขลา ที่ขอให้ตรวจสอบกระบวนการมีส่วนร่วม “โครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตอำเภอจะนะ” หรือ “โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ” หลังคณะกรรมการตรวจสอบโครงการฯ ที่รัฐบาลแต่งตั้งขึ้นได้มีการทำบันทึกข้อตกลงกับเครือข่าย เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 ว่า จะตรวจสอบการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และจัดให้มีการศึกษาในเชิงยุทธศาสตร์หรือ (SEA) แบบมีส่วนร่วม โดยจะต้องออกแบบคณะศึกษาให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย โดยระหว่างนี้ให้ยุติการดำเนินการทุกอย่างในโครงการนี้เอาไว้ก่อนจนกว่ากระบวนการตรวจสอบดังกล่าวจะแล้วเสร็จ แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้ดำเนินการตามรายละเอียดตามที่ได้ตกลงกันไว้ แต่ยังปล่อยให้ ศอ.บต. ดำเนินการเปลี่ยนสีผังเมือง และบริษัท ทีพีไอ โพลีน พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) ผู้เป็นเจ้าของโครงการนี้ เร่งดำเนินโครงการอย่างไม่สนใจต่อข้อตกลงเบื้องต้น โดยเดินหน้าศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ระหว่างวันที่ 13 – 23 ธ.ค. 2564 จึงขอให้ กมธ.ตรวจสอบการดำเนินงานของคณะกรรมการตรวจสอบโครงการดังกล่าว และกระบวนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ ว่าเป็นไปอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม หรือไม่ เนื่องจากโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ เป็นโครงการขนาดใหญ่ ที่ต้องใช้ที่ดินจำนวนมากเกือบ 2 หมื่นไร่ และจะมีโรงงานอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ เข้ามาตั้งอยู่ใกล้กับชุมชนในพื้นที่ 3 ตำบลของอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา รัฐบาลจึงควรให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริงตั้งแต่เริ่มต้น ไม่เช่นนั้นแล้วอาจจะกลายเป็นความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

Advertisement

ซึ่งการประชุมคณะกรรมาธิการวันนี้ ได้เชิญตัวแทนจาก สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี, ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.), องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา และกรมโยธาธิการและผังเมือง มาชี้แจงด้วย

ตัวแทนสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า “โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะเป็นโครงการที่ริเริ่มโดย ศอ.บต. ตามมติของคณะรัฐมนตรีในปี 2563 ซึ่งผู้ที่เป็นเจ้าภาพดำเนินการหลักคือ ศอ.บต.”

ตัวแทน ศอ.บต. ชี้แจงว่า “โครงการอุตสาหกรรมจะนะเป็นโครงการที่ดำเนินการโดยเอกชน ลงทุนโดยเอกชนทั้งหมด ซึ่งเอกชนต้องแบกรับความเสี่ยงของสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ด้วย อยู่ในขั้นการทำ TOR และจะรับฟังความคิดเห็น หรือ SEA ในปีงบประมาณ 2565”

Advertisement

พลตำรวจตรี สุรินทร์ ปาลาเร่ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า “ไม่เคยได้รับเชิญให้ไปมีส่วนร่วมในโครงการนี้เลย จึงไม่รับรู้และไม่รับทราบรายละเอียดอะไร และเห็นว่า ประชาชนในพื้นที่ว่าอย่างไร ตนก็ว่าอย่างนั้น”

นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ส.ส.สงขลา พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า “ศอ.บต.เป็นคนต้นคิดโครงการ โดยสมคบคิดกับนายทุน ศอ.บต.กลัวเสียผลประโยชน์หากทำโครงการนี้โดยไม่ผ่าน ศอ.บต. จึงต้องทำเพื่อรักษาอำนาจ”

นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กล่าวว่า “สำนักนายกรัฐมนตรีและ ศอ.บต. ทำโครงการนี้แล้ว ได้สื่อสารกับประชาชนหรือไม่ ศอ.บต.เคยถูกยุบองค์กรแล้วตั้งขึ้นมาใหม่จึงพยายามรักษาสถานะองค์กร ที่ชาวบ้านมาชุมนุมเพราะรัฐบาลฉีกสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน อยากให้ตรวจสอบรายชื่อผู้ได้ประโยชน์จากโครงการนี้ว่ามีใครบ้าง ซึ่งตามกฏหมายแล้วรัฐต้องมีประโยชน์ในสัดส่วนร้อยละ 51 “

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ กล่าวว่า “นายกรัฐมนตรีบอกว่าเป็นข้อตกลงส่วนตัวของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า กับชาวบ้าน แต่สำนักนายกฯชี้แจงว่าข้อตกลง MOU ได้นำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบ ซึ่งมติรับทราบกับมติเห็นชอบ ในทางกฎหมายมันเท่ากัน ประเด็นเนื้อหาในข้อตกลงปรากฏว่าท่านไปอ้างพีมูฟ ซึ่งพีมูฟไม่ใช่หน่วยราชการ แต่เป็นองค์กรภาคประชาชน คนสั่งให้ทำคือนายกรัฐมนตรี ศอ.บต.มีกฎหมายอยู่ข้อหนึ่งต้องปฏิบัติตามกฏหมายและมติคณะรัฐมนตรี แต่กรณีมติคณะรัฐมนตรีไม่ใช่กฏหมาย และมติคณะรัฐมนตรีจะขัดกับกฎหมายไม่ได้ กรณีที่ดินที่เป็นนิคมอุตสาหกรรมเป็นพื้นที่สีเขียว หมายถึงทำเกษตรและชนบท มติ ครม อนุมัติให้เป็นนิคมอุตสาหกรรม น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย

พันตำรวจเอก ทวี กล่าวอีกว่า เท่าที่ฟังการชี้แจงมา เบื้องต้นที่ดินที่จะไปทำนิคมฯ เป็นพื้นที่สีเขียว แต่มติคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้เป็นอุตสาหกรรมในพื้นที่สีเขียว ในหลักการจะทำไม่ได้ ไม่ว่าจะใช้กลวิธียังไงก็ตาม ถ้าจะทำนิคมอุตสาหกรรมต้องอนุมัติในพื้นที่สีม่วง ดังนั้นมติคณะรัฐมนตรีให้ไปทำผิดกฎหมาย อยากจะฝาก ศอบต.ว่าท่านต้องปฏิบัติตามกฎหมายโดยเคร่งครัด กฎหมาย ศอ.บต.จะมีเงื่อนไขอยู่ข้อหนึ่งว่า ต้องให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง คนที่จะพูดได้ดีที่สุดคือคนในพื้นที่ วันนี้ผมฟังเสียงจากเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ทุกคนอยากให้พัฒนา ไม่ได้ขัดขวางโครงการ แต่จะทำยังไงให้โครงการเกิดประโยชน์สูงสุดและถูกกฎหมาย ด้วย สำคัญคือท่าทีและบทบาทของ ศอ.บต.คือส่งเสริมสนับสนุนอย่าเป็นผู้ปฏิบัติ ถ้าเป็นผู้ปฏิบัติจะมีความขัดแย้ง”

นายซูการ์โน มะทา ถาม ศอ.บต. อ้างถึงคำถามของไครียะห์ ระหมันยะ ที่ถามว่า ศอ.บต.จะยุติการ จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ที่จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 13 – 23 ธันวาคม 2563 นี้ได้หรือไม่ เพราะมีประชาชนคัดค้าน

ตัวแทน ศอ.บต. กล่าวว่าเวทีรับฟังความคิดเห็นนั้นดำเนินการโดยบริษัทเอกชนทั้งหมด ศอ.บต. ไม่มีอำนาจใดๆที่จะระงับหรือสั่งให้หยุดได้ แต่รับปากว่าจะช่วยประสานกับภาคเอกชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image