เผย ‘นายกฯ’ ห่วงเฟคนิวส์โควิด ฟุ้ง ‘ดีอีเอส’ ตรวจสอบจริงจัง เตือน ปชช.เลือกเชื่อ เลือกแชร์

‘โฆษกรัฐบาล’ เผย ‘นายกฯ’ ห่วงเฟคนิวส์โควิด-19 สร้างความสับสนให้ ปชช. ด้าน ‘ดีอีเอส’ ตรวจสอบ-แก้ไขปัญหาจริงจัง เตือน ปชช.เลือกเชื่อ เลือกแชร์

เมื่อวันที่ 25 มกราคม นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความห่วงใยประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์ข่าวปลอม ซึ่งอาจสร้างความสับสน เข้าใจผิดให้กับสังคม กระทบต่อประชาชนในวงกว้าง โดยล่าสุด กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้ทำการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอม (ประจำสัปดาห์) ระหว่างวันที่ 14-20 มกราคม โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมมีข้อความที่เข้ามาทั้งสิ้น 11,540,617 ข้อความ จากการคัดกรองมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) จำนวน 231 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ 116 เรื่อง โดยเป็นข่าวเกี่ยวกับโควิด 21 เรื่อง ขณะที่ภาพรวมแบ่งเป็น 4 กลุ่มข่าว ได้แก่ 1) กลุ่มนโยบายรัฐบาล/ข่าวสารทางราชการ 74 เรื่อง 2) กลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพ รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมายอื่นๆ 29 เรื่อง 3) กลุ่มภัยพิบัติ 6 เรื่อง และ 4) กลุ่มเศรษฐกิจ 7 เรื่อง โดยในภาพรวมได้รับการตรวจสอบแล้ว 66 เรื่อง

นายธนกรกล่าวว่า ความคืบหน้าในการตรวจสอบข่าวปลอมพบว่ากระทรวงดิจิทัลได้รับผลตรวจสอบข่าวปลอมแล้ว 66 เรื่อง ซึ่งจำนวนกว่า 30 เรื่องเป็นข่าวจริง ถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่จากการรณรงค์สร้างการรับรู้ของศูนย์ข่าวปลอมทำให้ประชาชนรู้เท่าทันข่าวปลอมที่เผยแพร่บนโซเชียลมากขึ้น และตื่นตัวที่จะแจ้งเบาะแสมาให้เกิดการตรวจสอบ ทำให้สัดส่วนของข่าวจริงมีแนวโน้มขยับเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามและแจ้งเบาะแสข่าวปลอมได้ผ่านช่องทางต่างๆ ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ดังนี้ ไลน์ @antifakenewscenter เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com/ ทวิตเตอร์ https://twitter.com/AFNCThailand และช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87

“นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยพี่น้องประชาชนโดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทุกคนได้รับความเดือดร้อนอยู่แล้ว แต่ยังมีบางกลุ่มบางคนพยายามสร้างความสับสน สร้างกระแสข่าวปลอมกระจายรายวัน มุ่งสร้างความเข้าใจผิดในประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องข่าวปลอมโควิด-19 ที่ยอดรับเรื่องสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ขอความร่วมมือประชาชน เมื่อได้รับข้อมูลผ่านโซเชียลอย่าเพิ่งหลงเชื่อในทันที ควรตรวจสอบให้รอบด้าน เลือกเชื่อ เลือกแชร์ หรือแจ้งข้อมูลไปที่ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมเพื่อช่วยประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบ และยืนยันข้อเท็จจริงต่อไป” นายธนกรกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image