เมื่อถึงวันที่มีคนตายมากกว่ามีคนเกิด: ปัญหาสังคมสูงวัย ที่กระทบคนทุกรุ่น

เมื่อวันที่ 28 มกราคม นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือไอติม อดีตผู้สมัครส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ แกนนำกลุ่มรัฐะรรมนูญก้าวหน้า เขียนบทความทางเพร่ทางเฟซบุ๊ก แสดงความเห็นกรณีการเผยแพร่สถิติ อัตราการเกิดในประเทศไทย มีจำนวนน้อยที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยเป็นปีแรกที่อัตราการตายมีมากกว่า โดย ระบุว่า

เมื่อถึงวันที่มีคนตายมากกว่ามีคนเกิด: ปัญหาสังคมสูงวัยที่กระทบคนทุกรุ่น

เมื่อต้นสัปดาห์ หลายคนคงได้เห็นข้อมูลหนึ่งที่น่าตกใจ คือ กราฟแสดงจำนวนประชากรเกิดใหม่ในประเทศไทยที่ดิ่งลงอย่างหนัก จาก 983,964 คนในปี 2536 ลดลงกว่า 45% เหลือ 544,570 คนในปี 2564ซึ่งเป็นจำนวนที่ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์นับแต่มีการเก็บสถิติโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ และยังเป็นปีแรก ที่คนเกิดใหม่ (544,570 คน) มีจำนวนน้อยกว่าคนตาย (563,650 คน)

ปรากฎการณ์นี้ เป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่ทำให้สังคมเห็นชัดขึ้นถึงปัญหา “สังคมสูงวัย” (Aging Society) ซึ่งเป็นหนึ่งในความท้าทายทางเศรษฐกิจที่ใหญ่หลวงที่สุดที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ โครงสร้างประชากรที่มีสัดส่วนคนวัยทำงานต่อคนหลังวัยทำงาน ลดลงอย่างต่อเนื่อง กำลังส่งผล

Advertisement

กระทบต่อการจัดเก็บและจัดสรรงบประมาณของรัฐ ทำให้จัดเก็บรายได้จากคนวัยทำงานได้ลดลง แต่กลับต้องเพิ่มรายจ่ายมากขึ้นในการดูแลผู้สูงอายุ จนเป็นไปได้ว่าในอนาคต รายได้ที่เก็บได้น้อยลงอาจไม่เพียงพอรองรับรายจ่ายเพื่อดูแลคนวัยเกษียณ

แม้จะถูกเรียกว่า “สังคมสูงวัย” แต่สิ่งแรกที่เราต้องทำความเข้าใจร่วมกัน คือปัญหา “สังคมสูงวัย” ไม่ใช่ปัญหาคนของคนสูงวัย แต่เป็นปัญหาของคนทุกรุ่น ไม่ว่าจะเป็นคนในวัยทำงานที่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายของผู้สูงอายุในครอบครัวมากขึ้นทันที หากรัฐไม่สามารถจัดสรรงบประมาณมาดูแลผู้สูงอายุได้อย่างเพียงพอ หรือ คนรุ่นใหม่ที่อาจต้องแบกรับภาระภาษีที่สูงขึ้นเมื่อเขาเติบโตขึ้นมาทำงานในอนาคต หากรัฐไม่สามารถหาช่องทางอื่นในการหารายได้มาทดแทนส่วนที่หดหายไป

หากไม่นับ “ยาแรง” ที่จำเป็นต้องศึกษาและพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนนำมาใช้ เพราะจะกระทบประชาชนในวงกว้าง (เช่น การเพิ่มอายุเกษียณ หรือ การเพิ่มภาษี เพื่อเพิ่มรายได้รัฐ) และ หากไม่นับ “ยาพื้นฐาน” ที่ควรต้องทำอยู่แล้วทันที (เช่น การลดงบประมาณที่ไม่จำเป็น หรือ ลดการทุจริต เพื่อลดรายจ่ายรัฐ) ผมขอเสนออีก 4 แนวทาง ที่รัฐบาลสามารถพิจารณาเพิ่มเติม เพื่อเป็นกรอบในการแก้ปัญหาสังคมสูงวัย โดยผมขอเรียกรวมกันว่ามาตรการ “พร้อม-เติม-เพิ่ม-ตัด”

1. พร้อม = รัฐสวัสดิการที่สนับสนุนให้ประชาชนมีความ “พร้อม” จะมีลูกมากขึ้น

แม้รสนิยมและรูปแบบการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ อาจทำให้บางคนอยากมีลูกน้อยลงโดยธรรมชาติ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าความไม่อยากมีลูกของหลายคนมาจากความกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายหรือผลกระทบต่อหน้าที่การงานของคนที่กำลังจะเป็นพ่อแม่ รัฐสามารถคลายข้อกังวลนี้ได้ด้วยการช่วยเติมความพร้อม ผ่านการ:

– 1.1 สนับสนุนสวัสดิการเกี่ยวกับการเลี้ยงดูลูก เพื่อลดความกังวลด้านค่าใช้จ่าย เช่น เบี้ยเด็กแรกเกิด บริการดูแลลูก (Childcare) หรือแม้แต่ การศึกษาที่มีคุณภาพและฟรีจริง

– 1.2 ขยายสิทธิลาคลอดสำหรับผู้ชาย (Paternity leave) เพื่อสนับสนุนครอบครัวในการร่วมกันดูแลบุตรหลังคลอด และลดการสูญเสียโอกาสทางการงานของผู้หญิงจากการมีลูก

2. เติม = การเติมคนวัยทำงานจากต่างประเทศ ให้มาทำงานในประเทศไทย โดยเฉพาะอาชีพที่อาศัยแรงงานที่ใช้ทักษะระดับสูง (high-skilled labour) ที่ขาดแคลนในตลาด

การดึงดูดบุคลากรที่มีทักษะเข้ามาในประเทศ อาจช่วยทดแทนการหายไปของคนวัยทำงานในประเทศได้ส่วนหนึ่ง โดยนอกจากตัวงานที่น่าสนใจและค่าตอบแทนที่เหมาะสม (ที่ขึ้นอยู่กับภาคเอกชนเป็นหลัก) ผมคิดว่าภาครัฐอาจช่วยดึงดูดคนทำงานจากต่างประเทศได้ผ่านการ:

– 2.1 ทำให้เมืองน่าอยู่ (มากกว่าแค่น่าเที่ยว) เช่น การวางมาตรการเพื่อป้องกันอาชญากรรม การรักษาสิ่งแวดล้อมและลดมลพิษ หรือ การดูแลให้เกิดความสะดวกและปลอดภัยในการเดินทาง โดยเฉพาะสำหรับคนเดินเท้า

– 2.2 ลดกฎหมายที่เป็นอุปสรรคและเพิ่มภาระให้คนต่างประเทศ เช่น ทบทวนข้อจำกัดทั้งทางตรงและทางอ้อม หรือเงื่อนไขกฎระเบียบสำหรับบางอาชีพ เพื่อดึงดูดชาวต่างชาติให้เข้ามาทำงานได้อย่างสะดวกสบายขึ้น หากเป็นอาชีพที่มีความต้องการในตลาดมากเพียงพอและไม่กระทบการจ้างงานของคนในประเทศอย่างมีนัยสำคัญ

3. #เพิ่ม การเพิ่มรายได้ของประชาชนในช่วงสูงวัยทางอ้อม เพื่อให้มีเงินใช้จ่ายเพียงพอหลังเกษียณและเป็นการช่วยแบ่งเบางบประมาณรัฐ

นอกเหนือจากสวัสดิการเบี้ยผู้สูงอายุซึ่งเป็นการสนับสนุนรายได้แก่ผู้สูงวัยโดยตรง รัฐสามารถช่วยสนับสนุนการเพิ่มรายได้ของผู้สูงวัยทางอ้อม ผ่านการ:

– 3.1 เพิ่มแรงจูงใจในการออมของคนวัยทำงาน โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานนอกระบบหรือผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่มีแนวโน้มจะมีจำนวนสูงขึ้น เนื่องจากปัจจุบัน ส่วนใหญ่ของผู้ที่ประกอบอาชีพในลักษณะนี้ยังไม่ถูกครอบคลุมโดยระบบประกันสังคม อาจด้วยสาเหตุของแรงจูงใจที่ยังไม่มากพอหรือการขาดการส่งเสริมทักษะทางการเงินอย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่ในโรงเรียน

– 3.2. เพิ่มแรงจูงใจแก่ผู้ประกอบการในการจ้างงานผู้สูงอายุที่ยังต้องการทำงานต่อหลังเกษียณ เช่น การลดหย่อนภาษี เพื่อเพิ่มโอกาสที่บริษัทจะตัดสินใจรับผู้สูงอายุเข้ามาทำงาน แม้อาจมีอายุการทำงานเหลือไม่นานเท่าผู้สมัครที่อายุน้อยกว่า

4. ตัด การตัดค่าใช้จ่ายของประชาชนหลังเกษียณ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข

แม้ผู้สูงอายุอาจไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขทั้งหมดเองโดยตรง เนื่องจากระบบประกันสุขภาพของรัฐครอบคลุมบางส่วนตรงนี้ แต่การลดอาการป่วยของผู้สูงอายุ เป็นสิ่งที่รัฐต้องตั้งเป็นเป้าหมาย ทั้งเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐและลดความแออัดของโรงพยาบาล ผ่านการ:

– 4.1 ทำให้ป่วยน้อยลงหรือลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรค เช่น การพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพในเชิงป้องกัน (Preventive care) หรือ การศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีด้านการรักษาแบบแม่นยำและจำเพาะ (Precision medicine) ที่อาศัยข้อมูลทางพันธุกรรม เพื่อวิเคราะห์ว่าคนคนนั้นมีความเสี่ยงจะเป็นโรคใด และช่วยแนะนำว่าควรป้องกันอย่างไรตั้งแต่ต้น

4.2. ทำให้แม้ป่วยแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาลทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็น การนำเทคโนโลยีมาช่วยลดความจำเป็นในการไปรักษาที่โรงพยาบาล (เช่น โทรเวชกรรม หรือ Telemedicine) หรือ การขยายแนวทางให้ร้านขายยาจ่ายยาให้ผู้ป่วยได้โดยตรงอย่างปลอดภัยมากขึ้น (โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีนัดติดตามอาการ) หรือ การลดเวลาที่ผู้ป่วยผู้สูงอายุต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล (เช่น ระบบเตือนภัยที่บ้าน ทำให้ผู้สูงอายุพักอยู่ที่บ้านด้วยตัวเองอย่างปลอดภัยมากขึ้น)

มาตรการ “พร้อม-เติม-เพิ่ม-ตัด” ทั้ง 4 ด้านเหล่านี้ล้วนต้องใช้เวลา แต่จำเป็นต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้เพื่อไม่ให้ปัญหาสังคมสูงวัยหนักหน่วงกว่าที่เป็นอยู่ และเพื่อพยายามลดหรือชะลอความจำเป็นในการใช้ “ยาแรง” เพื่อแก้ปัญหา

แต่นอกจากการระดมความคิดและร่วมหาแนวทางรับมือกับอนาคตแล้ว อีกเรื่องที่สำคัญ คือการไม่ทำอะไรในปัจจุบันที่ซ้ำเติมให้สถานการณ์เลวร้ายลงกว่าเดิม – ปรากฎการณ์การย้ายประเทศเมื่อปีที่แล้ว แสดงให้เห็นชัดว่าหากเราไม่มีกติกาการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย ไม่มีรัฐธรรมนูญที่เป็นธรรมกับทุกชุดความคิด ไม่มีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับทุกความเห็น ไม่มีโครงสร้างสวัสดิการที่เป็นตาข่ายรองรับแก่ประชาชนที่มีความเปราะบางมากขึ้น หรือ ระบบและสังคมที่ทำให้ประชาชนทุกคนรู้สึกเป็นหุ้นส่วนที่มีส่วนร่วมในการออกแบบอนาคตประเทศนี้ เรามีโอกาสจะสูญเสียทั้งคนวัยหนุ่มสาวที่ย้ายออก และ เด็กเกิดใหม่ที่จะยิ่งน้อยลงเพราะคนไม่อยากมีลูกในสังคมที่ผู้คนขาดความหวัง ซึ่งจะทำให้ปัญหาเรื่องสังคมสูงวัยและสัดส่วนวัยทำงานที่ลดลง หนักหนาสาหัสกว่าเดิม

แค่ปัญหา “สังคมสูงวัย” ก็หนักหน่วงแล้ว อย่าให้ประเทศต้องเผชิญปัญหา “สังคมสูญวัย(หนุ่มสาว)” ไปพร้อมกันด้วยเลยครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image