สถานีคิดเลขที่ 12 : ‘ข่าวแตงโม’ บอกอะไรกับเรา? โดย ปราปต์ บุนปาน

กระแสข่าวเกี่ยวกับ “คดีการเสียชีวิตของแตงโม-นิดา พัชรวีระพงษ์” นั้นได้รับความสนใจจากสาธารณชนคนไทยอย่างสูง

ทั้งในแง่การเป็นข่าวว่าด้วยเรื่องการเสียชีวิตอย่างมีปริศนา-เงื่อนงำของดารา-บุคคลสำคัญ และในแง่การพลิกผันของสถานการณ์ที่พลิ้วไหวไปตามคนในข่าวแต่ละรายและอารมณ์ความรู้สึกขึ้นๆ ลงๆ ของสังคม

ถ้ายอมรับความจริงที่ว่าการดำรงอยู่ของ “สื่อมวลชนไทย” วางฐานอย่างน้อยๆ ครึ่งหนึ่งอยู่บนยอดคนอ่านข่าว/ชมข่าวทางอินเตอร์เน็ต และยอดส่วนแบ่งรายได้จากโซเชียลมีเดียและเครือข่ายโฆษณาออนไลน์ต่างๆ แบบ “เรียลไทม์”

ก็ยากจะปฏิเสธว่าตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา “กระแสข่าวแตงโม” ซึ่งเป็นข่าวหลักข่าวเดียวที่ผู้อ่าน/ผู้ชมส่วนใหญ่ในโลกออนไลน์พร้อมใจกันเกาะติด นั้นส่งอิทธิพลต่อการดำรงอยู่ดังกล่าวเป็นอย่างสูง

Advertisement

อันเป็นการบีบให้สื่อเกือบทุกหัวและทุกประเภทต้องเข้ามาร่วมวง “ทำข่าวแตงโม” ไม่ในทางใดก็ทางหนึ่ง

หนึ่งใน “ข่าวแตงโม” ที่มีโทนเสียงแตกต่างออกไปจากข่าวกระแสหลักส่วนใหญ่ ก็คือ บทสัมภาษณ์ของ “ช่อ พรรณิการ์ วานิช” กรรมการบริหารคณะก้าวหน้าและอดีต ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ (ทั้งยังเคยสวมหมวกสื่อมวลชน ก่อนจะผันตัวมาเป็นนักการเมือง) ในรายการ The Politics ข่าวบ้านการเมือง ทางช่องยูทูบมติชนทีวี

โดยในบทสัมภาษณ์นี้ ช่อ พรรณิการ์ ได้เปรียบเทียบ “คดีแตงโม” เข้ากับ “คดีหมอกระต่ายถูกรถชน” และ “คดีค้ามนุษย์” ที่ทำให้ “พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์” ต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ ไว้อย่างน่าสนใจ

Advertisement

ในมุมมองของช่อ ทั้งสามกรณีข้างต้นล้วนบ่งชี้ถึง “บาดแผลของสังคมไทย” นั่นก็คือ “การหมดศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรม”

บาดแผลและอาการหมดศรัทธาที่ว่า ถูกสะท้อนผ่านปรากฏการณ์ที่ผู้คนธรรมดาๆ ในสังคม พากันตื่นตัวต่อความเป็นไปของคดีสำคัญต่างๆ ทั้งยังลุกขึ้นมาตั้งคำถาม ตรวจสอบ ถกเถียง กันอย่างกระตือรือร้น

ดังจะเห็นว่าคนจำนวนมากในสังคมต่างแสดงพลังเพื่อร่วมกันกดดันให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งกระทำความผิดใน “คดีหมอกระต่าย” ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างตรงไปตรงมา

ส่วนอีกหลายคนก็ต้องการความแน่ชัดเพื่อไขปริศนาต่างๆ ของคดี “ค้ามนุษย์” ที่ยังไม่มีคำอธิบายอย่างกระจ่างแจ้งจากผู้รับผิดชอบ ซึ่งพยายามปล่อยให้เรื่องราวทั้งหมดค่อยๆ เงียบหายไป

ขณะที่ประชาชนผู้ตามติด “คดีแตงโม” ก็มีแนวโน้มที่จะตัดสินหาคนถูก-คนผิดกันไปเอง และลงมือสืบสวน-คาดเดาข้อเท็จจริงกันเอาเอง โดยไม่หวังพึ่งอำนาจรัฐ

ทั้งนี้ เพราะพวกเขาและเธอต่างมีความเชื่อหรือความวิตกกังวลร่วมกันว่า “ถ้าคุณเป็นผู้มีอิทธิพล มีเงิน มีชื่อเสียงในประเทศนี้ คุณรอด คุณไม่เคยผิดในกระบวนการยุติธรรมไทย”

ท้ายสุด แม้ผู้รู้บางส่วนจะวิพากษ์วิจารณ์ท่าที-อารมณ์อันเร่าร้อนของสาธารณชนไทย ในท่ามกลางความผันแปรของ “คดีแตงโม” ว่ามีลักษณะของการตั้งตัวเป็น “ศาลเตี้ย”

ทว่า ช่อ พรรณิการ์ กลับตั้งข้อสังเกตและระบุที่มาของปัญหาที่ผิดแผกออกไป

“ในช่วงสัปดาห์นี้ ช่อได้ยินหลายคนบอกว่าคนไทยอยู่ในนิยายเรื่อง ‘คำพิพากษา’ จำได้ไหมคะ? คือสังคมได้ตัดสินเอง มีวัฒนธรรมของการประชาทัณฑ์และตัดสินแทนกระบวนการยุติธรรม

“เรียกง่ายๆ ชาวบ้านๆ ก็คือ ‘ศาลเตี้ย’ แต่ถามว่าก่อนที่คุณจะไปประณามสังคมว่าสังคมตั้งตัวเป็นศาลเตี้ย ทราบไหมคะศาลเตี้ยเกิดจากอะไร?

“ศาลเตี้ยมันก็เกิดจากว่าเขาไม่เชื่อว่า ‘ศาลสูง’ มีอำนาจหรือประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรมได้แล้วไงคะ ประชาชนถึงรู้สึกว่าฉันต้องสอบสวนกันเอง ฉันต้องไปตามหาความจริงกันเอง เพราะว่าฉันไม่เชื่ออีกแล้วว่ากระบวนการยุติธรรมในประเทศนี้มันทำให้ฉันได้”

นี่คือคำถามสำคัญจาก “ข่าว-คดีแตงโม” ที่สะท้อนย้อนแย้งกลับไปยัง “กลไกอำนาจรัฐ” และ “กระบวนการยุติธรรม” ในบ้านเมืองนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image