‘มีชัย’ มั่นใจส.ว.ระบบใหม่ปลอดการเมือง ปัดเพิ่มอำนาจศาลรธน.-องค์กรอิสระ

แฟ้มภาพ


“มีชัย” มั่นใจส.ว.ระบบใหม่ปลอดการเมือง ไม่อยู่ใต้อาณัตินักการเมือง ปัดเพิ่มอำนาจศาลรธน. แค่ใส่เงื่อนไขให้ตรวจสอบองค์กรอิสระด้วยกันเองเท่านั้น

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้าจัดสัมมนา “การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญ (ฉบับร่างเบื้องต้น) ครั้งที่ 3 กลุ่มกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และภาคตะวันออก โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. กล่าวปาฐกถาเรื่องหลักการสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญเบื้องต้น ตอนหนึ่งว่า เวลาประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้งย่อมรู้ว่าคนนี้เป็นอย่างไร พรรคมีนโยบายอย่างไร และจะเอาผู้ใดมาเป็นนายกฯ เมื่อไปเลือกตั้งประชาชนจะรู้ข้อมูลตื้นลึกหนาบาง ไม่ใช่ลงคะแนนเสร็จแล้วเป็นเรื่องของพรรคการเมือง นอกจากนี้ในส่วนของส.ว.เราคิดว่าต้องปลอดจากการเมือง จึงกำหนดให้ส.ว. ไม่สังกัดหรืออยู่ใต้อาณัติพรรคการเมือง เพราะที่ผ่านมาเวลาเลือกตั้งส.ว.ต่างอิงให้พรรคการเมืองช่วยหาเสียง เมื่ออิงเช่นนั้นจะปลอดจากพรรคได้อย่างไร เราจึงคิดเอาประชาชนมาเป็น ส.ว. เองเลย โดยไม่ต้องสังกัดพรรค ให้เลือกกันเอง ใครอยู่สาขาอาชีพใดก็ให้สมัครในอาชีพของตัวเอง ส่วนข้อกล่าวหาว่าจะมีฮั้วกัน กรธ.คิดว่าถ้าเราจัดสลับเลือก การฮั้วจะเกิดขึ้นได้ยาก ถ้าเรื่องนี้สำเร็จ คิดว่าวุฒิสภาจะเป็นโฉมหน้าใหม่ทันที

ประธานกรธ.กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องศาลรัฐธรรมนูญนั้น บางคนคิดไปไกลว่ากรธ.ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญเกินไป นั่นมโน เราก็ต้องถนอมศาล เพราะศาลจะวินิจฉัยได้ต่อเมื่อมีคนไปฟ้องไม่ใช่ให้ศาลไปหยิบคดีมาพิจารณาเอง เราให้ศาลมีอำนาจตามปกติ สิ่งเดียวที่เพิ่มขึ้นคือให้พิจารณาความผิดขององค์กรอิสระด้วยกัน เราเขียนเปิดว่าถ้าระหว่างองค์กรมีปัญหากันไม่ต้องรอถึงขั้นทะเลาะกันก็สามารถไปถามศาลได้ เหมือนเปิดรูไม่ให้อัดอั้นจนระเบิด อีกประเด็นเรานึกขึ้นได้ว่าทั่วโลกจะมีจริยธรรมทางการเมืองหรือความรับผิดชอบทางการเมืองแต่ของเราไม่มี เราคิดว่าถึงเวลาหรือยังที่จะลอกจริยธรรมของคนอื่นมาเพื่อให้มีกฎกติการู้ว่าสิ่งนี้พึงทำหรือไม่ ดังนั้นกรธ.จึงให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระทั้งหมดมาประชุมกันเพื่อจัดทำมาตรฐานจริยธรรม แล้วให้บอกเลยว่าเรื่องไหนร้ายแรงหรือเรื่องไหนตบหัวเบาๆเตือนว่าอย่าทำอีกนะ พอสร้างขึ้นมาก็อยากให้ใช้กับ ส.ส. ส.ว. และครม. ไม่ใช่แค่องค์กรอิสระ แต่ถ้าสร้างฝ่ายการเมืองไม่มีส่วนรู้เห็นก็ไม่ได้ จึงกำหนดว่าทำแล้วส่งให้ฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติเห็นชอบ

“กลไกตัดสินผิดถูก ไม่ใช่เรื่องของการเลือกตั้ง ไม่มีที่ไหนในโลกที่ ป.ป.ช. กกต.หรือศาลรัฐธรรมนูญมาจากการเลือกตั้ง คนที่จะตัดสินความผิดต้องเป็นคนที่มีประสบการณ์เชื่อถือได้ กรธ.ได้ขยับเอาคนที่มีประสบการณ์และกำหนดการสรรหาให้เป็นกลางมากขึ้น ถ้านักการเมืองมีเจตนาดีต่อบ้านเมืองต้องสรรหาคนที่เป็นกลางไม่ใช่คนที่เป็นพวก คุณสมบัติเบื้องต้นคือสุจริตเป็นที่ประจักษ์ กล้าหาญใช้ดุลพินิจปราศจากอคติ” นายมีชัยกล่าวและว่า ทั้งหมดที่ทำมาเป็นความตั้งใจจริง ตามความรู้ความสามารถของ กรธ. 21 คน มีบางส่วนยังไม่ถึงใจหรืออยากได้เพิ่ม นั่นคือประโยชน์ที่เราจะใช้ช่วงเวลานี้ในการเอาความคิดเห็นไปปรับใช้ เราต้องไปดูว่าอะไรดีที่สุดสำหรับประเทศ เราก็จะไปทางนั้น เพราะรัฐธรรมนูญใช้กับคนทั้งประเทศไม่ใช่ฝ่ายการเมืองหรือแค่คนบางคน ถ้าเขียนให้น้ำหนักไปทางใดทางหนึ่งประเทศก็ไม่สงบสุข แต่บางเรื่องตามใจใครไม่ได้อย่างเรื่องปราบทุจริต

Advertisement

สำหรับประเด็นสิทธิเสรีภาพที่เป็นห่วงกันคือเรื่องสิทธิชุมชนที่ดูเหมือนว่ากรธ.ตัดออก ซึ่งไม่จริง กรธ.แค่ไม่ได้เขียนเจาะจง แต่เขียนให้ครอบคลุม เหมือนห้องหนึ่งที่ใช้ฮีตเตอร์แก้ความหนาวแต่ไม่ได้ใช้ผ้าห่ม พอคนที่เคยชินอยากได้ผ้าห่ม ถ้าเขียนไว้คงไม่น่าจะเสียหายอะไร ถ้าเขียนแล้วรู้สึกว้าเหว่เราก็จะไปเขียนให้ตามความเคยชินก็ได้ อย่างไรก็ตาม ถ้ามีข้อสงสัยขอให้เปิดดูถ้อยคำในรัฐธรรมนูญว่าเป็นจริงอย่างที่คนพูดกันหรือไม่ ประเทศไทยมักจะมีนิสัยที่อะไรที่ยาวๆ ไม่ค่อยอ่านฟังอย่างเดียว แต่เวลาฟังไม่รู้หรอกว่าคนจะพูดตามที่หนังสือเขียนหรือไม่ บางทีบิดจากขาวเป็นดำไปเลยจะง่ายกว่าหรือไม่ถ้าเปิดดูว่าเป็นจริงเช่นนั้นหรือไม่ ถือเป็นความกรุณามหาศาลต่อกรธ.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image