คนรักกัญชา โผล่มอบดอกไม้ ให้กำลังใจ “อนุทิน” นำกัญชาขึ้นมาบนดิน

คนรักกัญชา แห่ให้กำลังใจ “อนุทิน” ที่ทำให้กัญชาขึ้นมาบนดิน แก้เจ็บแก้จน กรมการแพทย์ เตรียมเดินหน้าต่อยอดนวัตกรรม เพื่อประโยชน์ด้านสุขภาพ สร้างเม็ดเงินเข้าประเทศ พร้อมขึ้นแท่นพืชเศรษฐกิจโลก ในอนาคตอย่างยั่งยืน

วันที่ 15 มิถุนายน 2565 ที่ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานครโดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ปลดล็อกกัญชาเสรี สร้างเศรษฐกิจ สร้างสุขภาพ” และรับมอบตำรับยากัญชาของหมอพื้นบ้านให้เป็นตำรับยาแผนไทยของชาติ ทั้งนี้ มีนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดกิจกรรม “เดินหน้า…กัญชาเสรี แก้เจ็บแก้จน” และการอบรมเรื่อง การเพาะปลูก และการเก็บเกี่ยวที่ดีของพืชกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และการส่งออก โดยมี นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงาน รวมถึงสมาคมต่างๆ หมอพื้นบ้าน แพทย์แผนไทย แห่ให้กำลังใจนับ 500 คนมามอบดอกไม้ให้กำลังใจ อาทิ สมาคมอุตสาหกรรมกัญชา กัญชงและกระท่อม จากสภาการแพทย์แผนไทย สมาคมการแพทย์แผนไทยแห่งประเทศไทย สมาคมการแพทย์ผสมผสานไทย สมาคมนวัตกรรมการแพทย์ผสมผสาน สมาคมนักธรรมชาติบำบัดไทย นักศึกษาแพทย์แผนไทย ม.ปทุมธานี สถาบันฝึกอบรมแพทย์แผนไทยบ้านมณีรินทร์ เป็นต้น

นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตามที่นโยบายรัฐบาลให้ความสำคัญในการต่อยอด ภูมิปัญญาและความรู้ของปราชญ์ชาวบ้าน เพื่อสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป รวมถึงศึกษาวิจัยการใช้กัญชาทางการแพทย์เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจนั้น นำไปสู่การขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์ ซึ่งวันนี้พ้นวันที่ 9 มิถุนายน 2565 มีผลทำให้ประชาชนเข้าถึงกัญชาเสรี และใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น และมีการผลักดันยากัญชาแผนไทย 5 รายการ คือ ยาแก้ลมแก้เส้น ยาศุขไสยาศน์ ยาทำลายพระสุเมรุ น้ำมันกัญชา (หมอเดชา) และน้ำมันกัญชาทั้ง 5 สู่ชุดสิทธิประโยชน์และบัญชียาหลักแห่งชาติ และที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องคือการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพผ่านเครือข่ายสุขภาพในระดับชุมชน ส่งเสริม ป้องกัน และฟื้นฟูสุขภาพด้วยการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก ในหน่วยบริการสาธารณสุขทุกระดับ และเป็นการเสริมสร้างเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

จากนโยบายการปลดล็อกกัญชา มีการคาดการณ์ว่าประชาชน เกษตรกร รวมถึงภาคธุรกิจ จะได้รับประโยชน์ เช่น เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 1.5 ล้านบาท ต่อวิสาหกิจต่อรายต่อปี ขณะนี้วิสาหกิจชุมชนที่ยื่นขอปลูกกัญชา ประมาณ 1,976 แห่ง ก็จะมีเงินไหลเวียนในระบบ 2,964 ล้านบาทต่อปี มีการส่งเสริมให้วัตถุดิบกัญชาเข้าสู่อุตสาหกรรมอาหาร อาหารเสริม เครื่องสำอาง ซึ่งมีมูลค่าตลาด 200,000 ล้านบาทต่อปี กลุ่มผู้ป่วยนอนไม่หลับ และผู้สูงอายุ ประมาณ 31 ล้านคน ประมาณการเป็นมูลค่า 64,000 ล้านบาทต่อปี

Advertisement

ในส่วนประโยชน์ด้านสุขภาพ จากการปลดล็อกกัญชา สามารถลดภาระการดูแลผู้ป่วยในระบบสุขภาพ ลดการแออัดในโรงพยาบาล ประชาชนสามารถนำส่วนของกัญชาไปใช้ประโยชน์ในการดูแลสุขภาพเบื้องต้นได้ เช่น ชาชงกัญชา กัญชากับอาหาร และเพิ่มการเข้าถึงบริการในระบบสุขภาพปฐมภูมิ เข้าถึงการใช้ตำรับยา แผนไทยที่มีส่วนผสมของกัญชาได้ง่ายขึ้น ซึ่งช่วยบรรเทา รักษาอาการ/โรคของผู้ป่วย ลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในผู้ป่วยผู้ป่วยระยะประคับประคองลงประมาณ 928.8 ล้านบาท ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย การแพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้าน สามารถนำกัญชามาใช้ปรุงยาให้ผู้ป่วยเฉพาะรายของตนได้ ภาพรวมจากการปลดล็อกกัญชา จะช่วยเพิ่มมูลค่าทางอุตสาหกรรม และลดค่าใช้จ่าย ด้านสุขภาพ 267,210 ล้านบาท เป็นต้น

ทางด้าน นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า กัญชา เป็นภูมิปัญญาของชาติไทย ซึ่งยังมีความรู้ที่ดีอีกมากที่สมควรจะได้รับการรวบรวม ศึกษาวิจัย พัฒนา และต่อยอด ต่อไปในอนาคต การนำกัญชามาพัฒนาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อระบบสุขภาพประชาชน ประเทศชาติ และถูกต้องตามกฎหมาย นับว่าเป็นภาพที่ชัดเจนตามภารกิจที่กำหนดไว้ โดยทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ดำเนินการอย่างครบกระบวนการตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และ ปลายทาง นำไปสู่ผลลัพธ์ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งเป้าหมายไว้ คือ สามารถต่อยอดเชิงเศรษฐกิจ พัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพ ยา ด้านการท่องเที่ยว wellness มีการรวบรวม องค์ความรู้ เชิดชูเป็นมรดกทางภูมิปัญญาของชาติมากกว่า 200 ตำรับ ส่งเสริมแพทย์แผนไทย แผนไทยประยุกต์ หมอพื้นบ้าน ปรุงยากัญชาเฉพาะราย เพิ่มการเข้าถึงการใช้ยากัญชาในการรักษาโรค ในคลินิกกัญชาทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ กว่า 2,000 แห่ง ศึกษาวิจัย จัดทำมาตรฐาน ยากัญชา ผลักดันสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ ให้ประชาชนทุกสิทธิเข้าถึงอย่างทั่วถึง สะดวกและง่าย และมีแนวทางในการนำไปใช้ในคลินิกเฉพาะโรค คลินิกผู้สูงอายุ การดูแลผู้ป่วย Long COVID และในระยะต่อไปจะพัฒนาอย่างต่อเนื่องรวมทั้งเพิ่มเติมการสร้างความรอบรู้ให้ประชาชน อสม. ผู้ป่วย ในการนำมากัญชาใช้ประโยชน์ดูแลสุขภาพตามวัยอย่างปลอดภัยและเหมาะสม

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image