เรืองไกรจ่อยื่น ป.ป.ช.สอบญัตติซักฟอก งงทำไมไม่แก้แล้วยื่นใหม่ ในเมื่อของเดิมมีตำหนิ

‘เรืองไกร’ จ่อยื่น ป.ป.ช.สอบญัตติซักฟอกฝ่ายค้านเถื่อนหรือไม่ หากเป็นญัตติ รมต.ถูกเชือด 11 คน เหน็บไม่รู้เพราะศักดิ์ศรีหรืออะไร ทำไมไม่แก้แล้วยื่นใหม่ให้บริสุทธิ์ เหตุของเดิมมีตำหนิ

เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางหลังจากยื่น นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ตรวจสอบญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านว่าเถื่อนหรือไม่ จะมีการยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือไม่ (ป.ป.ช.) ว่าจากที่ติดตามข่าวเมื่อวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภา ระบุว่านายชวนจะส่งหนังสือไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งการส่งหนังสือไปโดยให้หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านทั้ง 7 พรรค เซ็นรับรองรายชื่อตามบัญชีแนบท้าย ต้องดูว่าหนังสือไปถึง ครม.อย่างไร และนายชวนบรรจุวาระอย่างไร หากไปรับรองรายชื่อเดิมให้เป็นรายชื่อของญัตติ 11 คน ตนจะร้องต่อ ป.ป.ช.ต่อ ซึ่งตนถือว่าไม่น่าจะทำได้

เมื่อถามว่ามองว่าญัตติของฝ่ายค้านไม่ถูกต้องด้วยเหตุผลใด นายเรืองไกรกล่าวว่า เพราะเจตนาเดิมของเขาเป็นญัตติที่รัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายมีจำนวน 10 คน ตามคำให้สัมภาษณ์ของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ซึ่งเมื่อมาเพิ่มเป็น 11 คน ก็ต้องเซ็นใหม่ตามแนวทางคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ให้ไปรับรองว่าที่เซ็นของ 10 คน นำมาใช้สำหรับ 11 คนก็ได้ ซึ่งตนคิดว่าไม่ถูกต้อง และหลายคนเห็นตรงกันว่าเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้น ก็ต้องหาแนวทาง แต่หากดูตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่น่าจะเป็นญัตติที่ถูกต้อง เพราะเท่ากับญัตติ 11 คนแต่เดิม ไม่มีคนเซ็นมา มีเฉพาะ นพ.ชลน่านเซ็นมา เพราะการเซ็นชื่อเสนอญัตติต้องอ่านและเซ็นชื่อว่าเห็นด้วย แต่นี่เป็นกรณีที่ให้เขาเซ็นลอย ซึ่งเมื่อนายชวนส่งหนังสือถึง ครม.เพื่อให้กำหนดวันอภิปรายกลับมายังสภา และต้องมีการบรรจุระเบียบวาระเป็นเรื่องด่วน ตรงนี้จะเป็นเงื่อนไขที่ต้องให้ ป.ป.ช.เข้ามาตรวจสอบด้วย

ถามต่อว่าหากญัตติดังกล่าวไม่ถูกต้องจริงจะส่งผลอย่างไรบ้าง นายเรืองไกรกล่าวว่า หากไม่ถูกต้องก็จะเป็นญัตติที่ไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 ซึ่งต้องไปวินิจฉัยว่าการใช้ญัตติที่ไม่ชอบเข้าข่ายการจงใจปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายหรือไม่ และเป็นความผิดตามมาตรฐานจริยธรรมหรือไม่ ทั้งนี้ สำหรับคนที่เซ็นชื่อไปจะมีผลอะไรหรือไม่นั้น ฝ่ายค้านบางคนก็บอกว่าเขาเป็นผู้เสียหายไม่โต้แย้ง ซึ่งจะบอกว่าผู้ที่เข้าชื่อทั้ง 182 คนนั้นเป็นผู้เสียหายไม่ได้ เพราะคนที่เสียหายเป็นรัฐมนตรีที่ถูกเข้าชื่ออภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะเขาต้องมาตอบญัตติที่เขาเห็นว่าไม่ถูกต้อง ก็ต้องมีมุมที่ต้องมองเพื่อความเป็นธรรม

เมื่อถามว่าหากเป็นเช่นนี้สามารถยื่นใหม่ได้หรือไม่ นายเรืองไกรกล่าวว่า “นั่นเป็นสิ่งที่เรามีความเห็นไปว่าทำไมไม่ถอนทำให้ญัตติตกแล้วยื่นใหม่ ซึ่งมีข้อดีกว่าเยอะ แค่พิมพ์ขึ้นมาใหม่ แก้วันที่เท่านั้นเอง ทำไมต้องไปดึงดันให้ต้องเป็นวันที่ 15 มิถุนายน ยื่นใหม่ แก้วันที่ใหม่ เข้าชื่อเข้ามาใหม่ ก็เป็นสิ่งที่บริสุทธิ์แล้ว ของเดิมมันมีตำหนิ มันไม่บริสุทธิ์ ไม่รู้เพราะศักดิ์ศรีหรือเพราะอะไร ผมก็ไม่เข้าใจ ของมันน่าจะแก้ไขให้มันง่ายขึ้น ไม่ต้องไปผิดแล้วผิดอีก หากไม่ถูกก็ต้องพร้อมให้เขาตรวจสอบ จะมาบอกว่าเรืองไกรหยุดได้แล้ว มันไม่ถูกต้อง หากผมหยุด ผมก็ทำตามคำร้องขอของฝ่ายค้านก็ไม่ใช่ เพราะเวลานี้ผมก็ไม่ได้ทำเพื่อเอาใจรัฐบาล เพราะผมไม่ได้เกี่ยวอะไรด้วย” นายเรืองไกรกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image