รัฐสภาถกกม.ยุติธรรมล่มกระทบชิ่ง พ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส.หวังลากพ้น 180 วันล้มสูตร 500 หาร

รัฐสภาถก กม.ยุติธรรมล่มกระทบชิ่ง พ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส.หวังลากพ้น 180 วันล้มสูตร 500 หาร

การประชุมร่วมรัสภาเพื่อพิจารณาร่างราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. … จำนวน 12 มาตรา องค์ประชุมไม่ครบกระทบไปถึงการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. …. ให้แล้วเสร็จใน 180 วัน ที่จะครบในวันที่ 15 สิงหาคมนี้
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. … จำนวน 12 มาตรา ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาเสร็จแล้ว เป็นการออกกฎหมายให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 258 ง. ด้านกระบวนการยุติธรรม (1) ซึ่งบัญญัติให้การดำเนินการปฏิรูปด้านกระบวนการยุติธรรม

โดยให้มีการกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมที่ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมโดยไม่ล่าช้าเนื่องจากกระบวนการยุติธรรมมีขั้นตอนมาก และมีความยุ่งยากซับซ้อน บรรยากาศการประชุมเป็นอย่างทุลักทุเล ใช้เวลาพิจารณากว่า 3 ชั่วโมง ผ่านไปได้เพียง 5 มาตรา และยังเจอปัญหาเรื่องรอองค์ประชุม

จนทำให้ นายคำพอง เทพาคำ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ลุกสอบถามนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมต่อจากนายพรเพชร ว่า เมื่อปี 2512 ต้องใช้เวลารอองค์ประชุมนานแบบปัจจุบันหรือไม่ ทำให้ นายชวนกล่าวตอบว่า ตอนนั้นมีสมาชิก 219 คนประชุมที่ตึกอนันตสมาคม การลงมติคือ ยกมือ ในห้องมีเจ้าหน้าที่นับจำนวน ไม่มีการกดบัตร ส่วนการอภิปรายต้องยกมือ แล้วเดินออกไปที่ไมโครโฟน ไม่ได้สะดวกแบบนี้ สมัยนั้นมี ส.ส.น้อย ที่นั่งจำกัด

ต่อมาที่ประชุมพิจารณาจนถึงมาตรา 7 นายชวนได้กดออดเรียกสมาชิกเพื่อแสดงตนเป็นองค์ประชุม ใช้เวลากว่า 20 นาที จนองค์ประชุมครบ จำนวน 365 คน แต่สมาชิกกลับไม่ยอมลงมติ ปล่อยเวลาล่วงเลยไปประมาณ 5 นาที ทำให้นายสมชาย แสวงการ ส.ว. เสนอนายชวนว่า เนื่องจากขณะนี้องค์ประชุมมีความสุ่มเสี่ยงที่จะล่ม ขอให้ประธานใช้ข้อบังคับการประชุม ข้อที่ 56 ลงมติด้วยการขานชื่อแทน แต่นายชวนกล่าวว่า การขานชื่อจะใช้เวลามาก จึงให้อดทนรอคอย ไหนๆ ก็ใช้วิธีนี้มาด้วยความอดทน สุดท้ายที่ประชุมโหวตผ่านมาตรา 7 ด้วยคะแนนเห็นด้วย 363 เสียง และงดออกเสียง 2 โดยมีผู้ลงคะแนน 365 เสียง ถือว่าผ่านกึ่งหนึ่งขององค์ประชุมพอดี

Advertisement

ต่อมามีการพิจารณาและลงมติมาตรา 8 นายชวนได้รอสมาชิกมาเป็นองค์ประชุมนานกว่า 20 นาที ที่ยังขาดกว่า 20 คน ทำให้ นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน ส.ว.กล่าวเสนอว่า ถ้าเป็นเช่นนี้ ให้ยุบสภาไปเลย ขณะที่ นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก. กล่าวย้อนว่า ขอให้ยุบ ส.ว.ไปก่อนเลย และเวลาที่องค์ประชุมขาด 4-5 คน ขอไปเชิญผู้นำเหล่าทัพมาร่วมประชุมด้วย สุดท้ายมาตรา 8 ใช้เวลาเรียกสมาชิกแสดงตนเป็นองค์ประชุมกว่า 50 นาที

ทั้งนี้ ระหว่างรอลงมติ นายสมชาย ในฐานะ กมธ.กฎหมายลูก ได้ลุกขึ้นสอบถามนายชวนว่าจะมีการพิจารณากฎหมายลูกในวันนี้เลยหรือไม่ เพราะ กมธ.ได้มาคอยอยู่หน้าห้องแล้วหรือจะไปพิจารณาวันที่ 9-10 สิงหาคม ตามที่หารือกับวิป 3 ฝ่ายไว้ ด้านนายชวนกล่าวว่า ตั้งใจว่าเมื่อจบร่างกฎหมายนี้แล้วจะนำกฎหมายลูกเข้าทันทีส่วนจะพิจารณาได้แค่ไหน ต้องดูกัน สำหรับการนัดประชุมรัฐสภาในวันที่ 9-10 สิงหาคม เป็นการคาดการณ์ยังไม่ตกลงอะไร ดังนั้น ในวันที่ 4 สิงหาคม จะหารือกับวิป 3 ฝ่าย เพราะอย่างไรสภาต้องรับผิดชอบ
อย่างไรก็ตาม กระทั่งเวลา 16.47 น. องค์ประชุมก็ยังไม่ครบ นายชวนจึงบอกว่าตนขอรอถึงเวลา 17.00 น. ถ้าไม่พร้อมก็ต้องปิดประชุมไป จนเวลา 17.00 น. นายชวนได้แจ้งจำนวนองค์ประชุมว่า ขณะนี้มีจำนวน 357 เสียง หรือขาดอีก 7 เสียงจึงจะครบองค์ประชุม ในมาตรา 8 นี้ ใช้เวลารอเพื่อโหวตถึง 53 นาที จากนั้นนายชวนจึงสั่งปิดประชุมในเวลา 17.01 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่ม ส.ส.ที่เล่นเกมไม่ยอมเข้าแสดงตนเป็นองค์ประชุม ประกอบไปด้วย พรรคเพื่อไทย (พท.) และพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะการโหวตมาตรา 8 ส.ส.อยู่ในห้องประชุม พรรคละ 3-4 คนเท่านั้น รวมถึงพรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา ในฐานะหัวหน้าพรรค ศท. เพราะไม่ต้องการใช้สูตรคำนวณ เตะถ่วงเวลา ส.ส.บัญชีรายชื่อ ด้วยการหาร 500 จึงพยายามไม่ยอมให้ร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ผ่านวาระ 3 ทันวันที่ 15 สิงหาคม จะครบกรอบเวลา 180 วัน เพราะขณะนี้พรรคขนาดใหญ่ต้องการกลับไปใช้การคำนวณด้วยการหาร 100

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการปิดประชุมเนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบในการประชุมรัฐสภานั้น ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 โดยครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ระหว่างพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ. … วาระสอง, ครั้งสอง วันที่ 27 กรกฎาคม ระหว่างพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย วาระสอง และครั้งที่สาม วันที่ 3 สิงหาคม ระหว่างพิจารณาร่าง พ.ร.บ. กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. …

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image