ปมร้อนนายกฯ 8 ปี ผลคำวินิจฉัยศาลรธน. แรงกดดันต่อทุกฝ่าย

ประเด็นร้อนเกี่ยวกับข้อถกเถียงในทางกฎหมาย ในกรณีวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ครบ 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมนั้น จะเริ่มนับจากช่วงเวลาใด เนื่องจากฝ่ายที่เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบ 8 ปี ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 พร้อมกับยื่นเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบเรื่องดังกล่าว เพราะนับจากช่วงเวลาที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับการโปรดเกล้าฯเป็นนายกฯ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 ตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557

โดย ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องต่อสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการดำรงตำแหน่งนายกฯของ พล.อ.ประยุทธ์ ครบ 8 ปี และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ยุติปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยด้วย ขณะที่พรรคร่วมฝ่ายค้านจะยื่นคำร้องต่อประธานรัฐสภา เพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวในวันที่ 17 สิงหาคมนี้

ประเด็นคำร้องที่ “ศรีสุวรรณ” รวมทั้งนักกฎหมายหลายคน มองว่า หากนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯของ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557

เมื่อเปิดรัฐธรรมนูญ 2560 ในมาตรา 158 วรรคสี่ ที่บัญญัติว่า “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง”

Advertisement

สอดคล้องกับมาตรา 264 บัญญัติว่า “ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็น ครม. ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้” ทำให้นักกฎหมายมองว่า เมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดไว้เช่นนี้ ย่อมจะตีความได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบวาระ 8 ปี ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกฯ มาต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 ไม่เคยเว้นวรรคแต่อย่างใด

ยิ่งเมื่อมีการเปิดเอกสารบันทึกการประชุมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2561 แม้จะเป็นความเห็นส่วนบุคคลทั้งของ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ไว้ว่า “เมื่อพิจารณาบทเฉพาะกาลในมาตรา 264 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ให้คณะรัฐมนตรีบริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่ และให้นำความในมาตรา 263 วรรคสาม มาใช้บังคับแก่การดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีโดยอนุโลม การบัญญัติในลักษณะดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า แม้จะดำรงตำแหน่งนายกฯอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ก็สามารถนับรวมระยะเวลาดังกล่าว รวมกับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ ซึ่งเป็นการนับรวมระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ ต้องมีระยะเวลาไม่เกิน 8 ปี”

ขณะที่ สุพจน์ ไข่มุกด์ รองประธาน กรธ. คนที่หนึ่ง ได้ให้ความเห็นไว้ในคราวประชุมเดียวกันว่า “หากนายกฯที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้บังคับ เมื่อประเทศไทยยังคงมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ควรนับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าว รวมเข้ากับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วย”

Advertisement

เช่นเดียวกับรายงานของ กรธ. ที่จัดทำจุดมุ่งหมายรายมาตราของรัฐธรรมนูญ 2560 หรือในความหมายที่ไม่ต่างกันคือ เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ โดยความมุ่งหมายของมาตรา 158 วรรคสี่

ที่บัญญัติว่า “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีไม่ได้ ไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่ไม่ให้นับรวมระยะเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่หลังพ้นจากตำแหน่ง”

มีสาระสำคัญตอนหนึ่งว่า “การกำหนดหลักการใหม่ เกี่ยวกับการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการนับระยะเวลา คือ 8 ปี แม้บุคคลดังกล่าวจะไม่ได้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ติดต่อกันก็ตาม แต่หากรวมระยะเวลาทั้งหมดที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ ของบุคคล แล้วเกิน 8 ปี ต้องห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ การกำหนดระยะวลา 8 ปี เพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดทางอำนาจทางการเมืองยาวนานเกินไป อันจะเป็นต้นเหตุวิกฤตทางการเมืองได้”

แม้จะมีความเห็นแย้งจากบางฝ่ายที่มองการตีความวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบ 8 ปี ซึ่งอาจจะตีความได้อีก 2 แนวทาง คือ แนวทางแรก ควรจะเริ่มนับการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2560 มีผลบังคับใช้คือ วันที่ 6 เมษายน 2560 ซึ่งจะครบวาระ 8 ปี ในวันที่ 6 เมษายน 2568 และแนวทางที่สอง ควรจะเริ่มนับวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯของ พล.อ.ประยุทธ์ ภายหลังการเลือกตั้งที่ได้รับการโปรดเกล้าเป็นนายกฯ ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2562 ซึ่งจะครบวาระ 8 ปี ในวันที่
9 มิถุนายน 2570 โดยยกหลักการตีความของกฎหมายมหาชนและหลักนิติธรรมจะบังคับใช้กฎหมายในทางเป็นโทษกับบุคคลย้อนหลังไม่ได้ ความเห็นทางข้อกฎหมายเกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบ 8 ปี ที่มีอยู่ 3 แนวทาง

สุดท้ายจะเป็นหน้าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่จะเป็นผู้วินิจฉัย ความเห็นต่างในการตีความรัฐธรรมนูญให้สิ้นสงสัย

ผลการชี้ขาดวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบ 8 ปี ไม่ว่าจะออกมาเป็น “บวก” หรือ “ลบ” ย่อมเป็นแรงกดดันให้ทั้งผู้มีหน้าที่วินิจฉัย รวมทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ ที่จะเป็นผู้ได้รับส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง หากผลออกมาในแนวทางบวก พล.อ.ประยุทธ์จะได้ไปต่อในทางการเมืองสามารถทำหน้าที่อยู่ได้จนครบวาระ 4 ปีของรัฐบาลในเดือนมีนาคม 2566 ส่วนจะได้กลับมาทำหน้าที่ต่อหรือไม่คงต้องอยู่ที่ผลการเลือกตั้งครั้งหน้าจะเป็นตัวชี้ขาด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image