‘ปลัดเก่ง’ ปลุกคนมหาดไทย ทำงานด้วยสำนึกความเป็น ‘ข้าราชการ’

ปลัดมหาดไทยลงพื้นที่อุบลฯปลุกคนมหาดไทยมีสำนึกในการเป็น “ข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ดูแลพสกนิกรของพระองค์ให้มีความสุข ย้ำต้องทำงานเป็นทีมสื่อสารการทำงานให้ประชาชนรับรู้ดึง 7 ภาคีเครือข่ายเข้าร่วมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ที่ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในการประชุมติดตามการขับเคลื่อนนโยบาย และภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย และกิจกรรมการขับเคลื่อนบันทึกข้อตกลงความร่วมมือบทบาทในการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชน ให้มีความสุขอย่างยั่งยืน (MOU) ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด นายอำเภอ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม

นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้รายงานผลการขับเคลื่อนนโยบายและภารกิจสำคัญของจังหวัดจำนวน 11 ประเด็น ประกอบด้วย การขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดอุบลราชธานี แบบสำรวจข้อมูลปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในหมู่บ้าน รายครัวเรือน ผ่านระบบ Thai QM โครงการ โคก หนอง นา การบริหารจัดการขยะมูลฝอยของจังหวัดอุบลราชธานี บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง และกิจกรรมทางนี้มีผลผู้คนรักกัน การรณรงค์สวมใส่ผ้าไทย การขับเคลื่อนบันทึกข้อตกลงความร่วมมือบทบาทในการเกื้อหนุน ระหว่างวัดและชุมชน ให้มีความสุขอย่างยั่งยืน จังหวัดอุบลราชธานี (MOU) การขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs การสร้างการรับรู้ด้านประชาสัมพันธ์ สถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี และการรับมือสถานการณ์อุทกภัย

Advertisement

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้มอบนโยบายให้กับทางจังหวัดว่า จังหวัดทีมงานดี จังหวัดอุบลฯทำงานสื่อสารกับสังคมได้ดี งานแต่ละด้านตนมีโอกาสรับรู้ ผู้ว่าฯอุบลราชธานีถือเป็นต้นแบบที่ดีนายกรัฐมนตรียังชม การสื่อสารของทางจังหวัดเป็นการสร้างการรับรู้ที่ดีของประชาชนจะทำให้เกิดความเลื่อมใสนับถือว่าข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทำงานบำบัดทุกข์ บำรุงสุข เพราะระบบการกระจายข่าวทุกช่องทางประชาชนรับรู้ข่าวสารได้ โดยเฉพาะหอกระจายข่าวมีอยู่แล้วต้องใช้ให้เกิดประโยชน์

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ผู้นำต้องมี passion มีรังสีแห่งความเป็นผู้นำเพื่อให้เกิดงานใหม่ขึ้นมา ส่วนงานที่ยังทำไม่สำเร็จก็จะได้รับความร่วมมือ ปัญหาที่ต้องใช้เวลาในการแก้ไขถ้าชาวบ้านนับถือชาวบ้านก็เบาใจนอนหลับกินได้ การสื่อสารต้องเป็นแบบสองทางให้ชาวบ้านสื่อสารให้ทางจังหวัดรับทราบได้โดยไม่กังวลใจ สิ่งหนึ่งจำเป็นต้องมาแจ้งให้ทราบอยากเห็นให้เกิดในทุกจังหวัดคือ การสร้างความเชื่อมั่นในตัวของพวกเรา เชื่อมั่นว่ามีอุดมการณ์บำบัดทุกข์ บำรุงสุข

ทั้งนี้ ผู้ปฏิบัติงานหรือข้าราชการ ต้องมีความเชื่อมั่นและมีอุดมการณ์ในการทำงาน จะต้องรู้ว่าตนเองเป็นใคร มีหน้าที่ความรับผิดชอบอะไร ต้องสำนึกว่าตนเป็น “ข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” และต้องทำงานหรือปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลพสกนิกรของพระองค์ให้มีความสุขอย่างยั่งยืน โดยการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับประชาชนในพื้นที่ การทำงานผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ ต้องเป็นนายกรัฐมนตรี ในจังหวัด เป็นผู้นำในการขับเคลื่อนงานของทุกกระทรวง เพื่อสนองต่อการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนและสร้างทีมงานในการทำงานโดยการประสานบูรณาการกับหน่วยงานทุกกระทรวง/กรมในพื้นที่ เพื่อให้การขับเคลื่อนงานเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม การสร้างทีมงาน สร้างทีมงานภายใต้ความร่วมมือของภาคีเครือข่าย

การทำงานทำคนเดียวไม่ได้ ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องเป็นนายกรัฐมนตรีของจังหวัด นายอำเภอต้องเป็นนายกฯของอำเภอให้ได้ การทำงานท่านต้องขับเคลื่อนงานของทุกกระทรวง ไม่ใช่ของกระทรวงมหาดไทยกระทรวงเดียว ทำงานตอบสนองประชาชนให้ได้ เมื่อเป็นผู้นำแล้วพวกท่านต้องเอาใจใส่ดูแลสร้างทีมงานขึ้นมา ไม่ใช่เฉพาะคนในสังกัดกระทรวงหมาดไทยอย่างเดียว ข้าราชการทุกกระทรวงต้องเป็นทีมงานท่านทำให้เขาอบอุ่นใจว่างานที่ผู้บังคับบัญชาส่วนกลางสั่งลงมาผู้ว่าฯและนายอำเภอต้องรับเป็นภาระในการเป็นผู้นำขับเคลื่อนให้ได้

“พวกท่านต้องมีการสร้างทีมที่มีทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมทำงานเข้ามามีส่วนร่วมการทำงานให้สำเร็จโดยเฉพาะ 7 ภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย ภาคราชการ นักวิชาการ ผู้นำศาสนา นักธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และสื่อมวลชน เพื่อให้การทำงานหรือการขับเคลื่อนนโยบายสามารถดำเนินการได้อย่างสำเร็จบรรลุผล และมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน” ปลัดกระทรวงมหาดไทยกล่าว

นายสุทธิพงษ์ได้เน้นย้ำและให้ความสำคัญกับการสื่อสาร การสร้างความรับรู้ให้กับประชาชนในทุกช่องทางและทุกมิติ เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รับรู้ถึงภารกิจและนโยบายสำคัญของรัฐ และสามารถเข้าถึงช่องทางในการรับบริการหรือรับการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนได้อย่างรวดเร็วทันต่อสถานการณ์ โดยอาศัยการสื่อสารผ่านภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย อันมีเป้าหมายสำคัญ คือ การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน พร้อมฝากให้นายอำเภอกลับไปทำให้ทีมของแต่ละหมู่บ้านเข้มแข็ง ต้องมีทีม ครม.ประจำหมู่บ้านที่เข้มแข็ง เพื่อแก้ปัญหาเบื้องต้นมาตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน

การจะสร้างทีมให้มั่นคงและยั่งยืนได้ เราต้องเข้าไปอยู่ในหัวใจของประชาชน จะทำให้เราได้ทรัพยากรบุคคลที่เป็นจิตอาสา มาช่วยเหลือพี่น้องประชาชนมากขึ้น ผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องช่วยกระตุ้น ให้นายอำเภอนำคณะกรรมการหมู่บ้านต้องช่วยกันให้แข็งแกร่ง ให้ทำหน้าที่ตามกฎหมาย และเพิ่มเสริมเติมให้ครบถ้วน เมื่อทำตามหน้าที่เต็มความสามารถแล้วจะได้เบาใจ ว่าคนป่วยจะได้พบหมอพบแพทย์ นักเรียนได้มีที่เรียน ได้มีที่อยู่อาศัย หากมีทีมมากพอที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง จะเกิดความมั่นคงถาวร สถาบันผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอจะเป็นหลักเป็นที่พึ่งของพี่น้องประชาชนได้ ดูแลพัฒนาระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน

อย่างก็ตาม ในช่วงท้ายปลัดกระทรวงมหาดไทยได้น้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในเรื่อง “อารยเกษตร” ให้กับส่วนราชการ อำเภอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องน้อมนำไปปฏิบัติ และใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในทุกตำบล หมู่บ้าน อำเภอ ให้มีความสุขอย่างยั่งยืนสืบไป สำนักงานจังหวัดอุบลราชธานี

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image