เปิด 3 แนวทาง ‘ทำงานวิถีใหม่-New Normal’ ที่ครม.เห็นชอบ ปรับวิธีปฏิบัติราชการ

‘ครม.’ เห็นชอบแนวทางการปฏิบัติราชการที่รองรับชีวิต – การทำงานวิถีใหม่ หรือ New Normal

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 20 กันยายน ที่ทำเนียบรัฐบาล นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. เห็นชอบแนวทางการปฏิบัติราชการที่รองรับชีวิตและการทำงานวิถีใหม่ พร้อมคู่มือ เพื่อให้ส่วนราชการใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการต่อไป และมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐพิจารณานำแนวทางและคู่มือดังกล่าว ไปปรับใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการตามความเหมาะสม

ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามแผนปฏิรูปประเทศ ฉบับปรับปรุง ด้านการบริหารราชการแผ่นดินในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป เนื่องจากในช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อรูปแบบการดำรงชีวิตและการปฏิบัติงานในภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ภาครัฐจึงมีความจำเป็นต้องปรับตัวและปรับเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติงานและการให้บริการประชาชน ตลอดจนการบริหารจัดการภายในหน่วยงานให้มีความเหมาะสมและยืดหยุ่น คล่องตัว ให้สอดคล้องกับฐานวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) และตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ทันท่วงที

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับแนวทางการปฏิบัติราชการที่รองรับชีวิตและการทำงานวิถีใหม่ มีหลักการสำคัญคือ ให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐปรับตัวได้อย่างสอดคล้องกับบริบทและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างคล่องตัว และทันการณ์ โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพและผลสัมฤทธิ์ของงานภาครัฐ และประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการรับบริการเป็นสำคัญ ซึ่งจะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการปรับรูปแบบการบริหารส่วนราชการ และหน่วยงานภาครัฐในภาพรวมทุกมิติ เช่น ระบบและขั้นตอนการทำงานและการให้บริการประชาชน การบริหารทรัพยากรบุคคล และการปรับปรุงด้านเทคโนโลยีในการปฏิบัติงาน

“นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐสามารถส่งเสริมให้เกิดการปรับวิธีคิดและกรอบความคิด (Mindset) ของผู้ปฏิบัติงานทุกระดับ เพื่อให้พร้อมปรับตัวเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ตลอดจนให้มีความพร้อมที่จะเรียนรู้และพัฒนาตนเองตลอดเวลาเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป และยังเปิดโอกาสให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐสามารถพิจารณากำหนดรูปแบบวิธีการปฏิบัติราชการให้สอดคล้องกับภารกิจและลักษณะงาน เพื่อให้สามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ และคำนึงถึงคุณภาพชีวิตในการทำงานของผู้ปฏิบัติงานและวิถีการดำเนินชีวิตเพื่อการสร้างสมดุลที่เหมาะสมกับการปฏิบัติงาน”

Advertisement

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับรูปแบบการปฏิบัติงาน แบ่งเป็น 3 รูปแบบคือ รูปแบบที่ 1 การปฏิบัติงานในที่ตั้งโดยการเหลื่อมเวลาทำงาน เช่นกำหนดช่วงเวลาการเข้างานและเลิกงานเป็น 4 ช่วง ตั้งแต่ 07.30-15.30น., 08.00-16.00 น., 08.30-16.30น. และ09.30-17.30 น. รูปแบบที่ 2 การปฏิบัติงานในที่ตั้งโดยการนับชั่วโมงการทำงาน เช่น กำหนดให้สามารถเลือกเวลาเข้างานได้ตามความเหมาะสมกับรูปแบบการดำรงชีวิต โดยไม่กระทบต่อประสิทธิภาพการทำงาน โดยเมื่อนับเวลาปฏิบัติงานรวมกันแล้วต้องไม่น้อยกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และรูปแบบที่3 การปฏิบัติงานนอกที่ตั้ง โดยกำหนดให้สอดคล้องกับร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการปฏิบัติงานนอกที่ตั้งของส่วนราชการ พ.ศ. …. ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอครม.ตรวจพิจารณาแล้วเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2565

“ทั้งนี้การกำหนดรูปแบบการปฏิบัติงานอ้างอิงจากประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง การกำหนดเวลาทำงานและวันหยุดราชการ(ฉบับที่ 12 ) พ.ศ. 2502 ซึ่งกำหนดไว้ดังนี้คือ เวลาทำงานเริ่มตั้งแต่ 08.30-16.30 น. หยุดกลางวัน 12.00-13.00 น. รวมระยะเวลาทำงาน 8 ชั่วโมง วันหยุดราชการประจำสัปดาห์คือวันเสาร์และอาทิตย์ หากส่วนราชการใดจะกำหนดวันและเวลาในการทำงานเพื่อความสะดวกสามารถทำได้แต่เมื่อคำนวณแล้วแล้วต้องไม่น้อยกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image