‘จาตุรนต์’ ชี้มรดกรัฐประหาร 57 ต้นเหตุ สู่มติ กสทช.หนุนควบรวม ย้ำทุนใหญ่หมายกุมทุกอย่าง

‘จาตุรนต์’ ชี้มรดกรัฐประหาร 57 ต้นเหตุ สู่มติ กสทช.หนุนควบรวม ย้ำทุนใหญ่หมายกุมทุกอย่าง

อดีตรองนายกฯ ชี้มติ กสทช. หนุนควบรวมกิจการโทรคมนาคม มรดกอิทธิพลระบอบเผด็จการ คสช. ใช้อำนาจเอื้อประโยชน์ไม่คำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ ย้ำทุนใหญ่หมายควบคุมทุกอย่าง ซ้ำเติมระบบเศรษฐกิจยิ่งแย่หนัก

เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2565 นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อท่าทีของที่ประชุม กสทช.มีมติ 3 ต่อ 2 เสียง รับทราบการควบรวมกิจการระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) หรือทรู และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค แบบมีเงื่อนไข โดยมีการกำหนดมาตรการเยียวยาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ท่ามกลางเสียงต่อต้านคัดค้านขององค์กรประชาสังคม ที่กังวลถึงจุดมุ่งหมายการควบรวมเพื่อมุ่งเพิ่มอำนาจเหนือตลาดมากกว่าผลประโยชน์ของผู้บริโภคว่า

การที่ กสทช.อนุญาตให้สองบริษัทยักษ์ใหญ่ควบรวมกันได้ครั้งนี้จะเป็นผลเสียต่อผู้บริโภคทุกคนและเป็นผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมอย่างร้ายแรงด้วย การอนุญาตครั้งนี้เป็นการกระทำที่ตรงข้ามกับหน้าที่ขององค์กรนี้ซึ่งควรจะคอยดูแลให้เกิดการกระจายและการแข่งขันในกิจการที่เกี่ยวกับคลื่นความถี่ แต่ กสทช.กลับสนับสนุนให้เกิดการผูกขาดเสียเอง

เมื่อสองบริษัทควบรวมเข้าด้วยกันก็ย่อมนำไปสู่การผูกขาดทำให้เกิดอำนาจเหนือตลาด สามารถกำหนดราคาและกำไรโดยไม่ต้องแข่งขันเท่าเดิม ผู้ประกอบการโทรคมนาคมรายอื่นจะเสียเปรียบและรายใหม่จะไม่อาจเกิดขึ้นได้ จะกลายเป็นการผูกขาดอย่างถาวร เมื่อธุรกิจนี้เกี่ยวของโดยตรงต่อทุกภาคส่วนและประชาชนทุกคน ผู้ที่เดือดร้อนก็คือประชาชนทั้งประเทศนั่นเอง

Advertisement

นอกจากนี้เนื่องจากบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการโทรคมนาคมบางรายเป็นเจ้าของธุรกิจอื่นๆ อีกมากมายแบบครบวงจร อย่างที่เรียกกันว่าไม้จิ้มฟันยันเรือรบ ตั้งแต่เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดไปจนถึงค้าปลีกมากที่สุด ปัญหาที่จะตามมาก็คือมีความเป็นไปได้ที่จะมีการใช้อำนาจผูกขาดทางสื่อเป็นความได้เปรียบในการลดต้นทุนการโฆษณาให้กับกิจการของตนเอง ในขณะที่ผู้ค้ารายอื่นอื่นต้องเสียค่าโฆษณาที่แพงกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้ สภาพเช่นนี้จะยิ่งทำให้การผูกขาดในระบบเศรษฐกิจของไทยยิ่งเลวร้ายลงไปอีก

การที่ กสทช.สนับสนุนการผูกขาดไม่รักษาผลประโยชน์ของประชาชนในครั้งนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับลักษณะและบทบาทขององค์กรที่ผิดเพี้ยนไปจนแตกต่างจากแนวความคิดดั้งเดิมในการจัดตั้งองค์กรมาจัดสรรคลื่นความถี่ซึ่งเกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญปี 40 ที่ได้ระบุว่า คลื่นความถี่ถือเป็น ทรัพยากรสาธารณะ เป็นสมบัติที่ต้องจัดสรรเพื่อใช้ร่วมกันระหว่างรัฐ เอกชน และกิจการเพื่อสาธารณะประโยชน์ เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุด

จากแนวความคิดนี้ทำให้มีการยกเลิกการผูกขาดกิจการโทรศัพท์และมีการส่งเสริมให้มีวิทยุชุมชนอย่างกว้างขวาง แต่ที่ยังทำไม่ได้คือการลดสถานีวิทยุของทหารมาแบ่งให้เอกชนหรือภาคประชาสังคม แต่ทุกครั้งที่มีการรัฐประหารวิทยุชุมชนก็ถูกจำกัดลงไป

ส่วน กสทช.มีที่มาจากรัฐธรรมนูญปี 50 ทำให้มีกฎหมายจัดตั้งองค์กรขึ้นมา แต่บทบาทก็เพี้ยนไปคือแทนที่จะดูแลการกระจายคลื่นความถี่กลายมาเป็นคุณพ่อรู้ดีกำหนดว่าเนื้อหาอะไรเผยแพร่ได้หรือไม่ได้และ กสทช.กลับมาเป็นผู้ผลิตสื่อเสียเองในรูปโครงการต่างๆ

แต่ที่ทำให้ลักษณะและบทบาทของ กสทช.เปลี่ยนไปมากที่สุดคือการรัฐประหารปี 2557 ที่ คสช.เข้าครอบงำองค์กรนี้อย่างสมบูรณ์ทั้งในการต่ออายุและการแต่งตั้งกรรมการ การออกคำสั่งที่ลิดรอนเสรีภาพของประชาชนมาให้ กสทช.มีหน้าที่เป็นเครื่องมือปิดปากสื่อมวลชนและประชาชน ที่สำคัญ กสทช.ที่ถูกครอบงำโดย คสช.นี้ยังเป็นผู้ให้คุณให้โทษธุรกิจที่มีผลประโยชน์มหาศาล เช่น เป็นผู้ตัดสินชี้ขาดการประมูลและการช่วยเหลือบริษัทที่ขาดทุนเป็นหมื่นๆ ล้านได้ตามอำเภอใจ ไม่นับว่า คสช.สามารถเอาเงินของ กสทช.ที่ควรใช้เป็นประโยชน์ในด้านสื่อไปใช้เป็นงบกลางก็ได้ด้วย

จนกระทั่ง การลงมติการควบรวมล่าสุดนี้ ได้แสดงถึงการไม่ปกป้องผลประโยชน์ต่อผู้บริโภคและสร้างภาวะผูกขาดคู่ในตลาดโทรคมนาคม ตามความเห็นของกรรมการเสียงข้างน้อยท่านหนึ่ง การรวมธุรกิจมีโอกาสนำไปสู่การผูกขาดและกีดกันการแข่งขัน ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 40, 60, 61 และ 75 และขัดต่อแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 2 ที่ต้องเพิ่มระดับการแข่งขันของการประกอบกิจการโทรคมนาคม ทำให้ตลาดโทรคมนาคมตอนนี้ อยู่ในมือของผู้ประกอบการรายใหญ่ไม่กี่แห่ง และอาจปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหม่ เกิดการแข่งขันที่ไม่เท่าเทียมขึ้นได้

แม้เมื่อไม่มี คสช.แล้ว แต่การสรรหาและรับรอง กสทช.ก็ทำโดยวุฒิสภาซึ่งมาจากการแต่งตั้งของหัวหน้า คสช. กสทช.จึงไม่ใช่องค์กรอิสระแต่เป็นองค์กรที่ถูกครอบงำอย่างต่อเนื่องของระบอบเผด็จการที่มาจากการรัฐประหารมาหลายปีแล้ว จึงไม่แปลกเลยที่ กสทช.จะสนับสนุนการผูกขาด ไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนและลืมไปหมดแล้วว่าองค์กรนี้มีขึ้นมาเพื่ออะไรและมีไว้ทำไม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image